5 วาทะ “ทัวร์ลง” ของ “นพ.ทวีศิลป์” ขวัญใจคนไทยในช่วงโควิด-19
ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดจากโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ สิ่งที่เป็นเหมือน “สัญลักษณ์” ของการหยุดเชื้อเพื่อชาติ ที่อยู่คู่กับการระบาดของโควิด-19 ในทุกระลอก ก็คือใบหน้ายิ้มแย้ม และน้ำเสียงนุ่มนวลของคุณหมอ “นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) ซึ่งเป็นผู้รายงานสถานการณ์โรคระบาดผ่านหน้าจอ จนกลายเป็น “ขวัญใจคนไทย” ไปโดยปริยาย แต่การแถลงข่าวครั้งล่าสุดของคุณหมอก็เกิดเรื่อง เมื่อคุณหมอยกเคสการติดเชื้อโควิด-19 ของทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การฉีดวัคซีนเป็นเรื่องการป้องกันโรคที่ดี
"แต่ไม่ได้หมายความว่าท่านจะไม่ป่วยไม่เจ็บ ถ้ามีการติดเชื้อ ก็ยังเกิดขึ้นได้หลังการฉีดวัคซีน แต่อาการจะป่วย จะเจ็บหนัก หรือเสียชีวิตนั้นจะน้อยลงกว่าที่เราไม่ได้ฉีดวัคซีน นี่คือสิ่งที่แสดงถึงความสำคัญ เพราะฉะนั้นนักกีฬาในชุดนี้จะเป็นบทเรียนของเราอย่างดีว่า ถึงแม้ฉีดไปแล้ว แต่ถ้าไม่ระมัดระวังตัวในการใส่หน้ากาก การอยู่ในระยะที่แออัดหรือใกล้ชิด หรือการเล่นกีฬาแล้วมีสารคัดหลั่งทั้งหลายออกมา ก็มีโอกาสจะติดเชื้อได้"
คุณอรอุมา สิทธิรักษ์ นักวอลเลย์บอลทีมชาติไทยจึงได้ออกมาตอบโต้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (14 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหว พร้อมกล่าวว่าตนเองเป็นแฟนคลับของวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย พร้อมกับคุณอรอุมาที่ออกมาโพสต์ขอโทษเช่นเดียวกัน จึงทำให้ดราม่าดังกล่าวจบลงไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องราวดังกล่าวจะจบไปด้วยดี แต่ "วาทะ" ระหว่างทำหน้าที่โฆษก ก็ทำให้คุณหมอต้องเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ หรือที่เรียกว่า "ทัวร์ลง" อยู่หลายครั้ง จะมีอะไรบ้าง Sanook รวบรวมมาให้แล้ว
“อยู่ในต่างจังหวัด มีเงิน 5,000 บาท เหลือแน่ ๆ เพราะมีผักสวนครัว รั้วกินได้”
ในการแถลงสถานการณ์ ประจำวันที่ 9 เม.ย. 2563 นพ.ทวีศิลป์ได้ตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน เรื่องมาตรการของรัฐบาลในการช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างอยู่ต่างประเทศ โดยข้อความตอนหนึ่ง ระบุว่า “วันนี้ใครที่อยู่ขอบชายแดน หรืออยู่ในต่างจังหวัด มีเงิน 5,000 บาท เหลือแน่ ๆ เพราะมีผักสวนครัว รั้วกินได้ อยู่ได้อย่างสบาย ไม่ลำบากอะไร”
ไม่นานหลังจากนั้น “ชาวเน็ต” ก็รุมถล่ม นพ.ทวีศิลป์อย่างหนัก เนื่องจากหลายคนมองว่า สิ่งที่ นพ.ทวีศิลป์พูด เป็นการพูดบนฐานของความไม่เข้าใจบริบทสังคมต่างจังหวัด และยังห่างไกลจากความเป็นจริง เนื่องจากคนที่อยู่ต่างจังหวัดก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้เงิน ไม่ต่างจากคนในเมือง และไม่ใช่คนต่างจังหวัดทุกคนจะมีพื้นที่ให้ปลูกผักสวนครัวไว้เด็ดกินง่าย ๆ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ นพ.ทวีศิลป์ถูกโจมตีอย่างหนัก ก็เกิด #saveหมอทวีศิลป์ ขึ้น เพื่อให้กำลังใจคุณหมอมากมาย
“[คนฆ่าตัวตาย] ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดไปจากความคาดหมาย”
มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อชะลอการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนหลายคนไม่สามารถออกมาทำงานหาเงินได้ นำไปสู่การฆ่าตัวตายจากปัญหาทางเศรษฐกิจและความเครียด และนพ.ทวีศิลป์ ซึ่งเป็นจิตแพทย์ ก็ตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง ตั้งแต่การตอบคำถามในประเด็นเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายว่า “คนฆ่าตัวตายไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดไปจากความคาดหมาย” และ “สถิติการฆ่าตัวตายตอนนี้ ยังน้อยกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง” โดยหลายฝ่ายมองว่า การตอบคำถามในลักษณะนี้ เป็นการ “ซ้ำเติม” ความสูญเสียของครอบครัวผู้เสียชีวิต ขณะเดียวกันก็ละเลยที่จะพูดถึง “ความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล” ที่อาจส่งไปไม่ถึงคนเหล่านี้ นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการปลด นพ.ทวีศิลป์ ออกจากตำแหน่งโฆษก ศบค.
อย่างไรก็ตาม ในการแถลงสถานการณ์วันต่อมา นพ.ทวีศิลป์ ก็ได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย พร้อมระบุว่า “ในฐานะโฆษก ศบค. ขอชี้แจงว่า เรารับฟังทุกเรื่องเพื่อนำไปหาทางช่วยเหลือ ผมจะทำทุกวิถีทางให้คนที่มีความทุกข์ในเรื่องนี้ได้เข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือเยียวยา”
“ไม่ประมาท อย่าการ์ดตก”
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรการเคอร์ฟิว และอีกหลายมาตรการที่รัฐบาลประกาศใช้ ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศลดน้อยลง ส่งผลให้เริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรค ทำให้ธุรกิจร้านค้าเริ่มกลับมาเปิดทำการได้อีกครั้ง ภายใต้ “ความปกติใหม่” (New Normal) เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าอาคาร การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม และการเช็คอินในแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” เป็นต้น สิ่งสำคัญที่ นพ.ทวีศิลป์ มักจะคอยย้ำเตือนประชาชนอยู่เสมอ ก็คือ “ต้องให้ความสำคัญ “การ์ดอย่าตก” เราจึงจะไปต่อได้ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของเรา” ทว่าไม่นานหลังจากนั้น กลับมี “ภาพหลุด” ของเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงหลายคน “การ์ดตก” ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย และไม่รักษาระยะห่างระหว่างกัน หรือการเข้าร่วมงานฉลองวันชาติสหรัฐฯ โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้ก็ทำให้ชาวเน็ตข้องใจไม่น้อย ถึงความน่าเชื่อถือของการ “ตั้งการ์ด” ที่คุณหมอพูดอยู่บ่อย ๆ
“เราไม่กล่าวโทษใคร เพราะเขาได้รับอนุญาต ไม่ใช่ข้อผิดพลาด”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ประชาชนคนไทยหันมาปรับตัวและใช้ชีวิตภายใต้ “ความปกติใหม่” แต่แถลงการณ์ประจำวันที่ 13 ก.ค. 2563 ก็ทำให้คนไทยเริ่มตั้งคำถามกับ “การ์ด” ของรัฐบาล เมื่อผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็น “กลุ่มที่ได้รับการยกเว้นจาก ศบค.” ให้สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดย นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า
“กรณีทหารชาวอียิปต์และเด็กหญิงที่เป็นสมาชิกครอบครัวคณะทูต ถือเป็นข้อยกเว้นของ ศบค. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราไม่กล่าวโทษใคร เพราะเขาได้รับอนุญาต ไม่ใช่ข้อผิดพลาดอะไร ชุดข้อมูลนี้เราจะนำไปปรับปรุงวิธีการทำงาน ปิดจุดอ่อนให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น”
คำพูดของ นพ.ทวีศิลป์ กลายเป็นเหมือนน้ำมันสาดลงกองไฟ เพราะไม่เพียงแต่ทำให้ประชาชนตั้งคำถามถึง “อภิสิทธิ์” ที่คนกลุ่มนี้ได้รับการยกเว้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ยิ่งรุนแรงมากขึ้น เมื่อมีการนำข้อความข้างต้นไปเปรียบเทียบคำพูดของ นพ.ทวีศิลป์ เมื่อครั้งที่พูดถึงการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 5 ซึ่งท่านโฆษกย้ำว่า “ตอนจะเปิดหลายคนบอกอะไรก็ยอม แต่หากเกิดการติดเชื้อที่ใดต้องมีบทลงโทษด้วย” ทำให้ชาวเน็ตต่างตำหนิ ศบค. ที่จ้องแต่จะเอาผิดประชาชน แต่พอ ศบค. “การ์ดตก” กลับไม่ยอมรับว่าเป็นความผิดของตัวเอง
“ผมเองก็เสียใจกับคำพูดที่ว่า เจ้าหน้าที่รัฐการ์ดตกเสียเอง”
เหตุการณ์ “ทหารอียิปต์” และ “ลูกทูตโควิด” ทำให้ ศบค. ต้องออกแถลงการณ์ด่วนในวันที่ 14 ก.ค. 2563 โดย นพ.ทวีศิลป์ ได้ชี้แจงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้ง 2 ราย พร้อมแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอน้อมรับข้อผิดพลาดในครั้งนี้ ทว่า แถลงการณ์ของ ศบค. กลับส่งผลให้โลกโซเชียลร้อนระอุยิ่งกว่าเดิม เกิดแฮชแท็กในทวิตเตอร์ที่วิจารณ์การทำงานที่ผิดพลาดของ ศบค. และตั้งคำถามถึงมาตรการที่ประกาศใช้ ว่าเป็นมาตรการที่กดทับประชาชนในประเทศเพียงอย่างเดียวหรือไม่ แต่ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ขณะนี้ สถานะ “ขวัญใจคนไทย” ของ นพ.ทวีศิลป์ ถูกสั่นคลอนไม่น้อยเลยทีเดียว