สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ปล่อยดาวเทียม Hope ขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ พร้อมภารกิจสำรวจดาวอังคาร
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียม Hope ขึ้นสู่อวกาศ ด้วยระยะทางที่ยาวไกลถึง 500 ล้านกิโลเมตร ในการเดินทางไปสำรวจดาวอังคาร คาดลงจอดได้ ก.พ. 2021
สำนักข่าว BBC รายงานว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียม Hope ขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด H2-A rocket โดยเป็นการปล่อยจากศูนย์อวกาศทาเนกาชิมา (Tanegashima Space Center) ในประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่แผนปล่อยจรวดในสัปดาห์ที่ผ่านมาต้องถูกยกเลิกไปเพราะความไม่เหมาะสมของสภาพอากาศ
การเดินทางในครั้งนี้จะเป็นการเดินทางด้วยระยะทางที่ยาวไกลถึง 500 ล้านกิโลเมตร โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสำรวจศึกษาสภาพอากาศและภูมิศาสตร์ของดาวอังคาร ซึ่งการเดินทางของ Hope ที่มีน้ำหนักมากถึง 1.3 ตันนี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 เดือนก่อนจะสามารถลงจอดที่ดาวอังคารได้ในเดือน ก.พ. 2021 ตรงกับช่วงการเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ในการครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์พอดี
ด้าน ซาราห์ อัล อามิรี รัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผู้นำของโครงการ Hope กล่าวด้วยความตื่นเต้นหลังเห็นภาพการทะยานขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของ Hope เป็นไปด้วยความสำเร็จว่า การปล่อยจรวจ H2-A ในครั้งนี้เกิดขึ้นตรงกับวันที่สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการนำยานอพอลโล 11 ลงจอดบนดวงจันทร์เมื่อ 51 ปีที่แล้วในวันเดียวกันพอดี ซึ่งเมื่อ Hope สามารถลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จ ตนเชื่อว่าประชาชนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต้องดีใจไม่แพ้กัน
แม้ว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะมีประสบการณ์ไม่มากเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านอวกาศ แต่ที่ผ่านมาก็พยายามอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาศักยภาพด้านนี้ ซึ่งในประวัติศาสตร์โลกมีเพียงแค่สหรัฐฯ ยุโรป รัสเซีย และอินเดีย เท่านั้นที่เคยทำได้สำเร็จ หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ของยูเออีได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ ทำให้โครงการครั้งสำคัญนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาเพียง 6 ปีเท่านั้น และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เองก็เชื่อว่า Hope จะทำให้เราเข้าใจได้มากขึ้นว่า สภาพภูมิอากาศของดาวอังคารที่แท้จริงเป็นอย่างไร และทำไมน้ำและอากาศปริมาณมหาศาลบนดาวอังคารจึงหายไปอย่างรวดเร็ว
มากไปกว่านั้น ผู้พัฒนา Hope ยังหวังด้วยว่า นี่จะเป็นโครงการแห่งแรงบันดาลใจซึ่งจะสร้างความกระตือรือร้นให้กับเยาวชนในประเทศและภูมิภาคหันมาให้ความสำคัญของการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดาราศาสตร์มากขึ้นในอนาคต