คนหนีแยก รัชโยธิน ลาดพร้าว วิภาฯหนึบ
คนกรุงผวาแยกรัชโยธินหลังปิดซ่อมสะพาน หนีไปใช้เส้นทางอื่นจนถนนแทบจะโล่ง กลับ ไปติดขัดที่ห้าแยกลาดพร้าววิภาวดีฯ แทน เผยสภาพการจราจรวันที่ 2 เริ่มคล่องตัวกว่าวันปิดสะพานวันแรก ส่วนหนึ่งเพราะปล่อยสัญญาณไฟเพิ่มมากขึ้น ยกเว้นช่วงชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้ามีติดขัดบ้าง เตรียมปิดอีกสะพานข้ามแยกบางพลัด 15 ก.ย.
เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานสภาพการจราจรบริเวณแยกรัชโยธิน ซึ่งกทม.ดำเนินการปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธินเพื่อซ่อมเป็นวันที่ 2 ปรากฏว่าตั้งแต่ในช่วงเช้าปริมาณรถในแนว ถ.รัชดาภิเษก สามารถเคลื่อนตัวได้ดี ขณะที่ปริมาณรถในแนวถ.พหลโยธิน ถือว่าติดขัดน้อยกว่าการปิดสะพานเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งกทม.ปิดสะพานข้ามแยกเป็นวันแรก
พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองบช.น. กำกับดูแลงานด้านการจราจร เปิดเผยว่า สภาพการจราจรในเช้าวันนี้ถือว่าคล่องตัวมากกว่าเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะผู้ใช้รถต่างพร้อมใจกันหลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น จึงส่งผลทำให้การจราจรบริเวณห้าแยกลาดพร้าว และแนวถ.วิภาวดีรังสิต ติดขัดแทน อย่างไรก็ตาม หากผู้ใช้ถนนคนใดมีความจำเป็นต้องใช้เส้นทางเดิมสามารถใช้เส้นทางบริเวณแยก รัชโยธินได้ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดให้รถแนวรัชดาภิเษกวิ่งตรงได้ 2 ช่องทางในทางราบ และเปิดให้วิ่งสวนกันได้บนสะพาน
เจ้าหน้าที่จากสถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์ (สวพ.91) แจ้งว่า การจราจรบริเวณสะพานข้ามแยกรัชโยธิน ซึ่งมีการปิดการจราจรเพื่อซ่อม แซมสะพานนั้น พบว่าเช้าวันนี้การจราจรคล่องตัวมากขึ้นกว่าวันแรกที่ปิดซ่อมสะพาน โดยในวันแรกช่องจราจรฝั่งที่ปิดการจราจรไม่เกิดผล กระทบใดๆ แต่ฝั่งตรงข้ามที่ปิดการจราจรเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งน่าจะเกิดจากการปล่อยสัญญาณไฟจราจรบริเวณข้ามแยกที่เพิ่มมากขึ้นจากเดิม ที่ปล่อยเพียง 3 จังหวะ จึงส่งผลกระทบให้รถติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วน โดยเฉพาะตอนเช้าบริเวณถนนพหลโยธิน ตั้งแต่โรงพยาบาลภูมิพล สามแยกเกษตร สะพานรัชโยธิน มีรถติดท้ายแถวอยู่บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลภูมิพล ส่วนถนนเกษตร-นวมินทร์ ท้ายแถวติดยาวอยู่บริเวณถนนนวมินทร์ นอกจากนี้ถนนรัตนธิเบศร์ ข้ามสะพานพระนั่งเกล้า แยกแคราย พบว่าท้ายแถวติดต่อเนื่องยาวถึงสะพานพระนั่งเกล้า อย่างไรก็ตาม วันนี้การจราจรช่วงเวลาเร่งด่วนในตอนเช้า ไม่ติดขัดหนัก รถสามารถวิ่งต่อเนื่องและไม่พบปัญหาใดๆ สำหรับช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเย็นพบว่า การจราจรคล่องตัวขึ้นจากเดิมก่อนปิดสะพานข้ามแยก อาจเพราะผู้สัญจรเลี่ยงไปใช้การจราจรเส้นอื่น
พล.ต.ต.วีระพัฒน์ ตันศรีสกุล ผบก.จร.กองบังคับการตำรวจจราจร กล่าวว่า การจราจรคล่องตัวขึ้นมากกว่าวันแรกที่ปิดการจราจรสะพานข้ามแยกรัชโยธิน รถยังคงเคลื่อนตัวได้เรื่อยๆ ไม่ติดขัดทั้งเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น โดยเฉพาะเย็นรถเยอะแต่ไม่ติดขัดระหว่างเวลา 17.00-19.30 น. หลังจากนั้นถนนโล่ง ไม่พบปัญหาใดๆ คาดว่าเกิดจากผู้สัญจรเลี่ยงใช้เส้นทางอื่นและเจ้าหน้าที่ตำรวจปรับตัวเข้า กับการจราจรในพื้นที่ได้แล้ว ซึ่งผิดคาดจากที่เกรงว่าการจราจรจะติดขัดหนัก นอกจากนี้ในวันที่ 3 ก.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรสน.บางพลัด จะมาประชุมที่กองบังคับการตำรวจจราจร ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อศึกษาจากเจ้าหน้าที่สน.พหล โยธิน ในการปิดจราจรสะพานข้ามแยกรัชโยธิน และนำไปปรับให้เข้ากับพื้นที่บริเวณแยกบางพลัด ก่อนปิดการจราจรสะพานข้ามแยกบางพลัด ในวันที่ 15 ก.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบสภาพการจราจรบริเวณแยกรัชโยธิน หลังจากปิดซ่อมสะพานข้ามแยก สภาพโดยทั่วไปรถยังสามารถแล่นได้ไม่ถึงกับติดขัด จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ทราบว่า สภาพการจราจรยังสามารถเลื่อนไหลได้ ไม่ต่างจากช่วงก่อนซ่อมสะพาน ซึ่งอาจเป็นเพราะประชาชนได้เตรียมตัว ศึกษาเส้นทาง และมีการวางแผนการเดินทางเป็นอย่างดี จึงทำให้เส้นทางดังกล่าวยังสามารถใช้การได้ แต่จะเป็นปัญหามากเมื่อมีฝนตก น้ำท่วมขัง จะทำให้รถชะลอตัวทำให้เกิดปัญหาขึ้น
นายทรงชัย เลิศวรสิริกุล ผอ.กองควบคุมการก่อสร้าง สำนักการโยธา (สนย.) กล่าวว่า ในส่วนของการปิดสะพานข้ามแยกบางพลัด ซึ่งเป็นสะพานตัวที่ 2 ที่จะปิดซ่อมแซมนั้น ขณะนี้สนย.ประชุมเตรียมความพร้อมในการเข้าพื้นที่ รวมทั้งการจัดการจราจรร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว จะเริ่มปิดซ่อมสะพานในวันที่ 15 ก.ย.นี้ รวมระยะเวลา 90 วัน แบ่งปิดฝั่งละ 45 วัน สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่จะพิจารณาจัดการจราจรตามปริมาณรถในเวลา นั้นๆ หากในช่วงใดที่รถติดขัดหนักมากก็จะเปิดให้วิ่งทางเดียว ส่วนเส้นทางเลี่ยงนั้นผู้ใช้รถสามารถหันไปใช้เส้นทางในแนวถ.ปิ่นเกล้า ถ.บรมราชชนนี เป็นต้น คาดว่าหลังจากปิดซ่อมสะพานข้ามแยกบางพลัดแล้ว อาจทำให้ปริมาณรถในแนว ถ.ปิ่นเกล้า ติดอย่างหนักจากเดิมที่ติดหนักอยู่ก่อนแล้ว
ด้านวิศวกรผู้คุมงานของบ.ไออีทีแอล จำกัด บริษัทผู้รับเหมาซ่อมสะพานข้ามแยกของ กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการปิดสะพานข้ามแยกบางพลัดว่า ขณะนี้ผู้รับเหมาได้เข้าไปรื้อเกาะกลางเพื่อทำทางเบี่ยงแล้ว โดยผู้รับเหมาจะปิดฝั่งขาออกที่มุ่งหน้าไปทางฝั่งธนบุรีก่อน อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำประชาชนที่ต้องใช้เส้นทางดังกล่าว ว่า อย่าพยายามใช้เส้นทางลัดเนื่องจากบริเวณ ถ.จรัญสนิทวงศ์ เป็นพื้นที่ที่มีปริมาณรถยนต์ค่อนข้างมาก และมีเส้นทางค่อนข้างจำกัด จึงไม่สะดวกต่อการที่จะใช้เส้นทางลัด เพื่อเลี่ยงสภาพการจราจรติดขัด จึงอยากให้หันมาใช้เส้นทางเลี่ยงแทน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะมีการติดตั้งป้ายเพื่อบอกเส้นทางเลี่ยงให้ทราบอีกครั้ง หรือตรวจสอบเส้นทางหลีกเลี่ยง เส้นทางลัด และติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการปรับปรุงสะพานเหล็กข้ามแยกของ กทม.ได้ที่ www.bangkok.go.th และ http://bkk bridge.homeip.net พร้อมแจ้งปัญหาอุปสรรคการเดินทางจากผลกระทบการจราจรได้ที่สายด่วน กทม.1555
สำหรับสะพานเหล็กข้ามแยกตัวอื่นนั้น ผู้รับเหมาจะทยอยปิดโดยจะเน้นให้ส่งผลกระทบด้านการจราจรน้อยสุด พร้อมทั้งปรับจังหวะสัญญาณไฟจราจรให้เหมาะสมกับปริมาณจราจรแต่ละช่วงเวลา ทั้งนี้ สำหรับสะพานข้ามแยกพงษ์เพชร จะเริ่มปิดการจราจร 1 ต.ค.นี้ ใช้เวลาปิด 90 วัน โดยจะปิดการจราจรด้านละ 45 วัน ดังนั้นขอให้เลี่ยงไปใช้ถ.แจ้งวัฒนะ ถ.รัชดาภิเษก-วงศ์สว่าง ส่วนสะพานพระรามที่ 4 เริ่มปิดการจราจร 1 ต.ค.เช่นเดียวกัน ใช้เวลาปิด 90 วัน โดยจะปิดการจราจรด้านละ 45 วัน ดังนั้นขอเลี่ยงไปใช้ ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ ถ.พระราม 3 ถ.สาทร ถ.จันทน์ ถ.พระราม 1 ถ.สุขุมวิท ถ.วิทยุ ทางด่วนพิเศษด่านพระราม 4 ด่านสาธุประดิษฐ์
สำหรับสะพานข้ามแยกคลองตัน เริ่มปิดการจราจร 1 ธ.ค. ใช้เวลาปิด 180 วัน โดยจะปิดการจราจรฝั่งละ 90 วัน โดยแบ่งปิดการจราจรเป็น 2 ครั้งๆ ละ 45 วัน ดังนั้นขอให้เลี่ยงไปใช้ถ.พระราม 9 ถ.สุขุมวิท ทางด่วนพิเศษด่านพัฒนาการ ด่านพระราม 9 ส่วนสะพานข้ามแยกวงศ์สว่าง เริ่มปิดการจราจร 1 ม.ค.53 ใช้เวลาปิด 90 วัน โดยจะปิดการจราจรฝั่งละ 45 วัน สะพานข้ามแยกเกษตร เริ่มปิดการจราจร 1 เม.ย.53 ใช้เวลาปิด 30 วัน โดยจะปิดการจราจรทั้งสะพาน สะพานข้ามสามเหลี่ยมดินแดง เริ่มปิดการจราจร 1 เม.ย.53 เช่นเดียวกัน ใช้เวลา 30 วัน โดยจะปิดการจราจรทั้งสะพานเช่นเดียวกัน
ส่วนสะพานข้ามแยกประชานุกูล เริ่มปิดการจราจร 1 พ.ค.53 ใช้เวลาปิด 90 วัน โดยจะปิดการจราจรด้านละ 45 วัน สะพานข้ามแยกท่าพระ เริ่มปิดการจราจร 1 พ.ค.53 เช่นเดียวกัน ใช้เวลาปิด 90 วัน โดยจะปิดการจราจรด้านละ 45 วัน ส่วนสะพานเหล็กข้ามแยกอโศกนั้นจะต้องรื้อและสร้างใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างร่างเงื่อนไขทีโออาร์หาผู้รับเหมา ส่วนอีก 2 สะพาน คือ สะพานพระราม 9-ราม คำแหง และสะพานพระราม 9-อสมท ยังไม่กำหนดปรับปรุง