UN คาด “โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน” อาจเพิ่มขึ้น เหตุธรรมชาติถูกทำลาย
รายงานชิ้นใหม่ของสหประชาชาติ (United Nations หรือ UN) เตือนว่า อัตราการเกิดโรคติดต่อที่แพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน เช่น โรคโควิด-19 จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ถูกทำลาย การค้าสัตว์ป่า การทำเกษตรด้วยระบบที่ไม่ยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดย “เชื้อก่อโรค” หรือที่รู้จักกันว่าเป็นโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน รวมทั้งโรคอีโบลา โรคเมอร์ส โรคเอดส์ และโรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ มีอัตราการแพร่ระบาดที่เพิ่มมากขึ้น เพราะมนุษย์รุกล้ำที่อยู่อาศัยของสัตว์
“งานศึกษาทางวิทยาศาสตร์ระบุชัดเจนว่าถ้าเรายังหาประโยชน์จากสัตว์ป่า และทำลายระบบนิเวศของเราต่อไป ก็คาดการณ์ได้เลยว่าโรคติดต่อที่ระบาดจากสัตว์สู่คนจะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต” Inger Andersen ผู้อำนวยการ UNEP กล่าว พร้อมชี้ว่าการศึกษาวิจัยเรื่องโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนจะทำให้โลกรู้จักหาทางป้องกัน และจะไม่เกิดการล็อกดาวน์ทั่วโลกเหมือนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ รายงานชิ้นนี้ยังได้แนะนำให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ใช้วิธีการ “One Health” หรือการร่วมมือของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สัตวแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อหาทางรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน
“เรามองย้อนกลับไปถึงการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ช่วงปี 1918 – 1919 แล้วก็คิดว่าโรคระบาดแบบนั้นคงจะเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวในช่วงเวลา 100 ปี แต่มันไม่จริงอีกต่อไป หากเราไม่ฟื้นฟูความสมดุลระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ การระบาดของโรคก็จะเพิ่มสูงขึ้น” Maarten Kapplle หัวหน้าฝ่ายประเมินผลวิทยาศาสตร์ แห่ง UNEP ชี้
ความต้องการบริโภคเนื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้น 26 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ปัญหาทางธรรมชาติมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ขณะที่สัตว์บางชนิด เช่น หนู ค้างคาว สัตว์กินเนื้อ และสัตว์จำพวกลิง มีเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนมากที่สุด และปศุสัตว์ก็เปรียบเสมือนทางผ่านของเชื้อโรคในสัตว์ที่จะเข้าสู่มนุษย์ต่อไป
ยิ่งไปกว่านั้น โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่เกี่ยวข้องกับปศุสัตว์ที่เกิดในประเทศยากจน ส่งผลให้มีคนเสียชีวิตมากกว่า 2 ล้านคนต่อปี อย่างไรก็ตาม ทวีปแอฟริกา ซึ่งสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคอีโบล่าได้ ก็อาจจะกลายเป็นสถานที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนในอนาคตก็เป็นได้
“เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ทุกประเทศควรดูแลสัตว์ป่า สนับสนุนการเกษตรแบบยั่งยืน สร้างมาตรฐานอาหารปลอดภัย สอดส่องดูแลตลาด ลงทุนกับเทคโนโลยีที่จะช่วยตรวจสอบความเสี่ยง และหยุดยั้งการค้าสัตว์ป่า” Antonio Guterres เลขาธิการ UN กล่าวปิดท้าย