ดาวหางนีโอไวส์ โชว์ตัวอวดหางเหนือฟากฟ้า ในคืนเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 6,767 ปี
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. NARIT เก็บภาพดาวหางนีโอไวส์ ในค่ำคืนที่โคจรมาใกล้โลกที่สุดมาฝากกัน
สำหรับภาพ “ดาวหางนีโอไวส์” ที่บันทึกได้ในครั้งนี้ บันทึกเมื่อเวลาประมาณ 20.30 น. ของเมื่อคืนนี้ (23 ก.ค.) บริเวณอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏชัดทั้งหางฝุ่นและหางแก๊ส ซึ่งเป็นวันที่ดาวหางนีโอไวส์โคจรเข้าใกล้โลกที่สุด นับเป็นโอกาสดีที่คืนดังกล่าวท้องฟ้าบริเวณนี้ใสเคลียร์ เหมาะแก่การบันทึกภาพดาวหางไว้เป็นความทรงจำอย่างยิ่ง หลังจากนี้ ดาวหางดวงนี้จะมีความสว่างลดลง เนื่องจากโคจรออกห่างดวงอาทิตย์และโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับมีแสงจันทร์รบกวน จึงสังเกตเห็นได้ค่อนข้างยาก
ขณะที่มีประชาชนให้ความสนใจติดตามรอชม “ดาวหางนีโอไวส์” เมื่อคืนนี้กันเป็นจำนวนมากที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบกับสภาพท้องฟ้าค่อนข้างโปร่ง ทัศนวิสัยท้องฟ้าดีกว่าหลายวันที่ผ่านมา สดร. จึงตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อให้ประชาชนมาชมดาวหางร่วมกัน เริ่มสังเกตเห็นได้ตั้งแต่เวลา 19.30 น. แม้ว่าจะมีเมฆบดบังเป็นบางครั้ง ประชาชนก็ยังพากันนั่งรอชม จนกระทั่งเวลา 20.30 น. มีเมฆปกคลุมทั่วท้องฟ้า และฝนตก จึงไม่สามารถสังเกตการณ์ดาวหางนีโอไวส์ต่อไปได้
ทั้งนี้ ดาวหางนีโอไวส์ หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) เป็นดาวหางคาบยาว โคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 6,767 ปี ค้นพบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศไวส์ (Wide-field Infrared Survey Explorer : WISE) เป็นกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด ในโครงการสำรวจประชากรดาวเคราะห์น้อยและวัตถุใกล้โลก โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ระยะห่าง 43 ล้านกิโลเมตร และเข้าใกล้โลกที่สุดวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ระยะห่าง 103 ล้านกิโลเมตร
- ดาวหางนีโอไวส์ กับเคล็ดลับตามล่า-เทคนิคถ่ายภาพเบื้องต้น ค่ำนี้เข้าใกล้โลกมากที่สุด
- ดาวหางนีโอไวส์ มาโชว์ตัวแล้ว! เย็นนี้เข้าใกล้โลกสุด ตั้งแต่หลังพระอาทิตย์ตกถึงสามทุ่ม
ความรู้เกี่ยวกับดาวหาง
ดาวหางเป็นเสมือนก้อนของน้ำแข็ง หินและฝุ่น หลายคนเรียกมันว่า “ก้อนน้ำแข็งสกปรก” ที่โคจรไปในระบบสุริยะ ดาวหางส่วนใหญ่มีขนาดค่อนข้างเล็ก (ความกว้างของตัวดาวหางเพียงไม่กี่กิโลเมตร) เราทราบว่ามีดาวหางอย่างน้อย 5,000 ดวงที่อยู่ในระบบสุริยะ นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่ายังมีดาวหางอีกเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน บริเวณระบบสุริยะชั้นนอก ในแถบไคเปอร์ และเมฆออร์ต
ช่วงเวลาส่วนใหญ่ในการโคจรของดาวหางนั้น จะไม่สามารถสังเกตเห็นดาวหางด้วยตาเปล่า แต่พอดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น น้ำแข็งบนตัวดาวหางจะเริ่มอุ่นขึ้นและเกิดการระเหิด (การเปลี่ยนสถานะจากของแข็งเป็นแก๊ส) ไอน้ำและฝุ่นที่ถูกปล่อยออกมาจากการระเหิด ก่อให้เกิดหางเหยียดยาวจากใจกลางของดาวหาง ที่เรียกว่า “นิวเคลียส” ออกไปทางด้านหลัง
ดาวหางมีหางอยู่ 2 แบบ ได้แก่
แบบที่ 1 : “หางฝุ่น” (Dust Tail) เป็นทางของก้อนกรวดเล็กๆ และฝุ่นที่ดาวหางทิ้งไว้ตามแนวการเคลื่อนที่ของดาวหาง
แบบที่ 2 : “หางไอออน” (Ion Tail) เป็นสายธารของแก๊สเรืองแสงที่ถูก “เป่า” โดยลมสุริยะ มีทิศทางชี้ออกจากดวงอาทิตย์ตลอด หางไอออนเป็นหางที่สว่างกว่าหางฝุ่น และเป็นหางเพียงแบบเดียวที่เรามีแนวโน้มจะเห็นได้โดยไม่ต้องอาศัยกล้องโทรทรรศน์
แม้ดาวหางนีโอไวส์ จะกลับมาเยือนโลกอีกครั้งในอีก 6,767 ปี แต่ก็ยังคงมีดาวหางอีกหลายดวงที่จะแวะเวียนเข้ามาใกล้โลกอีกเรื่อยๆ จะสว่างเห็นด้วยตาเปล่าเช่นเดียวกับดาวหางดวงนี้หรือไม่ ต้องรอติดตามกันต่อไป
อัลบั้มภาพ 6 ภาพ