ภูมิรัฐศาสตร์ ความรู้เก่าที่หวนเกิดใหม่ เมื่อมหาอำนาจโลกรุกชิงพื้นที่-แข่งขันด้านทหารอีกครั้ง

ภูมิรัฐศาสตร์ ความรู้เก่าที่หวนเกิดใหม่ เมื่อมหาอำนาจโลกรุกชิงพื้นที่-แข่งขันด้านทหารอีกครั้ง

ภูมิรัฐศาสตร์ ความรู้เก่าที่หวนเกิดใหม่ เมื่อมหาอำนาจโลกรุกชิงพื้นที่-แข่งขันด้านทหารอีกครั้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภูมิรัฐศาสตร์เป็นวิชาบูรณาการของ 3 วิชา คือรัฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และการทหาร โดยผู้เริ่มแนวทางการศึกษาวิชานี้คือ ศาสตราจารย์รูดอล์ฟ เจลเลน ผู้สอนวิชารัฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยอุปป์ซารา ประเทศสวีเดนเมื่อปี 2459 (สมัยล้นเกล้า ร.6 แห่งสยามประเทศ) และถูกนำไปสร้างเสริมจนเป็นวิชาหลักสำคัญของเยอรมนีและแพร่ไปทั่วโลกโดย พลเอกศาสตราจารย์คาล เฮาโชเฟอร์ ชาวเยอรมนี ซึ่งก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นวิชาที่มีอิทธิพลต่อพรรคนาซี ที่ทำการขยายอำนาจอย่างบ้าคลั่งจนเป็นสาเหตุให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเอง

STR / FILES / AFPสภาพเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น หลังจากถูกสหรัฐทิ้งระเบิดนิวเคลียร์

ครั้นสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงด้วยระเบิดปรมาณูซึ่งเป็นระเบิดมหาประลัยมีอำนาจการทำลายล้างอย่างที่ไม่เคยมีมาในประวัติศาสตร์โลก กล่าวคือ ระเบิดปรมาณูลูกแรกที่ถล่มเมืองฮิโรชิมาจนราบเป็นหน้ากลองนั้น มีอำนาจการทำลายเท่ากับดินระเบิดทีเอ็นทีถึง 20,000 ตัน (นึกถึงรถกระบะที่บรรทุกของหนัก 1 ตันจำนวน 20,000 คัน)

ต่อมาก็มีการผลิตระเบิดไฮโดรเจนที่มีอำนาจการทำลายเท่ากับดินระเบิดทีเอ็นทีถึง 40 ล้านตัน (โปรดใช้จินตนาการระเบิดทีเอ็นที 20,000 ตันทำลายเมืองได้ 1 เมือง ถ้าระเบิดทีเอ็นที 40 ล้านตันจะมีอำนาจการทำลายไปขนาดไหน)

มิหนำซ้ำยังมีการพัฒนาจรวดนำวิถีที่สามารถยิงจากพื้นโลกไปสู่อวกาศได้เมื่อปี 2500 โดยประเทศสหภาพโซเวียตซึ่งสามารถพัฒนาเป็นขีปนาวุธติดหัวระเบิดไฮโดรเจนยิงได้ทั่วทุกมุมโลกจึงทำให้ภูมิรัฐศาสตร์กลายเป็นวิชาที่ตกยุคบรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ ก็พากันเลิกสอน เลิกทำการวิจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ไปเกือบหมด

จนกระทั่งนายเฮนรี คิสซิงเจอร์ ชาวอเมริกันเชื้อสายยิว-เยอรมัน อดีตศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เริ่มอ้างอิงถึงภูมิรัฐศาสตร์และสร้างความสนใจพร้อมกับส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนวิชาภูมิรัฐศาสตร์ให้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในยุคสงครามเย็น โดยให้เหตุผลว่า การมีขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวระเบิดไฮโดรเจนนั้นไม่มีประเทศใดกล้าใช้แน่นอน เพราะหากจะเป็นการก่อสงครามที่ไม่มีใครชนะแน่นอน เนื่องคู่สงครามต่างก็จะพินาศฉิบหายไปด้วยกันโดยถ้วนหน้า

TED ALJIBE / AFPเกาะในทะเลจีนใต้ ที่อยู่ในพื้นที่พิพาทระหว่างฟิลิปปินส์และจีน

ดังนั้นการเอาชนะกันทางการทหารนั้น ติดสินด้วยการยึดพื้นที่ไว้ได้เหมือนสงครามปกติก่อนหน้าที่จะมีระเบิดนิวเคลียร์และขีปนาวุธ

ความสำคัญของวิชาภูมิศาสตร์และวิชาการทหารจึงจำเป็นทางด้านการเมืองเหมือนเดิมจึงเกิดการกลับมาของวิชาภูมิรัฐศาสตร์อีกครั้งหนึ่งหลังจากที่แทบจะสูญพันธุ์จากแวดวงวิชาการแล้วครั้งหนึ่ง

ตามประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทั่วโลกมักจะถือเอาว่าเป็นมหาวิทยาลัยของยุโรปตะวันตกในยุคกลางเป็นจุดเริ่มต้นเพราะเมื่อสถาปนาขึ้นมาแล้วก็ยังคงดำเนินการเรียนการสอนอยู่จนถึงปัจจุบัน คือมหาวิทยาลัยโบโลญญา ในเมืองโบโลญญา ประเทศอิตาลี จึงเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 1631 (ยังไม่มีประเทศไทย)

ถัดมาคือ มหาวิทยาลัยปารีส ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 1693 (ยังไม่มีประเทศไทย) และถัดมาคือ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในเมืองออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 1710 (ยังไม่มีประเทศไทย) ขนาดมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของประเทศสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งสถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 2179 (สมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา) ยังมีอายุแค่ 384 ปีเอง

บรรดามหาวิทยาลัยเหล่านี้มีวิชาหลัก ๆที่ทำการสอน 3 วิชาคือ แพทย์ศาสตร์ กฎหมายและเทววิทยา ซึ่งอิงหลักคำสอนของศาสนาคริสต์คือ ร่างกายเป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้มาต้องรักษาไว้ให้ดี (แพทย์ศาสตร์) และสังคมเป็นแหล่งที่มนุษย์เราอาศัยอยู่รวมกันก็ต้องรักษาสังคมให้ดีคือต้องรู้กฎหมายเพื่อรักษาสังคมให้สงบสุข ส่วนวิชาเทววิทยานั้นต้องเรียนเพื่อที่จะได้ทราบว่าพระผู้เป็นเจ้าผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์นั้นมีความประสงค์อะไรจะได้ปฏิบัติตามได้ถูกตามความพระประสงค์

ก่อนเรียนทั้ง 3 วิชานี้ก็ต้องเรียนวิชาพื้นฐาน 3 วิชาก่อนคือ ไวยากรณ์ การพูดในที่สาธารณะ และตรรกศาสตร์ เสร็จแล้วจึงเรียนอีก 4 วิชา คือ เลขคณิต เรขาคณิต ดนตรี และดาราศาสตร์เพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนแพทยศาสตร์ หรือกฎหมายหรือเทววิทยาต่อไป

ในยุคกลางเช่นเดียวกัน ที่ชาวยุโรปตะวันตกมีการต่อสู้และติดต่อกับชาวมุสลิมทั้งทางสเปนและสงครามครูเสด พบตำราของอริสโตเติลและหนังสือเกี่ยวกับปรัชญากรีกที่ชาวมุสลิมนำมาศึกษาและเก็บรักษาไว้จึงได้ทำการแปลเพื่อศึกษาทำให้วิชาปรัชญา (Philosophy) เป็นที่นิยมในมหาวิทยาลัยในยุโรปเป็นที่มาของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ดังนั้นการเรียนจบวิชาการสาขาใดก็ตามถึงขั้นปริญญาเอกซึ่งเป็นขั้นสูงสุดก็จะได้ปริญญา Doctor of Philosophy (Ph.D.) เหมือนกัน

ต่อมามีการปรับปรุงหลักสูตรมีการแยกสาขาวิชาออกเป็น 3 สาขาวิชาหลักคือ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ซึ่งแต่ละสาขาก็แตกแขนงเป็นวิชาต่างๆ นับร้อยวิชา จนเกิดการศึกษาที่ดิ่งเดี่ยวในวิชาใดวิชาหนึ่ง เช่นเ ศรษฐศาสตร์อาจศึกษาโดยละเอียดลึกซึ้งแต่ไม่สามารถนำมาใช้งานจริงๆ ได้เพราะไม่เหมาะกับการเมืองหรือศาสนาทำให้เกิดการบูรณาการวิชา 2-3 วิชาเข้าด้วยกัน เช่นเศรษฐศาสตร์การเมือง สังคมวิทยาศาสนา และภูมิรัฐศาสตร์ เป็นอาทิ

ตอนต่อไปก็จะเริ่มเข้าเนื้อหาของวิชาภูมิรัฐศาสตร์โดยเน้นเรื่องการทหารเป็นเรื่องแรก

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook