ชาวเน็ตแห่ติดแท็ก #พรกฉุกเฉิน ถามรัฐบาลคุมโรคหรือสกัดม็อบ ทั้งที่ไร้โควิดระบาดในประเทศ

ชาวเน็ตแห่ติดแท็ก #พรกฉุกเฉิน ถามรัฐบาลคุมโรคหรือสกัดม็อบ ทั้งที่ไร้โควิดระบาดในประเทศ

ชาวเน็ตแห่ติดแท็ก #พรกฉุกเฉิน ถามรัฐบาลคุมโรคหรือสกัดม็อบ ทั้งที่ไร้โควิดระบาดในประเทศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายเว็บไซต์พากันติดแฮชแท็ก #พรกฉุกเฉิน ในโพสต์ของตัวเองวันนี้ (21 ก.ค.) เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อความพยายามต่ออายุการใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) อ้างว่าเพื่อควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

การเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เห็นชอบให้เสนอการต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) อนุมัติ ซึ่งถ้าหากในขั้นตอนสุดท้าย คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการต่ออายุดังกล่าว ก็จะทำให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกบังคับใช้ต่อไปจนถึงวันที่ 31 ส.ค.

ทั้งนี้ โรคโควิด-19 ไม่แพร่ระบาดภายในประเทศนาน 57 วันแล้ว

แนวโน้มการต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงที่นักศึกษาหลายกลุ่มจัดการประท้วงต่อต้านการบริหารประเทศของรัฐบาลที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้นำ ที่ล้มเหลวต่อการรักษาเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด

เหตุนี้ทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ติดแฮชแท็ก #พรกฉุกเฉิน หลายคนตั้งคำถามว่า การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจไม่ได้มีขึ้นเพื่อควบคุมโรค แต่ต้องการควบคุมการเคลื่อนไหวของนักศึกษาหรือไม่

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ลงในทวิตเตอร์ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐมากกว่ากฎหมายปกติ และถ้าหากเจ้าหน้าที่เหล่านี้ลงมือกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยใช้อำนาจที่กฎหมายนี้มอบให้ ก็จะไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งทางวินัย ทางแพ่ง และทางอาญาเลย

"ก็ยังจะต่อ #พรกฉุกเฉิน เพื่อยกเว้นไม่ให้เจ้าพนักงานต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง และอาญา หรือแม้กระทั่งวินัย" นายวิโรจน์ โพสต์

ที่ผ่านมา นายทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เคยแถลงว่า สาเหตุที่ต้องมีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไป ไม่เกี่ยวข้องกับการสกัดการชุมนุม แต่เพราะกฎหมายปกติหลายฉบับไม่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากพอใจการควบคุมโรคระบาด

ด้านนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตอบโต้ในประเด็นดังกล่าวเมื่อปลายเดือน มิ.ย. ว่า ข้ออ้างดังกล่าวของ ศบค. ไม่จริง เพราะกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมโรคและการควบคุมชายแดนที่มีอยู่ ก็เพียงพอแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook