หลุมดำในฟรีทีวี ..รายการดีๆ หายไปไหน
โดย : จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา
หลายคนเคยเฝ้าดูพฤติกรรมสัตว์โลกผ่านรายการแดนสนธยา หรือสนุกกับเกมโชว์วิทยาศาสตร์ฉลาดล้ำโลก แต่ทำไม สัดส่วนรายการดีๆ ถึงอยู่แค่ที่ 1.94% ?
อยากดูสารคดีสักเรื่อง กดรีโมทเข้าไปเถอะ ทุกครั้งที่ภาพบนหน้าจอทีวีเปลี่ยนไป สิ่งที่คุณเห็นคือ คุยข่าว ละคร เกมโชว์ ทอล์คโชว์เซเลบ และก็เกมโชว์ วนมาที่ละครซิทคอมอีกรอบ สารคดีน่ะเหรอ ต้องดึกๆ ..อยากจะดูรายการบันเทิงแฝงสาระความรู้เติมอาหารสมอง ทำไมถึงยากเย็นนัก ราวกับงมเข็มในมหาสมุทร
ข้อมูลล่าสุดจากหน่วยงานที่เรียกขานตัวเองว่า "มีเดียมอนิเตอร์" สำรวจรายการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบน "ฟรีทีวี" พบว่ามีเพียง 1.9 เปอร์เซ็นต์ แถมรายการดีกลับได้ไปโผล่ในจอตอนเที่ยงคืน เหมือนจะทดสอบความมุมานะอดทนคนอยากเสพรายการน้ำดี ของดีต้องรอเที่ยงคืน... ประมาณนั้น
ชีช้ำยิ่งกว่าคือ ส่วนใหญ่เป็นสารคดีต่างประเทศ ประเภทที่แพร่ภาพออกอากาศตามเคเบิ้ลทีวีมาจนช้ำ ฟิล์มแทบจะฉีกขาดเป็นแผ่นๆ แล้ว
"รายการวิทยาศาสตร์ที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่เป็นรายการนำเข้ามาจากต่าง ประเทศ ของเขามีศักยภาพ เนื้อหาน่าสนใจ และถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจมาก"
ธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หรือ มีเดียมอนิเตอร์ เปิดเผยถึงผลการศึกษารายการสาระความรู้วิทยาศาสตร์ในฟรีทีวีว่า
ผลการสำรวจฟรีทีวี ช่อง 3, 5, 7, 9, สทท.11 และ ทีวีไทย พบว่ามี รายการโทรทัศน์ที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพียง 26 รายการ คิดเป็น 1,137 นาทีต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็น 1.94 เปอร์เซ็นต์ของเวลาออกอากาศ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับรายการอื่น เช่น บันเทิง ละคร วาไรตี้ เกมส์โชว์ และข่าว
หลายคนคงเคยเฝ้าดูพฤติกรรมสัตว์โลกผ่านรายการแดนสนธยา คลังปัญญา ที่นำเสนอสารคดีชีวิตสัตว์จากประเทศตะวันตก ชีวิตสัตว์ขบขันกับรายการสัตว์โลกแสนรัก ส่งตรงจากแดนปลาดิบ บ้างจองที่นั่งหน้าจอเฝ้าติดตามสารคดีชุด ท่องโลกกว้าง เปิดโลกวิทยาศาสตร์น่ารู้ เน้นเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี
ใครว่าเกมโชว์วิทยาศาสตร์ไม่สนุก คงยังไม่เคยชมรายการ "ฟองน้ำอัจฉริยะ" ใน Sponge ฉลาดสุดๆ รายการเกมโชว์จากประเทศเกาหลี ที่ดังไม่แพ้ฉลาดล้ำโลก และนักล่าปริศนารุ่นเยาว์ รายการประเภทแมกกาซีน เอาใจวัยรุ่นจากประเทศออสเตรเลีย
"รายการวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นสารคดี รองลงมาคือแมกกาซีน เกมโชว์ การ์ตูน และการประกวดแข่งขัน โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายคนทั่วไปมากที่สุด ตามด้วยเด็กและเยาวชน" ธามอธิบายเสริม
ใน 26 รายการวิทยาศาสตร์บนฟรีทีวีที่สำรวจ มี 8 รายการที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จากสถานีโทรทัศน์ชื่อดัง เช่น BBC, NHK รวมถึงบริษัทเอกชนอื่นๆ โดยนำมาแปลงบท ตัดต่อให้เป็นฉบับภาษาไทย ซึ่งต้องยอมรับว่าเนื้อหาที่ปรากฏยังไม่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับวัฒนธรรมหรือ บริบทของคนไทยได้
หลอดทดลอง vs ตบจูบๆ
กระนั้นยังมีรายการที่ผลิตในประเทศไทย อีก 18 รายการ มาจากผู้ผลิตเอกชน เช่น บริษัท พาโนราม่า เวิร์ลด์วายด์ ,บริษัท สมาร์ท ครีเอชั่น อินเตอร์มีเดีย, บริษัท ซี แอร์ แลนด์ โปรดักชั่น บริษัท สเปรชอินเทอร์เอคทีฟ, บริษัท มัชรูม เทเลวิชั่น เน็กซ์สเต็ป, บริษัท ทโมนไทย จำกัด โดยรายการส่วนมีหน่วยงานภาครัฐให้เงินทุนสนับสนุน ในฐานะผู้ร่วมผลิต และให้ข้อมูล เช่น สสวท. สวทช. อพวช. สกว. และซิป้า เป็นต้น
อรรฆรัตน์ นิติพน กรรมการผู้จัดการบริษัท มัชรูม เทเลวิชั่น จำกัด เจ้าของรายการ เน็กซ์ ก้าวแห่งความคิด ยอมรับว่า จะยกรายการวิทยาศาสตร์ไปสอดแทรกในช่วงเวลาไพรม์ไทม์เห็นทีจะยาก เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวถูกจับจองโดยรายการที่มีเรทติ้งสูงอยู่แล้ว
"รายการทีวี เหมือนพืชล้มลุก ที่พร้อมถูกปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาตามผังของรายการ สปอนเซอร์ ตลอดจนแอร์ไทม์ ที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะรายการที่คนส่วนใหญ่สนใจอย่างละครหลังข่าว หรือเกมโชว์ที่มีดาราเป็นแม่เหล็กดึงดูดมากกว่า" เขา เผย
อุปสรรคขวางกั้นสาระบันเทิงยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น รายการสารคดีสำหรับเมืองไทยยังมีความเสี่ยง ต่างจากในต่างประเทศที่พร้อมทุ่มเงินลงทุนจำนวนมหาศาลเพื่อนสร้างสารคดี หรือรายการวิทยาศาสตร์เจาะลึกสักเรื่อง เพื่อเผยแพร่และขายไปทั่วโลก แต่สำหรับรายการสารคดีฝีมือไทย ยังอยู่ในวงจำกัด
แต่ปัจจัยที่ทำให้ เน็กซ์ ก้าวแห่งความคิด รายการวิทยาศาสตร์ที่ผลิตโดยคนไทยยังยืนอยู่ได้ ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนเนื้อหาและเงินทุนด้านการผลิตจากหน่วยงานภาครัฐ เป็นหลัก โดย มัชรูม เทเลวิชั่น เป็นโปรดักชั่นขนาดเล็ก ที่นำเสนอวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ช่วงเวลาออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย สทท.11 กระบอกเสียงน้อยๆ ของสื่อภาครัฐที่จำนวนคนดูไม่มากนัก เมื่อเทียบกับทีวีสีสันสารพัดช่อง
"สิ่งที่เป็นปัญหาของสังคมไทยคือ เยาวชนไม่มีต้นแบบด้านวิทยาศาสตร์ หลายสาขาอาชีพมีไอดอลที่ทุกคนรู้จัก แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์เรากลับพบว่าไม่มี จึงเกิดปัญหาการทำรายการวิทยาศาสตร์ให้น่าสนใจได้ยาก แต่เชื่อว่าหากได้รับโอกาสและการสนับสนุนที่ดีพอก็สามารถทำได้เช่นกัน" อรรฆรัตน์สะท้อนความคิด
เช่นเดียวกับ ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่มองว่า ทุกคนรู้ว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญต่อชาติ แต่อาชีพนักวิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้เป็นอาชีพที่ทุกคนใฝ่ฝัน เราจึงเห็นการกระตุ้นให้คนสนใจวิทยาศาสตร์ด้วยการนำรายการดีจากต่างประเทศมา ออกอากาศ แต่ละรายการใช้งบประมาณในการผลิตสูงมาก
หากจะจัดอันดับสถานีโทรทัศน์ที่ให้ความสำคัญกับรายการวิทยาศาสตร์ อันดับ 1 ต้องยกให้กับทีวีไทย ที่ให้เวลากับรายการวิทยาศาสตร์ถึง 8 รายการ รองลงมาคือช่อง 9 หรือเอ็มคอท ที่กล้าปรับผังรายการมุ่งเน้นสังคมอุดมปัญญา ต่อสู้กับละครหลังข่าวภาคค่ำในเวลาไพร์มไทม์ หรือช่วงเวลาที่มีผู้ชมโทรทัศน์มากที่สุด ถึง 7 รายการ
ขณะที่ สสท.11 มี 5 รายการ ส่วนช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง 7 ให้ความสำคัญกับรายการวิทยาศาสตร์ เพียงสถานีละ 2 รายการเท่านั้น โดยข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการศึกษาติดตามรายการทีวีในฟรีทีวี ตลอด 1 เดือนเต็ม ของทีมวิจัยของมีเดียมอนิเตอร์
"ผลสำรวจของมีเดียมอนิเตอร์ที่ออกมาไม่น่าแปลกใจนัก ก่อนหน้านี้ สวทช. ได้ทำการสำรวจในหัวข้อที่คล้ายกัน ผลปรากฏว่ามีรายการทีวีที่เน้นเนื้อหาสาระวิทยาศาสตร์อยู่เพียง 2.9 เปอร์เซ็นต์ เป็นตัวเลขที่ไม่แตกต่างมากนัก" ดร. อ้อมใจ กล่าว
ที่ผ่านมา สวทช.ได้ให้ความสำคัญกับรายการโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์ โดยพยายามผลิตรายการทีวี ที่มีเนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์เอง เช่น ชาววิทย์ชิดชาวบ้าน, รายการวิจัยไทยคิด ตลอดจนนำเข้ารายการจากต่างประเทศ เช่น Sponge ฉลาดสุดๆ , บียอนด์ ทูมอร์โร่ ผ่านโปรแกรมสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สวทช. 2-3 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด เนื่องจากสื่อทีวีเข้าถึงประชาชนไว้มากกว่าสื่ออื่น
"รายการวิทยาศาสตร์รายการแรกอย่างที่ สวทช. นำเข้ามาจากต่างประเทศ หรือ เมก้าเคลฟเวอร์ ฉลาดสุดๆ ได้รับความนิยมจากผู้ชมถึง 2 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงกลุ่มคนที่สนใจวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นพลังให้เราเดินหน้าพัฒนารายการวิทยาศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น แม้เวลาของสถานีโทรทัศน์จะมีจำกัด" ดร.อ้อมใจ กล่าว
เธอยอมรับว่า การทำให้เรื่องของวิทยาศาสตร์มีความน่าสนใจ เรียนรู้ได้อย่างสนุกสนานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ตลอดจนข้อจำกัดของโปรดักชั่น หรือการผลิต คือใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง ขาดสปอนเซอร์สนับสนุนทำให้เวลาในการออกอากาศสั้นลง หรือไม่อยู่ในช่วงที่มีคนดูโทรทัศน์เป็นจำนวนมาก
"รายการดีๆ ประเทศไทยก็ทำได้ หากมีการพัฒนาเครื่องมือ และได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ รายการวิทยาศาสตร์ที่อยากเห็นและทำได้จริงคือการทำเกมโชว์ เพราะจากการติดตามพบว่าประชาชนให้ความสนใจมาก ขณะเดียวกันก็ต้องปรับทัศนคติของคนในสังคมต่อวิทยาศาสตร์เสียใหม่ ไม่ใช่นึกถึงนักวิทยาศาสตร์ก็จะเห็นเป็นคนหัวยุ่งๆ เหมือนไอน์สไตน์เสมอไป" ดร.อ้อมใจ กล่าว
ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ เจ้าของรางวัลนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี 2538 รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล บอกว่า รายการวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันส่วนมากทำหน้าที่ให้ความรู้ แต่การให้ความคิดเพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมนั้นยังมีน้อย ซึ่งรายการวิทยาศาสตร์ควรทำหน้าที่คือ "ต้องสนุก" เป็นสำคัญ และต้องทำให้รู้สึกว่าวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็น
"ในเชิงธุรกิจกับการนำเสนอสิ่งที่ดีนั้นต้องเห็นใจกัน เพราะผู้ผลิตต้องอยู่รอดก่อนเป็นลำดับแรก แต่เมื่ออยู่รอดและแข็งแรงแล้วต้องมีความตระหนักเรื่องหน้าที่ของสื่อ เชื่อว่าผู้ผลิตรายการไม่ได้ต้องการผลิตรายการไม่ดี แต่ที่ต้องผลิตเพราะทำแล้วได้เงิน การผลิตหนังหรือละครวิทยาศาสตร์ของไทยหาได้ยาก และมักไม่ประสบความสำเร็จ" เขากล่าว
รศ.ดร.ชัยวัฒน์ มีความปรารถนาลึกๆ ว่า อยากเห็นหนังหรือละครวิทยาศาสตร์ไทยขายได้ทั่วโลก แต่ต้องหากลุ่มคนที่อยากทำรายการดีๆ (และมีเงิน) เสียก่อน
* มีเดียมอนิเตอร์ จับตาจอตู้
จากการทำงานตลอด 4 ปี ของมีเดียมอนิเตอร์ มีหลายประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาศึกษา เช่น รายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ทางสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี โฆษณาในรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก รายการการ์ตูนเด็กในฟรีทีวี
สิ่งที่พบคือรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กมีเพียง 5.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบสัดส่วนกับรายการทั้งหมดที่ออกอากาศ และครึ่งหนึ่งของสัดส่วนดังกล่าวคือรายการการ์ตูน ที่ดูจะออกไปในแนวรุนแรงต่อ ลามก หยาบโลน มีเพียงไม่กี่เรื่องที่เหมาะสมกับเด็กจริงๆ
ธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้จัดการกลุ่มงานวิชาการโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หรือ มีเดียมอนิเตอร์ บอกว่า ผลของการวิเคราะห์สื่อนำไปสู่การจัดอันดับการ์ตูนดีที่นำให้เด็กดู รู้เท่าทันโฆษณาแฝงในรายการเด็ก โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยว โฆษณาที่ล่อด้วยของแถม
ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือโฆษณายุคใหม่ผ่านออดิโอเทค เชิญชวนให้กดโทรศัพท์ฟังเรื่องผี เรื่องขำขัน และทำนายโชคชะตา ไม่เว้นแม้แต่ละครซิทคอมที่ติดอันดับผู้ชมจำนวนมาก มีการศึกษาอคติและภาพตัวแทนในละครซิทคอม รวมถึงโฆษณาแฝงในละครซิทคอม ค่านิยมความงามในโฆษณาทางโทรทัศน์ ฟุตบอลยูโร 2008 การพนันและการชิงโชค นำไปสู่การจัดอันดับเรตติ้งรายการโทรทัศน์ ให้เหมาะสมกับสภาพเนื้อหาของรายการอย่างแท้จริง
โครงการดังกล่าวได้ศึกษาในหลายประเด็นอาทิ รายการข่าวยังเป็นประเด็นที่มีเดีย มอนิเตอร์หยิบยกมาพูดถึง โดยเฉพาะรายการประเภทคุยข่าว รวมถึงประเด็นของเอสเอ็มเอส ฟรีทีวีกับการรายงานข่าวการชุมนุมทางการเมือง สื่อมวลชนกับการนำเสนอเนื้อหาการเลือกตั้ง การศึกษาความเป็นละครในข่าวการเมือง การรายงานข่าวเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง
มีเดีย มอนิเตอร์ หรือโครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หน่วยงานอิสระที่เดินหน้าจับตารายการบนฟรีทีวี 24 ชั่วโมง ที่ผ่านมาการเฝ้าระวังสื่อในประเทศไทยยังไม่มีรูปแบบการดำเนินงานที่ชัดเจน จุดประสงค์เพื่อศึกษาและเฝ้าระวังการทำงานของสื่ออย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ภายใต้กรอบทางวิชาการที่ชัดเจน โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาระบบสื่อให้มีมาตรฐานวิชาชีพ และมุ่งสร้างสุขภาวะสู่สังคม ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คลิกอ่านข้อมูลเพิ่มเติมถึงผลการวิจัยในแต่ละหัวข้อที่ได้ http://mediamonitor.in.th/