ครม.เห็นชอบปล่อยกู้เมียนมา 1,485 ล้านบาท แถมปลอดหนี้ 10 ปี

ครม.เห็นชอบปล่อยกู้เมียนมา 1,485 ล้านบาท แถมปลอดหนี้ 10 ปี

ครม.เห็นชอบปล่อยกู้เมียนมา 1,485 ล้านบาท แถมปลอดหนี้ 10 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ครม.เห็นชอบ สนง.ความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือ นีด้า ปล่อยกู้แบบผ่อนปรนวงเงิน 1,458 ล้านบาท แก่เมียนมาทำโครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าเมืองย่างกุ้ง คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.50 ต่อปี อายุสัญญา 30 ปี ผูกเงื่อนไขใช้สินค้าและบริการไทยร้อยละ 50 รวมถึงใช้ผู้รับเหมา-วิศวกรที่ปรึกษาสัญชาติไทย

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 ก.ค. 2563 ว่า ครม.เห็นชอบให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สำหรับโครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าเมืองย่างกุ้ง (เขต North Okkalapa และเขต North Dagon )

โดยให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) หรือ NEDA ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Loan) ทั้งจำนวน วงเงินกว่า 1,458 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและปรับปรุงสถานีไฟฟ้าย่อยและสายส่งของเมียนมา

โดยใช้แหล่งเงินจาก 2 ส่วน คือ

  1. เงินงบประมาณ วงเงิน 729 ล้านบาท โดยขอจัดสรรงบประมาณเป็นรายปี รวม 3 ปี ตั้งแต่งบประมาณปี 2564 - 2566
  2. เงินกู้จากสถาบันการเงินภายในประเทศ วงเงิน 729 ล้านบาท ระยะเวลากู้ 5 ปี ด้วยวิธีการประมูลเพื่อหาผู้เสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุดตามเงื่อนไขที่กำหนด

สำหรับการจัดสรรเงินงบประมาณแก่ สพพ. ระยะเวลา 3 ปี (2564-2566) วงเงินรวม 729 ล้านบาท แบ่งเป็น ปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 145 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 183 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 183 ล้านบาท

ในกรณีเมียนมาผิดนัดชำระหนี้ ให้รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณให้ สพพ.ตามจำนวนที่ชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย เพื่อชำระคืนแหล่งเงินกู้ไปก่อน และเมื่อ สพพ.สามารถเรียกเก็บหนี้ได้จะนำเงินดังกล่าวส่งคืนคลังต่อไป

ส่วนเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Loan) ประกอบด้วย

  1. คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1.50 ต่อปี
  2. อายุสัญญา 30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 10 ปี)
  3. ใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา
  4. ผู้รับเหมาก่อสร้างและวิศวกรที่ปรึกษาเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย
  5. กฎหมายที่ใช้บังคับสำหรับสัญญากู้เงินเป็นกฎหมายไทย

โดยการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เมียนมาสำหรับโครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าในเมืองย่างกุ้งดังกล่าว จะส่งผลดีต่อทั้งเมียนมาและไทย สำหรับเมียนมา โครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจำหน่ายไฟฟ้า สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมียนมา อีกทั้งสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ

สำหรับไทย การให้ความช่วยเหลือทางการเงินดังกล่าวเป็นการสนับสนุนการผลิต การค้า และบริการของผู้ประกอบการไทย รวมถึงการจ้างงานในประเทศไทย อีกทั้งจะช่วยดึงดูดนักลงทุนชาวไทยให้เข้าไปลงทุนในเมียนมามากขึ้น ตามเงื่อนไขที่กำหนดให้เมียนมาใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ จากประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา รวมทั้งกำหนดให้ใช้บริการผู้รับเหมาก่อสร้างและวิศวกรควบคุมงานจากประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินโครงการ

"ปัจจุบันเมียนมาเป็นประเทศที่มีนักลงทุนชาวไทยเข้าไปลงทุนอยู่ในอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และจีน โดยมีมูลค่าการลงทุน ณ สิ้นปี 2562 จำนวน 11,341.918 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 13.66 ของมูลค่ารวมของการลงทุนทางตรงในเมียนมา" นางสาวรัชดา กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลไทยเคยให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมาผ่าน สพพ. มาแล้ว 1 ครั้ง โดย ครม.ได้มีมติ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2562 อนุมัติเงินกู้แก่เมียนมา เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการพัฒนาเมืองภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่ 3 ในส่วนของเมืองเมียวดี

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังเคยให้ความช่วยเหลือแก่เมียนมาในลักษณะเงินให้เปล่า ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2558 อนุมัติเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่เมียนมา จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแม่สอด พร้อมสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 (กรมทางหลวง)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook