7รัฐวิสาหกิจเฮได้ค่าครองชีพคนละ2พัน

7รัฐวิสาหกิจเฮได้ค่าครองชีพคนละ2พัน

7รัฐวิสาหกิจเฮได้ค่าครองชีพคนละ2พัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ไฟเขียวจ่ายค่าครองชีพ 7 รัฐวิสาหกิจ ให้พนักงานเงินเดือนต่ำกว่า 1.5 หมื่น เดือนละ 2,000 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ใช้งบรวม 782 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) ว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับขึ้นค่าครองชีพชั่วคราวแก่รัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทร.)

ทั้งนี้ให้ปรับเพิ่มค่าครองชีพให้แก่พนักงานที่มีอัตราเงินเดือนไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ให้ได้รับอัตราเงินค่าครองชีพเดือนละ 2,000 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยให้ใช้เงินจากงบประมาณรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ตามมาตรา 13 (2) ของพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ซึ่งการเพิ่มเงินค่าครองชีพของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง จะต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 782 ล้านบาท โดยมี กฟผ.เป็นหน่วยงานที่มีจำนวนคนได้รับค่าครองชีพมากที่สุด

นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครส.ยังมีมติเห็นชอบให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 57 แห่งที่เหลือ พิจารณาขอเพิ่มเงินค่าครองชีพตามที่คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งเห็นชอบด้วย โดยให้เสนอเข้าที่ประชุม ครส.อนุมัติต่อไป โดยไม่จำเป็นว่ารัฐวิสาหกิจนั้นจะมีผลประกอบการขาดทุนหรือกำไร สามารถเสนอขอเพิ่มค่าครองชีพได้ สำหรับพนักงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 57 แห่ง มีจำนวนเกือบ 6 หมื่นคน หรือคิดเป็นงบประมาณที่ต้องใช้ทั้งสิ้น 1.3 หมื่นล้านบาท

"ที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับเพิ่มค่าครองชีพให้รัฐวิสาหกิจทั้งหมด แต่แนวทางการปฏิบัติในเรื่องสูตรการจ่ายเงินนั้นยังไม่ได้ข้อสรุป โดยยังแบ่งเป็น 2 สูตร คือ จ่าย 1,500 บวกอีก 500 ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม.เดิม หรืออีกสูตรคือจ่าย 1,500 บาท บวกทีเดียวอีก 2,000 บาท รวมเป็น 3,500 บาท เรื่องนี้ยังเป็นปัญหาที่จะส่งให้เลขาธิการ ครม.ตัดสินใจอีกครั้ง" นายไพฑูรย์ กล่าว

นายไพฑูรย์ กล่าวต่อว่า การขึ้นค่าครองชีพของพนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจนั้น ยึดตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของการขึ้นค่าครองชีพ 2,000 บาท ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ที่นำร่องได้เงินค่าครองชีพไปแล้วก่อนหน้านี้คือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการประปานครหลวง

อย่างไรก็ตาม มีก่ารตั้งข้อสังเกตว่าการอนุมัติให้ปรับเพิ่มค่าครองชีพครั้งนี้ไม่จะใช้ปูทางเพื่อเตรียมการเลือกตั้งของรัฐบาลนั้น นายไพฑูรย์ กลาวว่า เป็นการอนุมัติให้ตามที่รัฐวิสาหกิจเสนอมาเท่านั้น และเป็นเรื่องที่ค้างใน ครส.มานานแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook