เปิดประวัติ สองวีรสตรี "ย่าโม-นางสาวบุญเหลือ" หนังคนละม้วนกับ "ช่องส่องผี"

เปิดประวัติ สองวีรสตรี "ย่าโม-นางสาวบุญเหลือ" หนังคนละม้วนกับ "ช่องส่องผี"

เปิดประวัติ สองวีรสตรี "ย่าโม-นางสาวบุญเหลือ" หนังคนละม้วนกับ "ช่องส่องผี"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศึกษาประวัติ “ท้าวสุรนารี” วีรสตรี หัวใจของชาวนครราชสีมา และปูมหลัง “นางสาวบุญเหลือ” ผู้เคียงข้างยามสู้ศึก หญิงใจเพชร ยอมสละชีพเพื่อแผ่นดินโคราช

ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในสังคมคงหนีไม่พ้น กรณีดราม่ารายการ “ช่องส่องผี” ที่เริ่มประเด็นมาจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อดัง “แหม่มโพธิ์ดำ” ได้ตั้งข้อสงสัยในเรื่องเงินบริจาค และเนื้อหาของรายการที่มีการพูดถึงประวัติศาสตร์ในแง่มุมที่แตกต่างจากการรับรู้ของคนทั่วไป จากพิธีกรหลักอีกคน คือ น.ส.สุระประภา คำขจร หรือ อ.เรนนี่ อ้างว่ามองเห็นสิ่งลี้ลับ และผูกโยงกับประวัติศาสตร์

ต่อมาทางรายการ โดยหัวเรือใหญ่ “บ๊วย เชษฐวุฒิ วัชรคุณ” ได้ออกมาแถลงข้อเท็จจริง เคลียร์ประเด็นการรับบริจาค โดยโชว์หลักฐาน Statement การรับบริจาคเป็นเอกสารจำนวนมาก ส่วนเรื่องเนื้อหาของรายการนั้น บ๊วยระบุว่า เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ที่ต้องใช้วิจารณญาณ และหากไม่เชื่อก็ไม่ต้องรับชม 

ปมดราม่า เหยียบหัวใจชาวโคราช

อย่างไรก็ตาม แม้จะแสดงพิสูจน์ให้เห็นถึงความโปร่งใสได้กับเรื่องของเงินบริจาค แต่ดราม่าในส่วนของการบิดเบือนประวัติศาสตร์กลับร้อนแรงขึ้นมา เมื่อมีการหยิบยกประเด็นที่รายการ “ช่องส่องผี” ได้เดินทางมาบันทึกเทปรายการที่วัดศาลาลอย อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา วัดที่บรรจุอัฐิของท้าวสุรนารี หรือ ย่าโม เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2563

โดยช่วงไฮไลต์ของรายการ ขณะที่อยู่บริเวณหน้าอุโบสถเก่า ที่มีรูปปั้นของพระยาปลัดทองคำ เจ้าเมืองนครราชสีมา สามีของท้าวสุรนารี อ.เจนนี่ ใช้สัมผัสพิเศษของเธอ บอกว่าตนเองมีจิตสัมผัสต่อสิ่งลี้ลับเมื่อมายืนอยู่ตรงนี้ และ ท่านปลัดทองคำ ย่าโม รวมทั้งนางสาวบุญเหลือ ก็มาอยู่ตรงนี้ด้วยกัน

และ อ.เรนนี่ ยังบอกอีกว่า ท่านปลัดทองคำ บอกว่าแม่บุญเหลือเป็นเมียของท่านอีกคน ย่าโมนั้นเป็นเมียหลัก แม่บุญเหลือเป็นเมียสอง ไม่ใช่ลูกสาวบุญธรรม และแม่บุญเหลือกับเธอว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ โดยแม่บุญเหลือก็อยู่ที่นี่ด้วย อยู่ตรงก้านธูป ด้านหลังปลัดทองคำ

ซึ่งหลังจากเทปรายการออกอากาศไปแล้ว ได้กระแสวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพี่น้องจังหวัดนครราชสีมา ที่รับไม่ได้กับเรื่องดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นการดูหมิ่น ไม่ให้เกียรติกับย่าโมและย่าบุญเหลือ จนชาวโคราชเตรียมรวมตัวกันเพื่อแจ้งความเอาผิดกับเรื่องดังกล่าว

ประวัติ “ท้าวสุรนารี” วีรสตรี หัวใจของชาวโคราช

ทั้งนี้ หากดูข้อมูลตามประวัติศาสตร์นั้น ในส่วนของท้าวสุรนารี หรือคุณหญิงโม ปัจจุบันนิยมเรียกว่า ย่าโม เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ไทยในฐานะวีรสตรีมีส่วนกอบกู้เมืองนครราชสีมาจากกองทัพเจ้าอนุวงศ์ พระมหากษัตริย์เวียงจันทน์ เมื่อปี พ.ศ.2369 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ท้าวสุรนารี มีนามเดิมว่า "โม" เป็นชาวเมืองนครราชสีมาโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2314 เป็นธิดาของนายกิ่มและนางบุญมา มี เมื่ออายุได้ 25 ปี ได้แต่งงานสมรสกับนายทองคำขาว พนักงานกรมการเมืองนครราชสีมา ต่อมานายทองคำขาว ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระภักดีสุริยเดช" ตำแหน่งรองปลัดเมืองนครราชสีมา นางโม จึงได้เป็น คุณนายโม

และต่อมา "พระภักดีสุริยเดช" ได้เลื่อนเป็น "พระยาสุริยเดช" ตำแหน่งปลัดเมืองนครราชสีมา คุณนายโมจึงได้เป็น คุณหญิงโม ชาวเมืองนครราชสีมาเรียกท่านทั้งสองเป็นสามัญว่า "คุณหญิงโม" และ "พระยาปลัดทองคำ" ท่านเป็นหมันไม่มีทายาทสืบสายโลหิต ชาวเมืองนครราชสีมาทั้งหลายจึงพากันเรียกแทนตัวคุณหญิงโมว่า "แม่" มีผู้มาฝากตัวเป็นลูกหลานกับคุณหญิงโมอยู่มาก ซึ่งเป็นกำลังและอำนาจส่งเสริมคุณหญิงโมให้ทำการใดๆ ได้สำเร็จเสมอ

วีรกรรมของท้าวสุรนารีนั้น สืบเนื่องจากเมื่อพุทธศักราช 2369 ครั้งเจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ ได้ยกกองทัพเข้าแผ่นดินไทย จนถึงเมืองนครราชสีมา โดยอ้างว่ามีพระราชโองการให้ยกทัพไปกรุงเทพ เพื่อช่วยรบกับอังกฤษ และเนื่องจากในขณะนั้น เจ้าเมืองนครราชสีมา และพระยาปลัดเมืองไม่อยู่ ไปราชการเมืองขุขันธ์ เจ้าอนุวงศ์จึงยกทัพ เข้ายึดเมืองนคราชสีมาได้โดยง่าย แล้วกวาดต้อนผู้คนชาวนครราชสีมาเป็นเชลยขึ้นไปยังเวียงจันทน์ ในจำนวนเชลยเหล่านั้นมีคุณหญิงโม และนางสาวบุญเหลือ ที่เป็นเสมือนบุตรบุญธรรมรวมอยู่ด้วย

ระหว่างที่กองทัพเจ้าอนุวงศ์ และทหารลาว หยุดพักค้างแรมระหว่างเดินทางไปเวียงจันทน์ ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2369 คุณหญิงโม ร่วมกับนางสาวบุญเหลือ และหลวงณรงค์สงคราม หัวหน้าชาวเมือง ได้ใช้กลอุบาย โดยให้ชาวเมืองเลี้ยงสุราอาหารแก่ทหารลาวที่ควบคุมตัวมา เมื่อทหารเจ้าอนุวงศ์หลงกลกินเหล้าเมายาจนขาดสติเกือบหมดกองทัพ เมื่อได้โอกาสอันเหมาะสมแล้ว กำลังชาวโคราชที่ทุ่งสัมฤทธิ์ทั้งชาย และหญิง ก็แย่งอาวุธโจมตีเข่นฆ่าทหารลาวจนล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้แผนกอบกู้อิสรภาพของนครราชสีมาสำเร็จ

เมื่อความทราบไปถึง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโม ขึ้นเป็น ท้าวสุรนารี เมื่อ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2370 เมื่อคุณหญิงโมมีอายุได้ 57 ปี

ตามประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า ท้าวสุรนารีเป็นคนมีสติปัญญาหลักแหลม เล่นหมากรุกเก่ง มีความชำนาญในการขี่ช้าง ขี่ม้า มีม้าตัวโปรดสีดำ และมักจะพาลูกหลานไปทำบุญที่วัดสระแก้วเป็นประจำเสมอ ท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2395 สิริรวมอายุได้ 81 ปี

ด้วยสำนึกในวีรกรรมและความเสียสละของท้าวสุรนานรี ประชาชนชาวนครราชสีมาได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีด้วยสัมฤทธิ์ ซึ่งทางกรมศิลปากรได้มอบให้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกับ พระเทวาภินิมมิตร (ฉาย เทียมศิลปไชย)

พร้อมทั้งได้อัญเชิญอัฐิของท่านนำมาบรรจุไว้ที่ฐานรองรับ และประดิษฐานไว้ ณ ที่หน้าประตูชุมพล อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำ สูง 1.85 เมตร หนัก 325 กิโลกรัม ตั้งอยู่บนฐานไพที สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองซึ่งบรรจุอัฐิของท่าน แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทาน ในท่ายืน มือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตก

นับเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนสตรี คนแรกของประเทศ เริ่มก่อสร้างในปี 2476 แล้วเสร็จ และ มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2477 ที่ปัจจุบันเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของจังหวัดนครราชสีมา เป็นที่เคารพสักการะและยึดเหนี่ยวจิตใจชาวโคราช

ปูมหลัง “นางสาวบุญเหลือ” วีรสตรีผู้เคียงข้างคุณหญิงโม ยอมสละชีพเพื่อแผ่นดินโคราช

สำหรับนางสาวบุญเหลือ หรือ ย่าเหลือ คือบุคคลในประวัติศาสตร์ไทย ได้รับการยกย่องในฐานะวีรสตรี ที่มีส่วนสำคัญในการกอบกู้เมืองนครราชสีมาร่วมกับท้าวสุรนารี จากการเข้ายึดตีเมือง ของกองทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ ปี พ.ศ. 2369 ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

นางสาวบุญเหลือ เป็นบุตรีของ หลวงเจริญ กรมการผู้น้อยแห่งเมืองนครราชสีมา ครอบครัวของหลวงเจริญ มีความใกล้ชิดสนิทสนม และเคารพนับถือ พระยาปลัดเมืองนครราชสีมา และคุณหญิงโม เป็นอันมาก อีกทั้งพระยาปลัดเมือง และคุณหญิงโม ไม่มีบุตรและธิดา จึงรักและเอ็นดูนางสาวบุญเหลือดุจว่าเป็นลูกหลานแท้ๆ

ส่วนวีกรรมอันเป็นที่ยกย่องนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2369 ครั้งเจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ ได้ยกกองทัพเข้าแผ่นดินไทย จนถึงเมืองนครราชสีมา โดยอ้างว่ามีพระราชโองการให้ยกทัพไปกรุงเทพ เพื่อช่วยรบกับอังกฤษ และเนื่องจากในขณะนั้น เจ้าเมืองนครราชสีมา และพระยาปลัดเมืองไม่อยู่ ไปราชการเมืองขุขันธ์ เจ้าอนุวงศ์จึงยกทัพ เข้ายึดเมืองนคราชสีมาได้โดยง่าย แล้วกวาดต้อนผู้คนชาวนครราชสีมาเป็นเชลยขึ้นไปยังเวียงจันทน์ ในจำนวนเชลยเหล่านั้น มีคุณหญิงโม และนางสาวบุญเหลือรวมอยู่ด้วย

ระหว่างที่กองทัพเจ้าอนุวงศ์ และทหารลาว หยุดพักค้างแรมระหว่างเดินทางไปเวียงจันทน์ ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2369 คุณหญิงโม ร่วมกับนางสาวบุญเหลือ และหลวงณรงค์สงคราม หัวหน้าชาวเมือง ได้ใช้กลอุบาย โดยให้ชาวเมืองเลี้ยงสุราอาหารแก่ทหารลาวที่ควบคุมตัวมา เมื่อทหารเจ้าอนุวงศ์หลงกลกินเหล้าเมายาจนขาดสติเกือบหมดกองทัพ เมื่อได้โอกาสอันเหมาะสมแล้ว กำลังชาวโคราชที่ทุ่งสัมฤทธิ์ทั้งชาย และหญิง ก็แย่งอาวุธโจมตีเข่นฆ่าทหารลาวจนล้มตายเป็นจำนวนมาก ทำให้แผนกอบกู้อิสรภาพของนครราชสีมาสำเร็จ

และในเหตุการณ์ครั้งนั้น นางสาวบุญเหลือได้เสียสละพลีชีพด้วยการนำไม้ฟืนจากกองไฟ วิ่งหลอกล่อทหาร ตรงไปยังกองเกวียน กระสุนดินประสิวของกองทัพทหารลาว จนเกิดการระเบิด แสงเพลิงแดงฉานไปทั่วท้องทุ่งสัมฤทธิ์ ด้วยการตัดสินใจด้วยปฏิภาณอันห้าวหาญ เด็ดเดี่ยวในวีรกรรมครั้งนี้ ของนางสาวบุญเหลือ ยังคงประทับแน่นอยู่ในความทรงจำ ของลูกหลานชาวนครราชสีมา

โดยทางจังหวัดนครราชสีมาได้กำหนดให้วันที่ 4 มีนาคมของทุกปีเป็นวันไทยอาสาป้องกันชาติ และวันสดุดีวีรกรรมของนางสาวบุญเหลือ มีการวางพวงมาลา ณ อนุสรณ์สถานนางสาวบุญเหลือเป็นประจำทุกปี ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์ ตำบลโคกสูง อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมา 12.5 กิโลเมตร นับเป็นอนุสรณ์สถานอีกแห่งหนึ่ง ที่ชาวนครราชสีมา ให้ความเคารพสักการะเป็นอย่างสูง

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ เปิดประวัติ สองวีรสตรี "ย่าโม-นางสาวบุญเหลือ" หนังคนละม้วนกับ "ช่องส่องผี"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook