ลูกเรือกว่า 200,000 คน ตกค้างบนเรือทั่วโลกเพราะโควิด-19
เทจาสวี ดูเซจา ลูกเรือชาวอินเดียบนเรือสินค้าลำหนึ่งของอินเดีย คือหนึ่งในลูกเรือกว่า 200,000 คนทั่วโลกที่ยังคงติดค้างอยู่บนเรือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรือสินค้าหรือเรือสำราญ ที่ไม่สามารถเข้าฝั่งได้เพราะการระบาดของโคโรนาไวรัส
ลูกเรือหลายคนต้องตกค้างอยู่บนเรือที่ลอยลำนอกชายฝั่งมานานหลายเดือน ตั้งแต่วิศวกรบนเรือไปจนถึงพนักงานเสิร์ฟบนเรือสำราญ ทำให้สหประชาชาติต้องออกมาเตือนถึงวิกฤติทางมนุษยธรรมที่กำลังเพิ่มขึ้นบนเรือต่าง ๆ ทั่วโลก ที่อาจนำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตายของลูกเรือ
ดูเซจา กล่าวกับสำนักข่าว AFP ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เมื่อเดือน มิ.ย. ขณะที่อยู่บนเรือที่ลอยลำนอกชายฝั่งมาเลเซียว่า แม้ว่าตนรู้สึกเครียดและท้อแท้ แต่ยังคงมีความหวังเพราะนั่นเป็นสิ่งเดียวที่เหลืออยู่
ประเมินว่า ปัจจุบันมีชาวอินเดียราว 30,000 คนที่ตกค้างอยู่บนเรือต่าง ๆ ทั่วโลก
ปกติแล้ว ลูกเรือจะทำงานราว 6-8 เดือนบนเรือ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนลูกเรือชุดใหม่เพื่อให้ลูกเรือชุดเดิมได้เดินทางกลับบ้าน แต่โคโรนาไวรัสทำให้เรือสินค้าและเรือสำราญจำนวนมากไม่ได้รับอนุญาตให้เทียบท่า อีกทั้งลูกเรือที่ลงจากเรือแล้วก็อาจไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางด้วยเครื่องบินกลับบ้านด้วยเหตุผลหลายอย่าง
ด้วยเหตุนี้ ในการประชุมสุดยอดทางทะเลระหว่างประเทศที่อังกฤษในเดือนนี้ จึงได้มีการหยิบยกประเด็นเรื่องนี้มาหารือ และหลายประเทศรับปากว่าจะยอมรับลูกเรือบนเรือต่าง ๆ เป็น "พนักงานสำคัญ" ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือให้กลับประเทศของพวกเขา
ขณะที่บรรดากลุ่มอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางทะเลแสดงความกังวลต่อปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายของลูกเรือเหล่านั้น และได้มีหนังสือส่งไปถึงเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยระบุว่ามีลูกเรือบางคนที่ติดอยู่บนเรือนานถึง 15 เดือนแล้ว
โดยองค์กรแรงงานสากล หรือ ILO มีข้อกำหนดว่า ลูกเรือคนหนึ่งสามารถทำงานอยู่บนเรือได้ไม่เกิน 12 เดือนติดต่อกัน
ความเครียดและสุขภาพจิตมิได้ส่งผลกระทบต่อคนที่อยู่บนเรือเท่านั้น แต่สมาชิกครอบครัวของพวกเขาที่รออยู่ที่บ้านก็ร้อนใจเช่นกัน
ลาลา โตเลนติโน ผู้บริหารองค์กรช่วยเหลือลูกเรือชาวฟิลิปปินส์ กล่าวว่า มีจดหมายร้องเรียนหลายร้อยฉบับส่งมายังสำนักงานเพื่อขอให้ช่วยเหลือญาติพี่น้องของพวกเขาที่ติดอยู่บนเรือ
คาดว่าเวลานี้มีชาวฟิลิปปินส์ราว 80,000 คน ที่ติดค้างอยู่บนเรือต่าง ๆ ทั่วโลก คิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนผู้ติดค้างทั้งหมด ตามข้อมูลของทางการฟิลิปปินส์
เชโรกี คาปาโจ ชาวฟิลิปปินส์วัย 31 ปี ผู้ทำงานเป็นช่างประจำเรือสำราญ Carnival Ecstasy ใช้ชีวิตอยู่บนเรือมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยที่ไม่ได้แตะพื้นดินเลย
คาปาโจ กล่าวว่า ก่อนที่จะขึ้นเรือเขาแทบไม่ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับโคโรนาไวรัส แต่หลังจากนั้นเรือสำราญหลายลำของ Carnival พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก รวมทั้งเรือ Diamond Princess ที่ญี่ปุ่น
เรือ Carnival Ecstasy เดินทางออกจากฟลอริดาเมื่อต้นเดือนมีนาคม และในที่สุดสามารถเทียบท่าที่หมู่เกาะบาฮามาสได้ในเดือนพฤษภาคม ก่อนที่คาปาโจและลูกเรืออีกหลายคนจะถูกย้ายไปยังเรืออีกลำหนึ่งเพื่อมุ่งหน้าไปยังอินโดนีเซีย และสามารถกลับถึงบ้านที่กรุงมะนิลาได้ในที่สุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
เขากล่าวว่า ทันทีที่เท้าแตะพื้นดิน เขาแทบจะก้มจูบพื้นในทันที แม้ว่าจะต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัวอีก 14 วันเพื่อสังเกตอาการของโควิด-19 ก็ตาม