สธ.ชี้ แรงงานเมียนมาวัย 39 ปี ป่วยโควิด-19 อาจจะติดเชื้อหลังออกจากไทยไปแล้ว

สธ.ชี้ แรงงานเมียนมาวัย 39 ปี ป่วยโควิด-19 อาจจะติดเชื้อหลังออกจากไทยไปแล้ว

สธ.ชี้ แรงงานเมียนมาวัย 39 ปี ป่วยโควิด-19 อาจจะติดเชื้อหลังออกจากไทยไปแล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีการพบผู้ป่วยชายชาวเมียนมา อายุ 39 ปี ซึ่งติดโควิด-19 และเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา โดยทำให้เกิดกระแสข่าวว่า ผู้ป่วยชายดังกล่าวพบว่ามีการติดเชื้อมาจากประเทศไทย จนกลายเป็นประเด็นว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดอยู่ในประเทศไทย หรืออาจเริ่มต้นการแพร่ระบาดในระลอกที่ 2 นั้น

สำหรับเรื่องดังกล่าว นพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนโรค ซึ่งทางกรมควบคุมโรคได้จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็ว โดยพบข้อเท็จจริง ว่า ผู้ป่วยรายนี้ พักอาศัยอยู่ในหอพัก จ.เพชรบุรี และเดินทางมาทำงานยังโรงงานในจ.สมุทรสงคราม โดยได้ลาออกจากงานในโรงงานที่มีการควบคุมทางมาตรการการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด ในวันที่ 10 มิ.ย.63

โดยในระหว่างวันที่ 11-23 มิ.ย.63 นั้น ทีมสอบสวนโรคยังไม่ทราบวันที่แน่นอนว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวได้เดินทางออกจากประเทศไทย ผ่านช่องทางพรมแดน ทางธรรมชาติ เข้าสู่ประเทศเมียนมา เนื่องจากตรวจสอบไม่พบการเดินทางผ่านช่องทางด่านชายแดนที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้ติดตามและเฝ้าระวัง ในบริเวณโรงงาน จ.สมุทรสงคราม และบริเวณพื้นที่โดยรอบของที่พัก ในจ.เพชรบุรี ซึ่งไม่พบการติดเชื้อของประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวแต่อย่างใด

“โดยระยะเวลาการฟักตัวของไวรัสโควิด-19 อยู่ในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ โดยส่วนใหญ่อยู่ในระยะเวลา 1 สัปดาห์ หากดูตามระยะเวลาแล้ว คาดว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวจะออกจากประเทศไทยไปก่อนที่จะติดเชื้อในประเทศเมียนมาก็เป็นได้ โดยจากการสำรวจและสอบถามเพื่อนร่วมงานของผู้ป่วย พบว่าผู้ป่วยเป็นคนค่อนข้างสันโดษ มีโรคความดันโลหิตสูง แต่ไม่โรคประจำตัวอื่น ชอบเก็บตัวอยู่ในที่พัก และไม่ค่อยเดินทางไปไหนนอกจากที่พักและที่ทำงาน ดังนั้นขอให้แน่ใจได้ว่ายังไม่มีรายงานการระบาดจากผู้ป่วยรายนี้ในประเทศไทย” นพ.สุทัศน์กล่าว

ขณะที่มาตรการการป้องกันในพื้นที่ ทั้ง จ.เพชรบุรี และจ.สมุทรสงคราม ยังคงเป็นการคุมเข้มภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ควบคุมดูแลอยู่ เป็นผู้กำหนดมาตรการต่าง ๆ ผ่านกลไกการใช้ สาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลในพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการในส่วนกลางของกรมควบคุมโรค

ด้านเรื่องการเข้าออกของ แรงงานข้ามชาติ รัฐบาลยังคงมีมาตรการคุมเข้ม ยังคงมีด่านกักกันตัว แม้จะมีการเริ่มผ่อนปรนในบางพื้นที่ด่านชายแดน แต่ก็ยังมีมาตรการคุมเข้มอยู่

“สำหรับเรื่องประเด็นที่มีลักลอบเข้ามาของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ในช่องทางธรรมชาติ เราได้มอบอำนาจให้กับในพื้นที่เพื่อจัดการเรื่องดังกล่าว ซึ่งพื้นที่เองจะทราบข้อมูลดีกว่าส่วนกลาง โดยมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้เฝ้าระวังและช่วยคัดกรองอยู่ตามจุดต่าง ๆ” นพ.สุทัศน์ กล่าวถึงประเด็นที่กำลังเป็นกระแส เรื่องการลักลอบข้ามชายแดนโดยอาศัยช่องทางธรรมชาติที่ไม่ได้ผ่านด่านคัดกรอง

ในส่วนของความกังวลที่จะเกิดการระบาดรอบ 2 นั้น นพ.สุทัศน์ ได้กล่าวยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมพร้อมและเฝ้าระวังอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ตราบใดที่ทั่วโลกยังคงมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ โดยหากเกิดขึ้นจะต้องพยายามควบคุมให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยยืนยันว่ากระทรวงมีความพร้อมเต็มที่ ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ และไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก

เช่นเดียวกัน นพ.สุทัศน์ ยังคงยืนยันถึง แนวทางการป้องกันตนเองของประชาชนจากการติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ในปัจจุบันว่า “อย่าการ์ดตก” ทั้งการป้องกันตัวเองด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย การหมั่นล้างมือเป็นประจำ และการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล

อย่างไรก็ตามเรื่องโรคระบาดอุบัติใหม่ ที่มีข่าวเกิดขึ้นในระยะเวลา 2-3 วันมานี้ ทั้งเรื่องของกาฬโรค โรคปอดบวมที่ไม่ทราบสาเหตุ และมีความรุนแรงมากกว่าโควิด-19 นั้น นพ.สุทัศน์ ได้ให้ความมั่นใจว่า ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดจากข้อมูลที่ได้รับจากศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค พบว่า ยังไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริงจากทางการจีนโดยตรง โดยมีเพียงการรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวของสื่อมวลชนเท่านั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook