สะพัด ตุลาการเล็งชี้ร่างกม.งบฯไม่ขัดรธน.

สะพัด ตุลาการเล็งชี้ร่างกม.งบฯไม่ขัดรธน.

สะพัด ตุลาการเล็งชี้ร่างกม.งบฯไม่ขัดรธน.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปธ.กก.สมานฉันท์ผนึกกำลัง ส.ส.-ส.ว.เร่งรบ.แก้รธน. 7 ประเด็น แล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่ พท.พร้อมลงชื่อร่วมหนุนแก้ฉบับพผ. สะพัดตุลาการเตรียมชี้ร่างพ.ร.บ.งบฯไม่ขัดรธน. ยกคำร้องสมัยรบ.สมชายเทียบเคียง

ปธ.กก.สมานฉันท์ฯจี้รบ.แก้รธน.

กรณี ส.ส. และ ส.ว.เคลื่อนไหวล่ารายชื่อ เพื่อเข้าชื่อให้ครบจำนวน 1ใน 5 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 7 ประเด็น โดยเพิ่มเติมประเด็นการให้ใบแดงใบเหลือง ให้เป็นอำนาจของ กกต.จนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้ง ส่วนหลังการประกาศผลการเลือกตั้งให้เป็นอำนาจศาลตัดสิน ซึ่งกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันศาลจะมีอำนาจให้ใบเหลืองใบแดง หลังจากประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว

นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 2 กันยายน ว่า ทราบว่ามีความเคลื่อนไหวเรื่องการล่ารายชื่อนี้ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม เบื้องต้นเสนอร่างเพื่อแก้ไขใน 6 ประเด็น เหมือนกับที่คณะกรรมการสมานฉันท์เสนอ ส่วนประเด็นที่ 7 เรื่องอำนาจให้ใบแดงใบเหลืองของ กกต. ยังไม่ทราบ แต่เป็นสิทธิของทั้ง ส.ส. และ ส.ว.เข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

"ได้สรุปแนวทางที่จะแก้วิกฤตความขัดแย้งอย่างรอบด้านที่สุดแล้ว ส่วนการจะนำรายงานฉบับนี้ไปสู่การปฏิบัตินั้นเป็นเรื่องของรัฐบาลซึ่งตนก็รอคำตอบจากรัฐบาลอยู่ แต่เมื่อรัฐบาลยังนิ่งเฉย จึงเกิดการทวงถามจากสมาชิกรัฐสภาและสังคม รัฐบาลสามารถหยิกยกรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ในส่วนของอนุกรรมการสมานฉันท์ และอนุกรรมการปฏิรูปการเมือง ดำเนินการไปได้ก่อน เพียงแค่รัฐบาลแสดงเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ว่าต้องการแก้ปัญหาความสมานฉันท์ในบ้านเมือง หากทำอย่างนี้ คงไม่เกิดกระแสกดดันรัฐบาล ข้อกล่าวหานี้คงไม่เกิด และจะได้คะแนนด้วยซ้ำ"

เมื่อถามข่าวการยุบสภาเพื่อแก้วิกฤตการเมือง นายดิเรก กล่าวว่า มองว่าหากประเทศยังไม่เกิดความสมานฉันท์แม้ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ก็จะเป็นปัญหาไปเรื่อยๆ ทางที่ดีควรร่วมกันพิจารณาแก้ไขอุปสรรคทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั้งกติกา คือรัฐธรรมนูญ และความสมานฉันท์ในหมู่ของนักการเมืองด้วยกันเอง แล้วค่อยยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ และเมื่อผลออกมาอย่างไรต้องมีสปิริตยอมรับกัน อย่างนี้ตนว่าบ้านเมืองไปได้

พท.พร้อมร่วมลงชื่อแก้ฉบับ พผ.

นายพีรพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคเพื่อไทยแผ่นดิน (พผ.) สนับสนุนให้เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ในส่วนของ พท.เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยึดตามผลการศึกษา 6 ประเด็นของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่เสนอต่อรัฐบาลเพราะเป็นความเห็นร่วมจากตัวแทนทุกพรรคการเมือง และ ส.ว. สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ พผ.ที่เสนอแก้ไขใน 7 ประเด็น เนื้อหาคล้ายคลึงกับผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯนั้น พท.ก็เห็นด้วย และหากขอให้ร่วมลงลายมือชื่อเพื่อเสนอต่อสภาก็พร้อมให้ความร่วมมือ ทราบว่าตอนนี้มี ส.ส. และ ส.ว.ร่วมลงลายมือชื่อในร่างดังกล่าวอยู่จำนวนหนึ่งแล้ว

"นายกฯเป็นคนพูดเองว่าการเลือกตั้งเป็นทางออกของประเทศ โดยขอให้แก้ไขกติกาให้เป็นธรรมให้ทุกพรรคหาเสียงได้ ดังนั้น พรรคจึงเห็นว่าควรเร่งแก้ไขใน 6 ประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอเสียก่อน จากนั้น ก็จัดการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มีความชอบธรรมเรื่องที่มา ซึ่งคิดว่าเป็นวิธีการลดความแตกแยกได้ดีที่สุด เมื่อได้รัฐบาลที่ชอบธรรมแล้วก็ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอีกครั้ง โดยวิธีการตั้ง ส.ส.ร.3" นายพีรพันธ์ กล่าว

ส.ว.กว่า80คนลงชื่อหนุนแก้7ปม

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า ระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภาวันเดียวกันนั้น นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี ได้เจรจาขอให้เพื่อน ส.ว.ร่วมลงชื่อสนับสนุนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมี 6 ประเด็นตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเสนอ และอีก 1 ประเด็น คือ เรื่องเพิ่มอำนาจศาลยุติธรรมเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยปรากฏว่า ขณะนี้ ทั้ง ส.ว.เลือกตั้ง และสรรหาได้ร่วมลงชื่อกว่า 80 คนแล้ว ซึ่งนายประสิทธิ์ตั้งเป้าไว้ที่จำนวน 120 รายชื่อก่อนที่จะยื่นต่อไป

นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี กล่าวว่า ได้ร่วมลงชื่อเพื่อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยประเด็นที่เสนอก็เป็นไปตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯสรุป ด้านนายยุทธ ยุพฤทธิ์ ส.ว.ยโสธร กล่าวว่า ได้ลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะเห็นว่าต้องให้เกียรติกับคณะกรรมการสมานฉันท์ฯที่มีทุกฝ่ายร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งนายกฯเป็นผู้เสนอแนวคิด ทั้งนี้ เราต้องยอมรับความจริงว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2550 มีปัญหาในบางมาตราซึ่งก็ควรมีการแก้ไข นอกเหนือจากนี้ ยังได้เสนออีก 1 ประเด็นคือ การเพิ่มอำนาจของศาลยุติธรรมในการรับรองผลการเลือกตั้ง

ศาลรธน.ลงมติวันนี้ร่างงบฯขัดกม.

ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ถนนแจ้งวัฒนะ เวลา 13.30 น. นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานการประชุมพิจารณาคำร้องของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พท. ที่เข้าชื่อ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1ใน 10 เท่าที่มีอยู่ของสภาขอให้ศาลได้พิจารณาวินิจฉัยตาม มาตรา 168 วรรคเจ็ด กรณีขอให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 มีการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้ ส.ส. หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในการใช้งบประมาณรายจ่าย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคหกหรือไม่

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญนัดนายสุรพงษ์ในฐานะผู้ร้อง และนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ มาตอบข้อซักถาม ซึ่งนายกรณ์ให้นายบัณฑูร สุภัควณิช ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นตัวแทนชี้แจง ซึ่งหลังรับฟังคำชี้แจงและแสดงความเห็นของทั้งสองฝ่ายแล้ว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และกำหนดวันแถลงด้วยวาจาก่อนลงมติและลงมติในวันที่ 3 กันยายน เวลา 17.00 น.

สะพัดตุลาการเล็งชี้ไม่ขัดรธน.

นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยมีมติว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งผลให้เงินงบฯ 2.2 หมื่นล้านบาทในส่วนนี้ต้องตกไป แต่จะไม่รวมถึงเงินงบประมาณส่วนใหญ่ที่ผ่านการพิจารณาของสภาไปแล้ว ดังนั้น หากทาง กมธ.ยืนยันที่จะจัดทำโครงการในเงินงบประมาณดังกล่าว ก็จะต้องไปเริ่มกระบวนการนำเสนอและพิจารณาแปรญัตติกันใหม่ทั้งหมด

รายงานข่าวแจ้งว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาวินิจฉัยและลงมติในประเด็นเดียวเท่านั้นคือมาตรา 168 วรรคหก ที่บัญญัติว่าการพิจารณาของ ส.ส.หรือกรรมาธิการการเสนอแปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้ ส.ส. ส.ว.หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายจะกระทำมิได้ ทั้งนี้ คำร้องที่พรรคเพื่อไทยมายื่นนั้นเป็นคำร้องที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกรณีที่ ส.ว. 30 คน เคยยื่นร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.งบฯ 2552 สมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่มีการปรับลดงบประมาณและตั้งงบประมาณเพิ่มกลับมาอีกนั้นน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 และ 168 หรือไม่ ซึ่งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ลงมติ 8 ต่อ 1 เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯดังกล่าวไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook