"ผู้ประกอบการภูเก็ต" ครวญ เศรษฐกิจโคม่า หวั่นดิ่งยิ่งกว่า "ต้มยำกุ้ง"
ภูเก็ตยังเงียบ หยุดยาววันแรก หลังรัฐบาลปล่อย ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ พท. ฟังเสียงผู้ประกอบการท่องเที่ยวอัดมาตรการภาครัฐไม่ตอบโจทย์ เชื่ออย่างน้อย 16 เดือนเรียกความเชื่อมั่น
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค และนายสนธยา หลาวหล้าง อดีตผู้สมัคร ส.ส.ภูเก็ต เขต 2 ลงพื้นที่เกาะเฮ จ.ภูเก็ต รับฟังปัญหาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของไวรัสโควิค-19 พบว่าผู้ประกอบการ ผู้ค้าผู้ขาย ธุรกิจโรงแรมที่พัก ได้รับผลกระทบอย่างหนัก หลายแห่งเริ่มปิดกิจการ ซึ่งนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ไม่เดินทางมาท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต ตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สถานการณ์เช่นนี้เป็นสถานการณ์ที่ต่อเนื่อง มาจากกรณีของทัวร์ศูนย์เหรียญ และกรณีเรือล่ม ในจังหวัดภูเก็ต
นายวิสิทธิ์ อิทธิวราภรณ์กุล ผู้ประกอบการเรือ ยืนยันว่า โครงการหรือมาตรการของภาครัฐ "เที่ยวด้วยกัน" ผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ตไม่ได้รับประโยชน์ ส่วนหนึ่งอาจจำเป็นต้องปรับทัศนคติ ที่คนมองจังหวัดภูเก็ตว่ามีค่าใช้จ่ายสูงในการเดินทางมาท่องเที่ยว ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกองคาพยพ ตั้งแต่การเดินทาง ค่าโดยสาร ค่าที่พัก รวมถึงค่าอาหารและค่าใช้จ่ายต่างๆ เหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ถูกปฏิเสธจากนักท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของการท่องเที่ยวของประเทศไทยในเวลานี้ คือการประกาศตัวเลขการระบาดของไวรัสโควิด- 19 ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง เมื่อเทียบกับประชากรที่อาศัยอยู่ใน จ.ภูเก็ต จึงทำให้กลายเป็นพื้นที่สีแดง
ผู้ประกอบการเห็นด้วยหากรัฐประกาศให้มีวันหยุดยาว เพราะเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับการเดินทางโดยใช้รถยนต์มา จ.ภูเก็ต และจะเป็นโอกาสให้ผู้บริโภคในระดับกลางถึงล่าง สามารถมาเที่ยวได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงจนเกินไป โดยผู้ประกอบการที่พักและผู้ประกอบการเรือโดยสาร เห็นตรงกันและประเมินว่าตลาดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ จะยังไม่เดินทางมาประเทศไทยในช่วงนี้ ซึ่งเชื่อว่าอย่างน้อยต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 16-18 เดือน นักท่องเที่ยวจึงเริ่มทยอยกลับมา
วิกฤตยุค ครม.ตู่ หนักกว่าต้มยำกุ้ง
นายภัชธชา ประดับศรีเพชร ผู้ประกอบการเรือ ประเมินว่าสถานการณ์ในปีหน้าของประเทศไทยจะไม่ต่างไปจากปี 2540 และเชื่อว่าอาจหนักหน่วงกว่าที่เคยเป็นมาในสมัยต้มยำกุ้ง นอกจากนี้ยังเห็นว่ามาตรการของรัฐที่ออกมาช่วยเหลือ SMEs ยังไม่สามารถเข้าถึงได้จริง การช่วยเหลือเรื่องเงินกู้ ก็ไม่ได้ละเว้นในส่วนของดอกเบี้ย นี่จึงกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ ที่ทำให้กิจการและผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระ และไม่สามารถเดินหน้าทำกิจการต่อไปได้ จึงต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามเห็นว่ามาตรการของรัฐยังไม่ตอบโจทย์คนทุกลุ่ม ที่จะทำให้เกิดการบริโภคภายใน เพื่อทำให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนได้ จากนี้คาดหวังว่าจะเห็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เข้ามาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการคัดกรองกลุ่มของนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มากกว่าที่จะเน้นการส่งเสริมเชิงปริมาณ ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องไปหามาตรการในส่วนนี้ ขณะเดียวกันต้องสร้างจุดเด่นเพิ่มเติมให้จังหวัดภูเก็ต โดยเห็นว่าประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องสาธารณสุข อาจนำจุดแข็งดังกล่าวมาทำให้เกิดประโยชน์เพิ่มเติมได้หรือไม่
ทั้งนี้คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่าจะรวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนของผู้ประกอบการจากจังหวัดภูเก็ต ให้กรรมาธิการงบประมาณ 2564 ของพรรคเพื่อไทยนำเข้าไปหารือว่าจะสามารถปรับเพิ่มหรือลดงบประมาณส่วนได้บ้าง เพื่อนำมาช่วยเหลือกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือSMEs