“โควิด-19” หนึ่งอาการสำคัญของปัญหา “สุขภาพโลก”
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นโศกนาฏกรรมโลก ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตหลายแสนคน ระบบสาธารณสุขที่ต้องรับมือกับโรคอย่างเกินกำลัง และอนาคตที่ไม่แน่นอนของคนหลายล้านคน แม้เป้าหมายหลักคือ การช่วยเหลือและป้องกันโรค แต่สิ่งที่ควรทำไปพร้อม ๆ กัน คือ การเรียนรู้จากวิกฤตโรคโควิด-19 เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
บทเรียนสำคัญที่ได้รับ คือโรคโควิด-19 เป็นมากกว่าการเจ็บป่วยของร่างกาย แต่เป็นอาการป่วยของโลกด้วยเช่นกัน ความสัมพันธ์ที่ผิดปกติของมนุษยชาติกับธรรมชาติเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคระบาดที่กระจายไปในวงกว้าง ดังนั้น การทำความเข้าใจรากของปัญหาเป็นสิ่งที่จำเป็น หากมนุษย์ต้องการกลับมายืนหยัดอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง
โรคโควิด-19 เป็นไวรัสที่ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน และพัฒนาเป็นโรคระบาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก เนื่องจากการทำลายระบบนิเวศ การสูญพันธุ์ของสัตว์หลายสายพันธุ์ ภาวะโลกร้อน และพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น การค้าสัตว์ป่า เป็นต้น พฤติกรรมทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับความเชื่อมโยงด้านการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวทั่วโลก โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ระบุว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของโรคติดต่อในมนุษย์ เป็นโรคติดต่อจากสัตว์มาสู่คน ซึ่งมีสาเหตุจากการที่มนุษย์ย้ายถิ่นฐานเข้าไปอยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติและรุกล้ำพื้นที่ของสัตว์ป่ามากขึ้น ส่งผลให้มนุษย์มีโอกาสสัมผัสกับสัตว์ที่มีเชื้อโรคอยู่ในตัวมากขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม โรคติดต่อจากสัตว์มาสู่คน ไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ก็เป็นวิกฤตที่น่าเป็นห่วงเช่นดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก เช่น ภัยธรรมชาติ ภูมิอากาศที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบมากมาย และนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตั้งแต่ความมั่นคงของระบบนิเวศ ไปสู่การผลิตอาหารและความขัดแย้งของมนุษย์ การสูญเสียระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า “สุขภาพของโลก” กำลังมีปัญหา ซึ่งธรรมชาติก็เหมือนมนุษย์ ที่สามารถอดทนต่อความเจ็บป่วยได้จนถึงระยะหนึ่ง ก่อนที่จะสูญสิ้นไป
ดังนั้น การระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้เข้าใจว่า มนุษย์ต้องให้ความสำคัญและต้องดูแลธรรมชาติให้มากขึ้นกว่านี้ กล่าวคือ จำเป็นต้องมีการวางแผนสำหรับอนาคตทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งต้องรวมปัจจัยทางด้านธรรมชาติเข้าไปในทุกแผนการที่ต้องการสร้าง ตั้งแต่ที่อยู่อาศัยไปจนถึงระบบอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตโรคระบาดขึ้นมาอีกครั้งในอนาคต