7 วิธีรับมือ “ปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก” ช่วง “โควิด-19”

7 วิธีรับมือ “ปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก” ช่วง “โควิด-19”

7 วิธีรับมือ “ปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก” ช่วง “โควิด-19”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิกฤตโรคโควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลก ทำให้รัฐบาลหลายประเทศประกาศล็อกดาวน์ เพื่อยับยั้งการระบาดของโรค การหยุดอยู่บ้านเป็นเวลาหลายสัปดาห์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้คนมากมาย และไม่ใช่ปัญหาของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ “เด็ก” ก็ต้องรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ด้วยเช่นกัน Maryam Jernigan-Noesi นักจิตวิทยาเด็ก ระบุว่า เมื่อเด็กเกิดความเครียด พวกเขาจะแสดงพฤติกรรมถดถอยเหมือนเป็นเด็กทารกอีกครั้ง เช่น เด็กที่ผ่านการฝึกขับถ่ายแบบผู้ใหญ่ ก็อาจจะปัสสาวะรดที่นอนโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือเด็กบางคนก็อาจกลับไปดูดนิ้วตัวเอง เป็นต้น ขณะที่ เด็กวัย 8 - 9 ขวบ หรืออายุมากกว่า ก็อาจจะเริ่มแสดงความเรียกร้องความสนใจ และติดตามพ่อแม่อยู่ตลอดเวลา หรืออาจขอให้พ่อแม่อยู่ด้วย แม้จะอาบน้ำหรือแปรงฟัน

“เหมือนกับว่าพวกเขาไม่อยากทำอะไรด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นอาการที่แปลกมาก ลักษณะการแสดงออกเหล่านี้มันเป็นพัฒนาการสำคัญที่พวกเขาเคยผ่านมาแล้ว” Jernigan-Noesi ชี้

ดังนั้น ในช่วงเวลาตึงเครียดเช่นนี้ เด็ก ๆ อาจแสดงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น หงุดหงิด ก้าวร้าว หรือโศกเศร้า ขณะเดียวกัน อาการวิตกกังวลก็อาจทำให้เด็กมีอาการปวดท้อง และปวดหัว โดยเฉพาะเด็กโต เพราะฉะนั้น ผู้ปกครองจึงต้องคอยสังเกตอาการของเด็กอยู่เสมอ และนี่คือ 7 วิธีที่ผู้ปกครองสามารถใช้แก้ปัญหาสุขภาพจิตของเด็ก

ผู้ปกครองต้องผ่อนคลาย

ขั้นตอนแรกในการให้ความช่วยเหลือเรื่องปัญหาสุขภาพจิตของเด็ก คือ ผู้ปกครองต้องผ่อนคลาย เพราะเด็กหรือวัยรุ่นสามารถรับรู้ถึงความเครียดของผู้ปกครองได้ ดังนั้น ยิ่งผู้ปกครองผ่อนคลายมากเท่าไหร่ เด็ก ๆ จะรู้สึกปลอดภัยมากเท่านั้น แม้ว่าการผ่อนคลายจะทำได้ยาก แต่การหาเวลาอยู่กับตัวเองเพื่อลดความเครียดก็เป็นวิธีที่ดี

“คุณอาจล็อกตัวเองในห้องน้ำสัก 10 นาทีหากคุณต้องการผ่อนคลาย หรือมีพื้นที่ส่วนตัว ไม่อย่างนั้น ก็ออกไปเดินนอกบ้านบ้างเพื่อลดความตึงเครียดที่คุณกำลังรู้สึกอยู่” Mary Alvord นักจิตวิทยาเด็ก กล่าว

สนใจสิ่งที่ทำแล้วได้ผล

เปลี่ยนความสนใจจากพฤติกรรมที่น่ากังวลของเด็ก และให้ความสนใจกับสิ่งที่ทำแล้วถูกต้องแทน ผู้ปกครองอาจพูดว่า “หนูดูโกรธมาก แต่หนูได้พูดมันออกมาแล้ว หนูผ่อนคลาย  หนูไม่ขึ้นเสียง อยากได้อะไรหนูก็บอก” ซึ่งการพูดคุยในลักษณะเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันคือสอนให้เด็กสามารถหาคำตอบได้ว่าตัวเขาเองต้องการอะไร  

สร้างพื้นที่สบายใจ

ผู้ปกครองหลายคนค้นพบว่า การช่วยสร้างพื้นที่สบายใจสำหรับเด็ก ๆ เป็นวิธีการที่มีประโยชน์มาก เช่น Barnet Pavao-Zuckerman ที่อนุญาตให้ Evelyn ลูกสาววัย 10 ขวบ สร้างหลุมหลบภัยส่วนตัว หรือ “มุมเล็ก ๆ ในห้องนอนของเธอ ที่คลุมด้วยผ้าคลุมแฮร์รี่ พอตเตอร์ ธงชาติโปรตุเกส และผ้าหลาย ๆ ชิ้น เมื่อไรที่เธอรู้สึกวิตกกังวลหรือหงุดหงิด เธอก็จะเข้าไปนั่งอยู่ในนั้น”

สอดคล้องกับคำแนะนำของ Alvord ที่ชี้ว่า เด็ก ๆ มักชอบอยู่บนบ้านต้นไม้ หรือพื้นที่เล็ก ๆ ที่พวกเขาสามารถนำข้าวของตัวเองไปวางเอาไว้ได้ และทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย

สนับสนุนมิตรภาพของเด็ก

การได้ติดต่อสื่อสารกับเพื่อน ๆ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาทางจิตใจของเด็ก โดยเฉพาะกับเด็กวัยรุ่น Alvord ระบุว่า “ขณะที่เราต้องทำการรักษาระยะห่างทางสังคม เราก็ต้องรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมของเราไว้ด้วย” ดังนั้น ผู้ปกครองต้องหาวิธีรักษาความสัมพันธ์ของเด็กกับเพื่อน ๆ แม้จะอยู่ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ก็ตาม ซึ่ง Alvord แนะนำกิจกรรมทางออนไลน์ เช่น วิดีโอคอล ส่งข้อความ โทรศัพท์พูดคุย หรือโซเชียลมีเดีย ล้วนแล้วแต่ช่วยรับมือกับปัญหาทางจิตของเด็กได้ เช่นเดียวกับกิจกรรมทางกายภาพ แต่ต้องอยู่บนฐานของความปลอดภัย และการรักษาระยะห่าง

หางานอดิเรก

ในช่วงเวลาวิกฤตของโรคโควิด-19 ที่ไม่มีใครสามารถควบคุมได้ Alvord แนะนำว่า ผู้ปกครองควรพูดคุย หรือหากิจกรรมที่เด็ก ๆ สามารถ “ควบคุมได้” เช่น การใช้เวลาไปกับการทำงานอดิเรกที่พวกเขาชื่นชอบ หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและผองเพื่อน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องปกป้องตัวเองให้ห่างไกลจากเชื้อไวรัสด้วย

พูดคุยอย่างเข้าอกเข้าใจ

ขณะที่เด็ก ๆ รู้สึกเศร้าหรือไม่พอใจ สิ่งที่ผู้ปกครองสามารถทำได้ คือ “การให้เวลา” โดย Joshua Morganstein โฆษกประจำสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน กล่าวว่า “เมื่อเด็กรู้สึกไม่ดี ให้นั่งอยู่กับพวกเขา และให้เวลาพวกเขาสักนิด เวลาที่จะได้รอและรับฟังสิ่งที่พวกเขาต้องการจะพูด” วิธีการนี้จะทำให้เด็กรู้ว่า คำพูดของพวกเขามีความสำคัญ และผู้ปกครองก็พยายามที่จะทำความเข้าใจสิ่งที่พวกเขากำลังพบเจอ

นอกจากนี้ การพูดคุยกับเด็ก ไม่ว่าจะช่วงวัยไหนก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ “ความซื่อสัตย์” นั่นแปลว่า ผู้ปกครองต้องยอมรับว่าตัวเองไม่รู้คำตอบสำหรับทุกคำถามที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 และพร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับเด็ก นี่เป็นรูปแบบของทัศนคติที่ผู้ปกครองต้องฝึกฝนและพัฒนาให้กับเด็ก

สร้างภาพของอนาคตที่มีความหวัง

Morganstein แนะนำว่า การแสดงออกที่เปิดเผยและซื่อตรง เป็นวิธีการสอนให้เด็ก ๆ รู้สึกมีความหวัง “ความหวังไม่ใช่การเสแสร้งว่าทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี มันคือการตระหนักได้ว่า หลายสิ่งกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ในระหว่างนั้น เรายังสามารถมองหาหนทางที่จะเติบโต ในฐานะปัจเจกและครอบครัว อีกทั้งยังทำให้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวแข็งแรงมากยิ่งขึ้น”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook