งานวิจัยเผย “ประชากรโลก” จะลดน้อยลง เพราะผู้หญิง “มีการศึกษา” มากขึ้น

งานวิจัยเผย “ประชากรโลก” จะลดน้อยลง เพราะผู้หญิง “มีการศึกษา” มากขึ้น

งานวิจัยเผย “ประชากรโลก” จะลดน้อยลง เพราะผู้หญิง “มีการศึกษา” มากขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักวิจัยจากสถาบัน Institute for Health Metrics and Evaluation (IHME) แห่งมหาวิทยาลัย University of Washington ได้ทำการเผยแพร่งานวิจัยชิ้นใหม่ใน The Lancent ที่ค้นพบว่า ประชากรโลกจะมีจำนวนมากที่สุดในปี 2064 ซึ่งมีมากถึง 9 พันล้านคน และค่อยๆ ลดจำนวนลงจนเหลือ 8 พันล้านคนในช่วงปลายศตวรรษ เนื่องจากผู้หญิงทั่วโลกสามารถเข้าถึงการศึกษาและการคุมกำเนิดได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ประชากรช่วงวัยทำงานก็จะลดน้อยลงอย่างมากในประเทศอินเดียและจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตด้านเศรษฐกิจ กำลังแรงงาน และระบบการสนับสนุนทางสังคม

งานวิจัยระบุว่า ในช่วงปี 2100 ประเทศทั้งหมด 183 ประเทศจาก 195 ประเทศทั่วโลก จะไม่มีอัตราการเจริญพันธุ์ที่กำหนดไว้ เพื่อรักษาจำนวนประชากรที่มีอยู่ในขณะนี้ โดยจะมีอัตราการเกิดเพียง 2.1 คนต่อผู้หญิง 1 คนเท่านั้น ขณะที่ 23 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไทย อิตาลี และสเปน จะประสบปัญหาประชากรลดลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ในทางกลับกัน ประชากรทางแถบแอฟริกาใต้สะฮาราอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า ทำให้ประชากรเชื้อสายแอฟริกันมีจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ในช่วงปลายศตวรรษนี้

ขณะที่อัตราการเกิดลดน้อยลง นักวิจัยชี้ว่า การอพยพย้ายถิ่นฐานสามารถช่วยเหลือปัญหานี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำอยู่แล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และแคนาดา

“ตั้งแต่ช่วงปี 1960s โลกของเราต้องเผชิญกับภาวะการเพิ่มของประชากรอย่างรวดเร็ว แต่ทันใดนั้น เราก็พบกับจุดเปลี่ยนของปัญหา คือจากปัญหาคนเยอะมากไปสู่ปัญหาคนน้อยเกินไป” ดร. Christopher Murray หัวหน้านักวิจัย กล่าว

นักวิจัยใช้ข้อมูลการศึกษา Global Burden of Disease Study 2017 และคาดการณ์ว่า ประชากรจะมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว ในทวีปเอเชีย ยุโรปตะวันออก และยุโรปกลาง ยิ่งไปกว่านั้น ประชากรในประเทศญี่ปุ่นจะลดลงจาก 128 ล้านคน ในปี 2017 เหลือเพียง 60 ล้านคน ในปี 2100 เช่นเดียวกับ ประเทศไทย ที่จำนวนประชากรจะลดลงจาก 71 ล้านคน เป็น 35 ล้านคน ประเทศสเปน จาก 46 ล้านคน ลดลงเหลือ 23 ล้านคน ประเทศอิตาลีจาก 61 ล้านคน ลดลงเหลือ 31 ล้านคน และประเทศเกาหลีใต้ จาก 53 ล้านคน ลดลงเหลือ 27 ล้านคน เป็นต้น แต่นักวิจัยกลับค้นพบว่า ประชากรจากแถบแอฟริกาใต้สะฮาราอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า หรือประมาณ 1 พันล้านคนในปี 2017 เป็น 3 พันล้านคน ในช่วงปี 2100

นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังได้คาดการณ์ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องโครงสร้างอายุของคนในสังคม เนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดน้อยลง และจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น หรือจำนวนผู้สูงอายุจะมีมากกว่า 2.37 พันล้านคนในปี 2100 เทียบกับจำนวนประชากรที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี ที่มีจำนวน 1.7 พันล้านคน

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยได้แนะนำว่า ปัญหาประชากรโลกลดลงสามารถแก้ไขได้ด้วยการอพย้ายถิ่นฐาน และประเทศที่มีนโยบายรับผู้อพยพก็จะสามารถรักษาขนาดประชากรและการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศได้ดีกว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook