บทวิเคราะห์: 6 เดือนผ่านไปแล้ว ทำไมโควิด-19 ยังไม่เลิกคุกคามทั่วโลก?

บทวิเคราะห์: 6 เดือนผ่านไปแล้ว ทำไมโควิด-19 ยังไม่เลิกคุกคามทั่วโลก?

บทวิเคราะห์: 6 เดือนผ่านไปแล้ว ทำไมโควิด-19 ยังไม่เลิกคุกคามทั่วโลก?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผ่านมากว่าครึ่งปีแล้ว เพราะเหตุใด "โรคโควิด-19" จึงยังแพร่ระบาดหนักอยู่อีก บทวิเคราะห์ชิ้นนี้มีคำตอบที่รวบรวมความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายคนจากทั่วทุกมุมโลกมาไขคำตอบให้ทำความเข้าใจกัน

ทั่วโลกต่างเป็นประจักษ์พยานการพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่พุ่งทะยานรายวันไม่หยุด จนสถิติผู้ป่วยสะสมทั่วโลกในช่วงสัปดาห์นี้จะทะลุเกิน 13 ล้านรายเข้าไปแล้ว

สถิติผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศจำเป็นต้องระงับแผนผ่อนคลายมาตรการจำกัดด้านการใช้ชีวิตของประชาชนและการทยอยเปิดภาคเศรษฐกิจไว้ก่อน และต้องกลับมาดำเนินมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้งในหลายเมือง ตั้งแต่ทางยุโรปตะวันตกจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิก นอกจากนี้โรงพยาบาลหลายแห่งในสหรัฐฯ ยังเผชิญกับจำนวนผู้ป่วยที่ล้นเกินรับอีกครั้ง ราวกับเป็นการส่งสัญญาณเตือนว่าจะเกิดการระบาดระลอกใหม่ที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นอีก

เกือบครึ่งปีแล้วนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโรคโควิด-19 ทว่าบางประเทศยังคงดิ้นรนหาหนทางลดจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อขณะผลักดันนโยบายปลดล็อกก่อนเวลาอันสมควรไปพร้อมกัน บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญกล่าว

เมื่อทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายเช่นนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องร่วมมือกันปฏิบัติการเพื่อยุติการระบาดใหญ่อย่างถาวร เป็นวงกว้าง และอิงข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์

สถิติใหม่วันแล้ววันเล่า

สหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางการระบาดของโรคร้ายนี้ เนื่องจากเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยมีผู้ติดเชื้อกว่า 3 ล้านราย รองลงมาคือ บราซิล ซึ่งมีผู้ป่วยเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบด้วยรัฐทั้งหมด 50 แห่ง เริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์บางส่วนในเดือนพฤษภาคม และกำลังเผชิญการกลับมาของผู้ป่วยใหม่ โดยมีรัฐฟลอริดา แคลิฟอร์เนีย และเท็กซัสที่สร้างสถิติผู้ป่วยใหม่รายวันสูงสุดอีกครั้ง

ฟลอริดาทำสถิติผู้ป่วยรายวันทะลุ 10,000 รายจนดันยอดสะสมสูงกว่า 200,000 รายแล้ว ขณะที่โรงพยาบาลมากกว่า 40 แห่งในรัฐแห่งนี้ เปิดเผยว่ามีการรับผู้ป่วยแผนกไอซียูจนเต็มขีดจำกัดแล้วเมื่อวันอังคาร (7 ก.ค.) หน่วยงานท้องถิ่นหลายแห่งถูกบังคับให้ปิดชายหาดที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่ไม่ใส่หน้ากากและไม่รักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเหมาะสม

สถานการณ์ที่ว่าน่าขนหัวลุกสักเพียงใด ก็อาจยังไม่เท่ากับการได้เห็นของจริง โดยช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โรเบิร์ต เรดฟิลด์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) กล่าวว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ มีแนวโน้มสูงกว่าที่มีการรายงานถึง 10 เท่า

เมื่อวันจันทร์ (6 ก.ค.) แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนว่า “มีสถานการณ์มากมายที่เกี่ยวข้องกับความพยายามในการเปิดรัฐและเมืองต่างๆ ในแง่ของการกลับสู่ภาวะปกติบางรูปแบบ ที่นำไปสู่การทำลายสถิติผู้ติดเชื้อครั้งใหม่ของสหรัฐฯ”

แม้จะถูกโจมตีเรื่องการจัดการกับการระบาดใหญ่ที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ทว่าทำเนียบขาวยังคงยืนกรานหนักแน่นว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นเป็นผลมาจากการตรวจหาผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขหลายคนไม่ยอมรับคำกล่าวอ้างนี้

โพลิติโก สื่อของสหรัฐฯ ระบุในบทความแสดงความคิดเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า สหรัฐฯ ยังไม่เข้าใจความสำคัญของการตรวจหาผู้ติดเชื้อ จึงไม่อาจยุติการระบาดใหญ่ในช่วง 6 เดือนได้

“นักการเมืองที่กล่าวถึง ‘จำนวนผู้เข้ารับการทดสอบที่สูงขึ้น’ และ ‘อัตราการเสียชีวิตและเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่ลดลง’ ว่าเป็นสัญญาณที่ดี ล้วนแต่พยายามบิดเบือนความเป็นจริง” โรเบิร์ต สคูลลีย์ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ สาขาโรคติดเชื้อและสาธารณสุขทั่วโลก แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียกล่าว “ปัญหาอยู่ที่ตัวเลขการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่การทดสอบที่เพิ่มขึ้น”

“เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ตอบโต้ช้าเกินไป และหน่วยงานรัฐไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะยับยั้งหายนะอันเกิดจากการระบาดใหญ่นี้” โรเบิร์ต ลอว์เรนซ์ คุห์น ประธานมูลนิธิคุห์น กล่าว

สมดุลที่เปราะบาง

ยังมีอีกหลายเมืองในประเทศอื่นนอกเหนือจากสหรัฐฯ ที่ตัดสินใจปลดล็อกก่อนเวลาอันควร และผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุม เช่น รัฐบาลในภูมิภาคทางตอนเหนือของสเปนที่จำต้องกลับมาบังคับใช้มาตรการจำกัดช่วงสุดสัปดาห์อีกครั้ง เพื่อยับยั้งการเกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ขณะที่รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ประกาศล็อกดาวน์ 6 สัปดาห์เมื่อวันอังคาร (7 ก.ค.) รวมถึงประกาศปิดพรมแดนของทั้งประเทศ

ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อใหม่ในตะวันออกกลาง ซึ่งบางประเทศพยายามที่จะกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งพร้อมออกมาตรการป้องกันที่ไม่มีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทำลายสมดุลที่เปราะบางระหว่างการปลดล็อกและการควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสที่รัฐบาลจำเป็นต้องแสดงบทบาทชี้นำ ต้องมีการสังเกตการณ์ ความรอบคอบ และความเพียรของทุกฝ่ายทั่วประเทศ

ด้านตุรกีพบตัวเลขการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวลตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย. หลังการเปิดพื้นที่สาธารณะในวันที่ 1 มิ.ย. โดยขณะนี้ตุรกียังคงพบผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 1,000 รายต่อวัน จึงจำเป็นต้องบังคับใช้คำสั่งสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ

“เหตุผลที่ผู้ป่วยใหม่รายวันของเรามีมากกว่า 1,000 ราย นั่นเพราะพวกเขาไม่ปฏิบัติตามกฎ” ฟาห์เรตติน โคกา รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขตุรกีกล่าวเมื่อวันจันทร์

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมารัฐบาลอิสราเอลได้ออกข้อจำกัดหลายประการรวมถึงการปิดยิม บาร์ ไนต์คลับ และสถานที่จัดกิจกรรม รวมถึงจำกัดจำนวนผู้มานมัสการในโบสถ์ หลังผ่านพ้นการผ่อนคลายมาตรการจำกัดเพียงไม่กี่สัปดาห์

