สคต.เผย ทำความเข้าใจยุโรปเรื่อง "ลิงเก็บมะพร้าว" ราบรื่น ลุ้นสินค้าไทยกลับมาขายได้

สคต.เผย ทำความเข้าใจยุโรปเรื่อง "ลิงเก็บมะพร้าว" ราบรื่น ลุ้นสินค้าไทยกลับมาขายได้

สคต.เผย ทำความเข้าใจยุโรปเรื่อง "ลิงเก็บมะพร้าว" ราบรื่น ลุ้นสินค้าไทยกลับมาขายได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร รวมถึง สคต. ที่รับผิดชอบดูแลในกลุ่มประเทศยุโรป ได้ร่วมมือกับเอกอัครราชทูตไทยประจำกลุ่มประเทศยุโรป ทำความเข้าใจและชี้แจงข้อเท็จจริงกับผู้ประกอบการในยุโรปและห้างสรรพสินค้าในอังกฤษที่นำผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยออกจากชั้นวาง เนื่องจากองค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม (PETA) ระบุว่า มะพร้าวไทยมาจากการใช้แรงงานลิงกังที่ถูกจับมาจากป่าและถูกนำมาฝึกให้เก็บมะพร้าว จนผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้า และประชาชนในยุโรปเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม โดยในช่วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา ทูตพาณิชย์และหน่วยงานเกี่ยวข้องได้พูดคุยกับตัวแทนห้างสรรพสินค้าในอังกฤษและประเทศอื่นๆ ในยุโรปแล้ว ซึ่งทั้งหมดเข้าใจในวัฒนธรรมของไทย และที่สำคัญมะพร้าวที่เข้ามาแปรรูปในอุตสาหกรรม ใช้แรงงานคนและเครื่องจักร สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้

ส่วนลิงขึ้นมะพร้าว เป็นวิถีชีวิตชุมชนที่อยู่คู่กันมานาน ซึ่งจะฝึกเก็บมะพร้าวบริโภคในท้องถิ่น แต่ไม่เข้าไปในระบบอุตสาหกรรม และบางส่วนก็จะเป็นการโชว์ให้กับนักท่องเที่ยว และทูตพาณิชย์ยังจะไปชี้แจงต่อ PETA ถึงข้อเท็จจริง เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจและรับรู้ความจริง และมั่นใจว่าหลังจากที่ได้ชี้แจงครบถ้วนทุกภาคส่วนแล้ว จะทำให้ผู้ประกอบการในอังกฤษและประเทศยุโรปอื่นๆ รวมถึงประชาชนในยุโรป เข้าใจในเรื่องนี้ดีขึ้น และจะส่งผลให้ห้างสรรพสินค้าที่นำผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยออกจากชั้นวาง จะมีการนำข้อมูลไปพิจารณาหรือทบทวนกรณีดังกล่าวใหม่

ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวแทนกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมะพร้าวของไทย ได้นำเอกอัครราชทูตของประเทศในยุโรป รวมถึงนักข่าวต่างประเทศ ลงพื้นที่ตรวจสอบอุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าว เพื่อให้รับรู้ข้อเท็จจริง กระบวนการผลิตมะพร้าวแปรรูปและน้ำกะทิของไทย รวมถึงขบวนการตรวจสอบแหล่งที่มาของมะพร้าวว่าไม่ใช่มาจากแรงงานของลิงกัง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนได้นำเอกอัครราชทูตในยุโรปที่ประจำอยู่ในไทย เช่น เอกอัครราชทูตจากเนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และเจ้าหน้าที่ของสถานทูตในประเทศอื่นๆ และผู้สื่อข่าวต่างประเทศลงพื้นที่ โดยมีผู้ผลิตน้ำกะทิแบรนด์ชาวเกาะและอร่อยดี มาชี้แจงกระบวนการผลิตและการตรวจสอบแหล่งที่มาของมะพร้าวให้รับทราบ พร้อมทั้งได้นำคณะไปดูล้ง หรือผู้รวบรวมมะพร้าว ที่เป็นเกษตรกรแล้วหันมาเป็นล้ง ซึ่งทั้งหมดสามารถตรวจสอบแหล่งที่มา โดยทั้งหมดจะเป็นแรงงานคนและเครื่องจักร โดยเฉพาะต้นมะพร้าวที่สูง 20-30 เมตรในปัจจุบันก็มีเครื่องมือในการเก็บมะพร้าวแล้ว

ทั้งนี้ สมาคมฯ จะใช้โมเดลของกะทิชาวเกาะและอร่อยดี ในการให้ผู้ประกอบการรายอื่นปฏิบัติตาม ทั้งการตรวจสอบกระบวนการผลิต รวมถึงการชี้แจงข้อมูลให้กับต่างประเทศได้เข้าใจ ซึ่งจากการลงพื้นที่สัปดาห์ที่ผ่านมาเอกอัครราชทูต นักข่าวต่างประเทศ เช่น รอยเตอร์ส ต่างก็มีความเข้าใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรกับลิง รวมถึงกระบวนการผลิตมะพร้าวแปรรูปในภาคอุตสาหกรรมของไทยอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook