เดินสนามหลวงทิ้งไม่เลือกที่จับแน่1กย.
รองผู้ว่าฯ กทม.ตรวจความพร้อมสนามหลวง ก่อนใช้มาตรการ ทิ้ง จับ ปรับ วันแรกพรุ่งนี้(1ก.ย.) เผยใช้วิธีประจานให้อาย
เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 31 ส.ค. นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินสำรวจพื้นที่ท้องสนามหลวง ก่อนที่ กทม.จะดำเนินการนโยบายตักเตือนและใช้มาตรการ " ทิ้ง-จับ-ปรับ " มาใช้ตามลำดับในวันที่ 1 ก.ย.นี้
นายธีระชน กล่าวว่า กทม.จะเริ่มดำเนินการนโยบาย " ทิ้ง-จับ-ปรับ " ในวันที่ 1 ก.ย.นี้เป็นต้นไป แต่เบื้องต้นจะใช้วิธีตักเตือนก่อนเป็นเวลา 30 วัน จากนั้นจึงจะเริ่มปรับจริงในวันที่ 1 ต.ค. เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักและรับรู้ถึงมาตรการรักษาความสะอาดเพื่อความเป็น ระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยจะจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ ร่วมกับตำรวจกับ สน.ในพื้นที่ ได้แก่ ชนะสงคราม สำราญราษฎร์ และพระราชวัง ดูแลพื้นที่โดยรอบสนามหลวงและริมคลองหลอดกว่า 900 นาย
นอกจากนี้จะขยายผลการ ทิ้ง-จับ-ปรับ ให้ครอบคลุมทั้ง 50 เขต โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชุมชน ซึ่งในแต่ละเขตจะใช้เจ้าหน้าที่เทศกิจประจำอยู่อย่างน้อยเขตละ 2 จุด ทั้งนี้หลังจากเริ่มปรับจริงแล้ว กทม.อาจจะนำวิธีใช้โทรโข่งประจานให้อาย ซึ่งเคยดำเนินการในสมัยนายพิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯกทม. มาใช้สำหรับประชาชนที่ทิ้งขยะไม่เป็นที่ โดยมีอัตราค่าปรับตั้งแต่ 100 - 1000 บาท
ส่วนของการจัดระเบียบคนเร่ร่อนและหาบเร่แผงลอยนั้น กทม.ได้ประสานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) และกระทรวงแรงงาน โดยมีแผนจะหาทางออกให้กับคนเร่รอนที่ไม่มีที่พักให้บางส่วนศูนย์ประชาบดีของ พม.จะรับไว้ดูแลฝึกอาชีพ และอีกส่วนจะขอร้องให้กลับภูมิลำเนา นอกจากนั้นแล้วในส่วนของกระทรวงแรงงาน และ กทม. ก็มีศูนย์ฝึกอบรมและโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.จะช่วยดำเนินการฝึกอาชีพให้
"ยืนยันว่าการดำเนินการกับคนเร่ร่อนไม่ได้ทำเกินไป เพราะเราจะอะลุ้มอล่วย แบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งตนเชื่อว่าหากคนเร่ร่อนไปที่ศูนย์ประชาบดีหรือบ้านร่วมใจแล้วน่าจะมี คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า " นายธีระชน กล่าว
รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวด้วยว่า สำหรับแผนในปีหน้านั้น มีความเป็นไปได้ที่ กทม. จะดำเนินการย้ายผู้ค้าดอกไม้ที่ปากคลองตลาด มาขายที่สนามหลวงแทน โดยนำรูปแบบมาจากตลาดดอกไม้ประเทศเนเธอแลนด์เป็นต้นแบบ เพื่อลดการจราจรในพื้นที่บริเวณปากคลองตลาดด้วย ทั้งนี้โดยส่วนตัวยอมรับว่าการจัดระเบียบสนามหลวงค่อน ข้างเป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากมีกลุ่มผู้มีอิทธิพลตั้งตนดูแลผลประโยชน์ในพื้นที่ ดังนั้นเบื้องต้น กทม.จึงจะดำเนินการในเรื่องจัดระเบียบคนเร่ร่อนก่อน ส่วนการจัดการกับผู้มีอิทธิพลนั้นคงต้องให้หน่วยงานทางการสอบสวนเข้ามาตรวจ สอบ
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้คณะผู้บริหารกทม. ได้ทราบข้อมูลกลุ่มผู้มีอิทธิพลภายในพื้นที่ท้องสนามหลวงแล้ว โดยมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกันเรียกรับผลประโยชน์ด้วย ทั้งนี้ความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ กทม. เริ่มมีปัญหาอย่างมากในสมัยนายสมัคร สุนทรเวช และสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม. ที่มอบหมายให้นายวัลลภ สุวรรณดี อดีตรองผู้ว่าฯกทม. ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งมีการตั้งคนใกล้ชิดเข้ามาดูพื้นที่สนามหลวง