“เราจำเป็นต้องบังคับใช้กฎระเบียบเหล่านี้ หลังจากเห็นการชุมนุมของผู้คน 1,000 คนที่ไม่สวมหน้ากาก ผู้คนยังรักษาระเบียบวินัยไม่มากพอ และรัฐบาลต้องดำเนินมาตรการอย่างแข็งขัน” ซีริล โคเฮน รองคณบดีคณะธรรมชาติ มหาวิทยาลัยบาร์-อิลาน กล่าวถึงการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในอิสราเอล

จีนา ทัมบีนี ตัวแทนประเทศโคลัมเบียในองค์การสุขภาพของภาคพื้นอเมริกา (PAHO) ได้ย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่หลากหลายของแต่ละเมืองในแต่ละประเทศ และแนะนำว่าไม่ควรผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ลงจนกว่าความเร็วในการแพร่ระบาดจะอยู่ภายใต้การควบคุม

“รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลระดับชาติจะต้องยอมให้การเปลี่ยนแปลงของการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นเป็นตัวกำหนดเวลาในการวางมาตรการต่างๆ และการปลดล็อก โดยมีเป้าหมายคือทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญก่อนที่จะผ่อนคลายข้อจำกัดใดๆ ” เธอกล่าว

ขาดความร่วมมือ

นอกจากการบังคับใช้แนวทางต่างๆ จากหน่วยงานท้องถิ่นแล้ว การปลดล็อกอย่างชาญฉลาดและรอบคอบ อีกทั้งความร่วมมือระดับโลกที่มีประสิทธิภาพ ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการระบาดใหญ่กลับพยายามแยกตัวออกจากความร่วมมือระดับโลก โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ส่งแถลงการณ์ประกาศถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ไปยังองค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีค่าเท่ากับการถอนตัวออกจากทั่วโลกท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ระหว่างที่สถานการณ์ระบาดใหญ่ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ได้ออกมากล่าวว่า ทุกประเทศที่ยังเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 จะต้องปรับวิถีชีวิตใหม่ให้เข้ากับโรคร้ายนี้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

“เราได้เห็นการกระทำที่แสนอบอุ่นจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งความพยายามเพื่อฟื้นฟูสถานการณ์ ความสร้างสรรค์ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความเมตตา แต่ขณะเดียวกัน เรายังเห็นสัญญาณมากมายเกี่ยวกับการสร้างมลทิน การบิดเบือนข้อมูล และการโยงไวรัสเข้ากับการเมือง” ผอ.องค์การอนามัยโลกระบุ

สี่เฉิน ศาสตราจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล และประธานของหน่วยงานวิจัยนโยบายด้านสุขภาพและการจัดการของจีน ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐฯ กล่าวว่า “เรากำลังประสบกับโลกาภิวัตน์อันปราศจากธรรมาภิบาลระดับโลก ซึ่งเผยให้เห็นถึงความอ่อนแอของมนุษย์ในการเผชิญกับโรคติดเชื้อที่ร้ายแรงเฉกเช่นโควิด-19”

เฉินเรียกร้องให้มีการปรับปรุงความร่วมมือระดับโลกในการต่อสู้กับการระบาดใหญ่ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ การติดตามและตรวจจับไวรัส การรายงานข้อมูลให้แก่องค์การนานาชาติอย่างทันท่วงที การแบ่งปันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และการแบ่งปันประสบการณ์ในการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19

“มาตรการการรักษาระยะห่างทางสังคมและการสวมหน้ากากในจีนและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออก ทำให้การแพร่กระจายของไวรัสช้าลงอย่างมีประสิทธิภาพ” เขากล่าว

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวในงานฉลองวันวิสาขบูชา 2020 ที่จัดขึ้นทางออนไลน์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า มีเพียงความร่วมมือระหว่างประเทศเท่านั้นที่ “จะช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากวิกฤตการณ์นี้”

“ด้วยการเสริมสร้างสัมพันธ์ระหว่างสังคมเท่านั้นที่จะช่วยฟื้นฟูสถานการณ์ของเราให้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังจะช่วยสร้างโลกที่แข็งแกร่ง เท่าเทียม ยั่งยืน ยืดหยุ่น และเป็นธรรมยิ่งขึ้น” เลขาธิการยูเอ็น สรุปปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook