ตำรวจตั้งโต๊ะแถลงยอมรับ คดี "บอส อยู่วิทยา" ถือว่าสิ้นสุด แก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว

ตำรวจตั้งโต๊ะแถลงยอมรับ คดี "บอส อยู่วิทยา" ถือว่าสิ้นสุด แก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว

ตำรวจตั้งโต๊ะแถลงยอมรับ คดี "บอส อยู่วิทยา" ถือว่าสิ้นสุด แก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตำรวจแถลงความเห็นไม่แย้งคดี "บอส อยู่วิทยา" ถือว่าสิ้นสุด แก้ไขไม่ได้แล้ว จ่อสอบการใช้ดุลยพินิจของ "พล.ต.ท.เพิ่มพูน" ว่าเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติหรือไม่

วันนี้ (29 ก.ค.) พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.) พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สมชาย พัชรอินโต ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (ผบช.กมค.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดของอัยการ กรณี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ในคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิต เมื่อปี 2555 โดยยอมรับว่า ความเห็นที่ไม่แย้งคำสั่งเด็ดขาดของอัยการในคดีนี้ ขณะนี้ถือว่าคดีสิ้นสุด ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงความเห็นได้อีก

โดยยืนยันว่า การพิจารณาความเห็นที่อัยการส่งมา เป็นการพิจารณาความถูกต้องในข้อกฎหมาย และดูข้อเท็จจริง ไม่มีอำนาจตรวจสอบความเห็นของอัยการ หรือขอให้อัยการอธิบายเหตุผลของการสั่งคดีได้ เพราะเป็นการถ่วงดุลอำนาจในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่สืบหาข้อเท็จจริงว่า การใช้ดุลยพินิจของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะรื้อฟื้นหรือสืบสวนเพิ่มเติม เพราะคดีผ่านชั้นสืบสวนของตำรวจมาแล้ว โดยคณะกรรมการจะเชิญ พล.ต.ท.เพิ่มพูน เข้าให้ข้อมูลในเร็วๆ นี้

ด้าน พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวว่า พนักงานสอบสวน ไม่เกี่ยวข้องกับพยานใหม่ 2 ปาก เนื่องจากอัยการเป็นฝ่ายมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบปากคำเพิ่ม หลังฝ่ายผู้ต้องหายื่นร้องขอความเป็นธรรมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พนักงานสอบสวนจึงทำตามขั้นตอนที่อัยการกำหนดเท่านั้น โดยไม่สามารถก้าวล่วงกับการให้น้ำหนักกับพยาน 2 ปากนี้ พร้อมยอมรับว่า ที่ผ่านมา คดีร้อยละ 97 สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นไม่แย้ง มีเพียงร้อยละ 3 ที่เห็นแย้ง

และโดยทั่วไป ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มอบหมายให้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบคดีตามเขตอำนาจของพนักงานอัยการ จึงสามารถมีความเห็นแย้งหรือไม่แย้งคดีได้ ถือว่าความเห็นเป็นอันสิ้นสุด โดยความเห็นแย้งหรือไม่แย้งไม่ต้องรายงาน ผบ.ตร.ให้ทราบ พร้อมยืนยันว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่การฟอกขาวการไม่แย้งคำสั่งของอัยการของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน แต่จะทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏต่อสาธารณชน และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้สังคมเข้าใจว่า คณะกรรมการทำอะไรบ้าง โดยจะประชุมทุกวัน และแถลงข่าวให้ทราบเป็นระยะ

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการจะพิจารณาใน 3 แนวทาง คือ 1. การสอบสวนและความเห็นชั้นพนักงานสอบสวน 2. การสอบสวนเพิ่มเติมตามความเห็นของอัยการ 3. การตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจไม่แย้งสำนวน ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พร้อมระบุว่า ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ จะไม่มีผลต่อคดีความ เพราะคดีสิ้นสุดแล้ว และจะไม่เกี่ยวข้องกับผลการตรวจสอบของอัยการสูงสุด แต่หากพบว่ามีการใช้ดุลยพินิจไม่ชอบตามกฎหมาย ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาความผิดทางวินัยและอาญาต่อไป

สำหรับคดีนี้ แม้ทางกระบวนการของตำรวจจะสิ้นสุด แต่ครอบครัวผู้เสียหายยังสามารถฟ้องร้องคดีต่อศาลได้เอง ตามกระบวนการยุติธรรม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook