Sanook คลุกข่าวเช้า 7 ก.ค. 63 คิวชูเตือนภัยสูงสุดหลังน้ำท่วมหนัก - หมอยงชี้ตุนพลาสมารับโควิดระลอกสอง

Sanook คลุกข่าวเช้า 7 ก.ค. 63 คิวชูเตือนภัยสูงสุดหลังน้ำท่วมหนัก - หมอยงชี้ตุนพลาสมารับโควิดระลอกสอง

Sanook คลุกข่าวเช้า 7 ก.ค. 63 คิวชูเตือนภัยสูงสุดหลังน้ำท่วมหนัก - หมอยงชี้ตุนพลาสมารับโควิดระลอกสอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สวัสดีค่ะ พบกันอีกครั้งกับ Sanook คลุกข่าวเช้า ประจำวันอังคารที่ 7 กรกฎาคม 2563 กับการรายงานข่าวที่น่าติดตามให้คุณได้รับฟังกันแบบสบายๆ ด้วยฟังก์ชั่น Text to Speech ที่ระบบ AI ของเราจะอ่านข่าวให้คุณฟังทันที เพียงมองหาสัญลักษณ์รูปลำโพงสีเขียวด้านบน กดปุ่ม แล้วก็ฟังข่าวที่น่าสนใจจากเราได้เลย

เริ่มกันที่ข่าวแรก สถานการณ์ฝนตกหนักและอุทกภัยทางภูมิภาคคิวชูของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในจังหวัดคุมาโมโตะ คาโกชิมะ และมิยาซากิ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม ส่งผลให้แม่น้ำคุมะ ในจังหวัดคุมาโมโตะ เอ่อล้นตลิ่ง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มในหลายพื้นที่ เส้นทางรถไฟและรถประจำทางหลายเส้นทางต้องหยุดวิ่งชั่วคราว จนกระทั่งกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ต้องประกาศเตือนภัยระดับสูงสุด พร้อมทั้งขอให้ประชาชนประมาณ 254,000 คนจาก 117,000 ครัวเรือน อพยพไปยังที่ปลอดภัย และทางการได้ส่งกองกำลังป้องกันตนเองเข้าไปช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและค้นหาผู้สูญหาย นอกจากนี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทางการญี่ปุ่นก็ยังเน้นย้ำเรื่องมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาในสถานที่อพยพด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ในพื้นที่เมืองคุมาโมโตะตอนใต้จะเริ่มดีขึ้น แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าฝนจะตกหนักไล่ไปทางตอนเหนือของภูมิภาคคิวชู ทำให้กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้มีประกาศเพิ่มระดับการเตือนภัยระดับสูงสุด ในพื้นที่คิวชูตอนเหนือ จังหวัดนางาซากิ ซากะ และฟุกุโอกะเพิ่มเติมแล้ว สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิต มีการยืนยันแล้วอย่างน้อย 44 ราย สูญหาย 10 ราย

ต่อกันที่ข่าวที่สอง นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำให้มีการเตรียมพลาสมาสำรองไว้ สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในกรณีที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่สอง

นพ.ยง กล่าวว่า เนื่องจากโรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มียารักษาเฉพาะ จึงต้องนำยาที่มีอยู่เดิมมาใช้รักษาตามอาการ ขณะเดียวกัน ก็มีการศึกษาพลาสมาในเลือดของผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคโควิด-19 แล้วพบว่ามีภูมิคุ้มกันที่ต้านทานโรคโควิด-19 ดังนั้น การใช้พลาสมาจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งในการรักษาโรคโควิด-19 และในขณะนี้ มีอาสาสมัครที่บริจาคพลาสมาแล้วกว่า 150 คน ทำให้ได้พลาสมาที่มีภูมิต้านทานสูงมากกว่า 250 ถุง และสามารถเก็บสำรองไว้ใช้ได้นาน 1 ปี หากในอนาคตมีผู้มาบริจาคพลาสมาเป็นจำนวนมาก ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสามารถนำพลาสมามาผลิตดังกล่าวเป็นเซรุ่ม ซึ่งจะเก็บรักษาไว้ได้นานมากขึ้น

มาที่ประเด็นทางสังคมกันบ้าง สำหรับประเด็นเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ที่ล่าสุด แฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ได้ติดอันดับแฮชแท็กยอดนิยมของเทรนด์ทวิตเตอร์ไทย หลังจากที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดรับความคิดเห็นในส่วนของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. … ซึ่งเสนอโดยธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล และคณะ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 หลักทั่วไป บรรพ 5 ครอบครัวและบรรพ 6 มรดก โดยได้ขอแก้ไขถ้อยคำในหลายมาตราที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า สามีและภรรยาเป็นคู่สมรส และเสนอกำหนดคำศัพท์ขึ้นใหม่เป็น ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น แทนคำว่า ชายและหญิง

สาระสำคัญในหลักการของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้คือ การเสนอขอแก้ไขเพื่อให้บุคคลธรรมดาทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ สามารถทำการหมั้นและสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อบุคคลธรรมดาได้หมั้นหรือสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ก็ให้มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องต่างๆ

สำหรับการสมรส ให้บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศซึ่งมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ สามารถสมรสกันได้ หรือหากมีเหตุอันสมควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ สำหรับเงื่อนไขการสมรสยังคงหลักการเดิม แต่มีการปรับถ้อยคำจากคำว่า ชายหรือหญิง เป็นบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสมรสระหว่างบุคคล

ก็น่าจะครบถ้วนแล้วสำหรับประเด็นที่น่าสนใจของวันนี้ แล้วมาติดตามข่าวเด็ดๆ ร้อนๆ กันได้ใหม่ในวันพรุ่งนี้ สวัสดีค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook