บันเทิงสีรุ้ง
โดย : ทศพร กลิ่นหอม
ในงานบันเทิงมีการนำเสนอเรื่องและภาพของเพศอื่น มาดูว่าในจอหนัง ทั้งหนังสั้น หนังยาวและจอแก้ว ภาพของเพศอื่นๆ ปรากฏอยู่อย่างไรบ้าง
หนังสั้นความสัมพันธ์แบบเควียร์ๆ (Queer)
พาดหัวแบบนี้ชวนให้สงสัยว่า "หนังสั้น" พวกนี้เป็น "ประเภทไหน" หรือเป็น "เพศ" ไหนกันแน่ จึงได้ถูกจัดแยกย่อยให้เป็นโปรแกรมเดี่ยวๆ Queer short films program ในงานเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 13 เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โปรแกรม Queer จัดมาเป็นปีที่สองแล้ว เพื่อสะท้อนสถานะของหนัง กับความสัมพันธ์ระหว่าง "เพศ" ที่หลากหลายขึ้น
คนชี้แจงเรื่องนี้ คือ สัณห์ชัย โชติรสเศรณี ผู้ประสานงานเทศกาลหนังสั้นฯ เริ่มที่คำว่า เควียร์ (Queer) คืออะไร มาจากไหน
"ง่ายๆนะ คำนี้เดิมมันเป็นสแลง คำด่า แปลคร่าวๆ ว่า พิลึกกึกกือ ซึ่งมีความหมายค่อนข้างลบ ต่อมามันถูกเลือกให้เป็นชื่อกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อการยอมรับในสังคมเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ของเพศอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ชายจริงหญิงแท้คู่กัน เพราะฉะนั้นหนังแบบ Queer จะพูดถึงความสัมพันธ์ที่มากกว่าคู่ชายหญิง และไปไกลกว่ากรอบหนังเกย์ หรือหนังเลสเบี้ยนด้วยนะ มันจะเป็นการแต่งหญิง การแปลงเพศ การสัมพันธ์ข้ามเพศเกย์รักกับทอม ดี้กับกะเทย ฯลฯ"
สัณห์ชัยอธิบายต่อว่า ในต่างประเทศหนังที่เล่าความสัมพันธ์เกย์และเลสเบี้ยนนั้น ได้ไปไกลกว่า แค่การแสดงตัวตนให้สังคมยอมรับ และการรักในเพศเดียวกันเท่านั้น
"ในโปรแกรม Queer short film ที่ฉายในปีนี้ มีหนังที่แสดงให้เห็นการทะลุกรอบเรื่องเพศ (สภาพ) เราได้ไอเดียนี้มาจากที่เห็นในเทศกาลหนังอื่นๆ อย่างที่ เบอร์ลิน เขามีสายเท็ดดี้ แบร์ ที่มีหนังเควียร์ที่เนื้อหาและการนำเสนอน่าสนใจ ประเด็นหลากหลาย มันไปถึงการพูดการเป็นครอบครัวของคู่เพศอื่นๆ แล้ว"
การจัดโปรแกรมนี้เป็นปีที่สองในเทศกาลหนังสั้นไทย สัณห์ชัย ชี้จุดมุ่งหมายที่ "การเปิดโลก" เพราะแม้ในยุโรปจะมี "ตลาดหนังรองรับ" เกี่ยวกับชีวิตเพศอื่นๆ เป็นเรื่องเป็นราว ทั้งเคเบิ้ลทีวีที่จัดฉายหนังแนวนี้ แต่ในประเทศไทยอาจจะยังอยู่ในระยะทำความเข้าใจ และหาวิธีที่จะรับมือการมีอยู่ของคนเพศอื่นๆ
หนังสั้นไทยที่อยู่ในโปรแกรมหนัง queer ปีนี้มีเรื่องเดียวชื่อ "อาหาร สามหมู่" ซึ่งเล่าความสัมพันธ์ของเพื่อนชาย ในระดับมาตรฐานโปรดักชั่นที่ดี และเล่าเรื่องได้สนุกพอสมควร
แต่หนังเหล่านี้สะท้อนการมีอยู่ของคนเพศอื่นๆ ในสังคมไทยอย่างไรหรือไม่นั้น สัณห์ชัย บอกว่า สังคมไทยยังติดรูปแบบ "ต้องเสนอออกมาในภาพลักษณ์ดีเท่านั้นคนจึงจะยอมรับ หรือไม่ก็ต้องเสนอชีวิตรันทดออกมาเลย ทั้งที่จริงมันมีมิติที่เล่ามากกว่านั้น เพียงแต่อาจต้องมีคนกล้าทำหน่อย เปลือยชีวิตออกมาเลย แต่ไม่ใช่ออกแนวโป๊เปลือย"
เรื่องการตลาดก็ยังเป็นปัจจัยที่สัณห์ชัย เชื่อว่า กระทั่งหนังสั้นเอง ก็มีตลาดของตัวเอง และหนังสั้นที่เสนอเนื้อหาแนวนี้ก็มีตลาดเฉพาะกลุ่มอยู่ แต่ส่วนใหญ่อยู่ที่ต่างประเทศ
"ต่างประเทศมี niche market สำหรับหนังพวกนี้อยู่ชัดเจน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ อย่างบ้านเราก็อาจจะถือว่าเข้าข่าย ตัวอย่าง โรงเฮ้าส์ที่อาร์ซีเอ หนังแบบนี้เข้าเมื่อไหร่ โรงแตก และถ้าดูตามประชากรของเมือง เมืองแบบพัทยาหรือภูเก็ตก็น่าจะเปิดตลาดนี้ได้ โดยเฉพาะเมื่อมองศักยภาพของผู้ชมในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะไม่มีครอบครัว ไม่มีลูกให้เลี้ยง มีรายได้สูงพอสมควร สามารถจะจ่ายในการเสพศิลป์ได้มากกว่ากลุ่มชายจริงหญิงแท้ที่ต้องเลี้ยงลูก เลี้ยงครอบครัวอีก"
หนังใหญ่ 'ลักลั่น' แห่งสยาม
"รักแห่งสยาม" หนังไทยที่กวาดไปหลายรางวัลหลังจากออกฉายปลายปี พ.ศ. 2550 แม้จะใจกล้าให้เด็กหนุ่มหน้าใสอย่าง มาริโอ้ และ วิชญ์วิศิษฐ์ แสดงบทจูบปากกันในเรื่อง และสิ่งที่ผู้กำกับ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล บอกในบทสัมภาษณ์หลายครั้งว่า หนังไทยเรื่องนี้ได้ปักธงในแผนที่หนังไทยแล้วว่า เรื่องของชายรักชายเกิดขึ้นในจอได้ แบบไม่ต้องตลก หรืออีโรติกเท่านั้น
ในอีกมุมหนึ่ง หนังยังสะท้อนความลักลั่นของสังคมไทยในปัจจุบัน กับการยอมรับ "ภาพชายรักชาย" ทว่าเมื่อถึงบทสรุป หนังยังเปิดทางเลือกให้คนดูและผู้ปกครองสบายใจขึ้นมาอีกขั้นว่า หนุ่มน้อยอาจจะแค่หลง (ทาง) ไปเท่านั้นเอง
"พูดอย่างกลางๆ ในมุมของคนดูหนังคนหนึ่ง ตอนนี้มันยังลักลั่นอยู่ เพราะยังไม่แน่ใจว่า ระบบจัดเรตของโรงหนังมันจะมีผลกระทบต่อการเซ็นเซอร์ตัวเองขนาดไหน เพราะดูเหมือนว่า การเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของเพศอื่นๆ นอกเหนือจากชายจริงหญิงแท้ ยังถูกมองเป็นเรื่องเสื่อมเสียศีลธรรมในสังคมนี้อยู่ดี"
เป็นความเห็นของ ธัญสก พันสิทธิวรกุล โดยเขามีผลงานหนังสั้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์คู่ชายกับชายอย่างต่อเนื่อง (ดูรายละเอียดได้ใน www.thaiindie.com) แต่หนังของเขามักจะส่งฉายตามเทศกาลต่างประเทศ เนื่องจากเนื้อหาและภาพที่อาจจะดู "แรง" ไปสำหรับมาตรฐานศีลธรรมและการ เปิด(เปลือย)ใจ ของสังคมการดูหนังในเมืองไทย หนังของเขาจึงเป็นหนังใต้ดินมากกว่าและตลาดหนังอยู่ที่ต่างประเทศ
ขณะที่หนัง รักแห่งสยาม สามารถจับ niche market ได้เหนียวแน่น จากปริมาณการฉายซ้ำในโรงภาพยนตร์ แบบจัดเก็บค่าชม หลายต่อหลายรอบ ทั้งๆ ที่ผ่านช่วงเวลาปล่อยฉายปกติในโรงภาพยนตร์สองเดือนแรก (พ.ย.2550-ก.พ.2551) หนังยาวของไทยในระดับหน้าหนังเดียวกันกลับยังไม่มีให้เห็น และยังต้องแอบแฝงอยู่ในหน้าหนังวัยรุ่น และแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์นอกแบบชาย-หญิงไว้
Roommate เพื่อนร่วมห้อง (ต้อง) แอบรัก มีตัวละครคู่ของเพื่อนหญิง ที่ส่อเค้าว่าอาจจะแอบรักกัน แต่ก็เป็นเพียงเนื้อหาที่บางเบาซ่อนอยู่หลังความสัมพันธ์ของกลุ่มวัยรุ่นชาย หญิงแบบเพื่อนแอบรักเพื่อนสนิท
สัณห์ชัย พูดถึงหนังจอเงินของไทยว่า ในกลุ่มที่เสนอความสัมพันธ์หลากเพศแบบไม่ล้อเลียนนั้น ดูเหมือนจะยังไม่มีจุดสมดุล ระหว่างตลาดกับตัวหนัง "ก็มีความพยายามที่จะทำนะ แต่หนังไทยที่ออกมามันไม่สำเร็จคือ ถ้าไม่ดู cheap ทั้งในแง่เนื้อเรื่องและการเล่าเรื่อง ซึ่งกลุ่มคนดูที่เป็นแนวมีรายได้สูงมีรสนิยมก็จะไม่ดูอีก แต่พอไม่มีตลาดรองรับ นายทุนก็อาจจะไม่กล้าลงทุนในโปรดักชั่นที่ดีมากพออีกนั่นแหละ"
ธัญสก ช่วยเสริมประเด็นนี้ว่า "บ้านเราก็มีแต่ หนังของพจน์ อานนท์ ที่อยู่ในตลาดได้ เท่าที่เห็นตอนนี้ คือมีคนพยายามทำในแนวคล้ายๆอย่างเรื่อง Rainbow Boy หรือ สีลม ซอย 2 ก็ไม่สามารถเทียบได้ มันยังเป็นแค่เรื่องล้อเล่นกับความเป็นเพศอื่นของตัวเองมากกว่า หลังรักแห่งสยามที่มีกระแสตอบรับดี แต่ก็ไม่มีเรื่องอื่น กระทั่งรักแห่งสยามเองก็ลักลั่น ทั้งที่ตัวละครมาริโอ้ บิลต์มาขนาดนั้น เป็นคนวิ่งตามและจูบเขาก่อนด้วย ตอนจบกลับมาตัดจบแบบว่า เราเป็นเพื่อนกันเถอะ"
คำว่า "ลักลั่น" ยังถูกใช้อธิบายมุมมองที่มีต่อการเสนอภาพตัวละครแต่งหญิง ในรายการบันเทิงทางโทรทัศน์ ทั้งแบบที่เป็นวาไรตี้โชว์ และละครโทรทัศน์ โดยคนให้ความเห็นชื่อ ธัญสก ยกตัวอย่างว่า
รายการ สุภาพบุรุษบอยแบนด์ ทางช่อง 3 ให้ผู้เข้าแข่งขัน มาแต่งตัวและโชว์ท่าเต้นของวงผู้หญิงอย่าง วันเดอร์เกิร์ล หรือ ปีที่แล้วบนเวทีอคาเดมี แฟนตาเซีย (AF) คู่ของ 2 หนุ่ม "ณัฐ กับ ต้อล" ถูกจับคู่ให้มีเค้าลางของความสัมพันธ์เกินเพื่อนชายปกติ ที่สามารถเรียกคะแนน และได้รับความนิยมจากผู้ชม "ภาพพวกนี้ถูกท้วงติงจากกระทรวงวัฒนธรรม ว่าไม่เหมาะสม มันก็เลยกลายเป็นว่า จะเปิดก็เปิดไม่ได้ จะปิดก็ไม่มิด เป็นอาการลักปิดลักเปิด"
และการจับนักแสดง "มาดแมน" ยกตัวอย่าง กรณี พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง ใน พระจันทร์สีรุ้ง ละครหลังข่าวช่อง 3 ให้มาเล่นเป็นกะเทย และในเรื่องเดียวกัน ให้ บี้ เดอะ สตาร์ ที่ถูกกล่าวหาว่า "มาดไม่แมน" มาสวมบทพระเอกชายแกร่ง
ดูเหมือน ผลกระทบสำคัญจะยังเป็นการจุดประเด็นของ "การพลิกบทบาท" ของนักแสดงที่มีภาพติดตัวมานาน และเป็นการเสนอ "จุดขาย" ในธุรกิจบันเทิง
"ยังไม่ค่อยเห็นมุมอื่นๆ ของชีวิตคนที่เป็น "เพศอื่น" ที่นอกเหนือจากการต่อสู้เพื่อเปิดเผยตัวเอง และการแสดงชีวิตที่เป็นปกติ ของคนที่ถูกมองว่าไม่ปกติ ถ้าพูดถึงสื่อภาพเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นหนังหรือละคร มุมอื่นของชีวิตเพศอื่นยังไม่ค่อยมี" ธัญสก สรุปประเด็น และเสริมต่อว่า
"ถ้าเทียบกับ นิยายที่เป็นแค่ตัวหนังสือ ไม่นับการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีมานานแล้ว การแสดงความสัมพันธ์ข้ามพรมแดนเพศแค่สองเพศ มันกลับ "ล้ำ" และเปิดเปลือยเนื้อหาได้มากกว่า"
* หนุ่มหล่อ แต่งหญิง ขำกลิ้ง น่าเอ็นดู
ละครซิทคอม ตลกโรแมนติก การแปลงร่างสลับเพศ เพื่อความสนุกสนาน อาจจะเรียกได้ว่าเป็น "สีสันของตัวละคร"
สัณห์ชัย ในฐานะเจ้าหน้าที่มูลนิธิหนังไทย เล่าถึงธรรมเนียมการแต่งหญิง ของดาราชาย ที่เป็นไปเพื่อเสริมสร้างสีสันในหนังไทยรุ่นเก่า ว่า
"จริงๆ มันมีมานานแล้วล่ะ" ในหนังไทยมีตั้งแต่ "สาวดาวเทียม" ปี พ.ศ.2503 แสดงโดย ดอกดิน กัญญามาลย์ สมควร กระจ่างศาสตร์ และ อมรา อัศวานนท์ ที่น่าจะได้อิทธิพลมาจาก Some Like it Hot หนังปี ค.ศ. 1959 ที่มีพระเอกมาดแมนอย่าง โทนี่ เคอร์ติส ใส่วิกใส่บราเพื่อได้ใกล้ชิดตัวนางเอกที่แสดงโดย มาริลีน มอนโร มากขึ้น
"ในแง่ของการเล่าเรื่อง สานความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครพระเอกและนางเอก การแต่งหญิง หรือหญิงแต่งชาย รวมไปจนถึงการสลับร่าง มันกลับเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศและอารมณ์โรแมนติก ที่พิสูจน์ด้วยระยะเวลามาจนถึงทุกวันนี้แล้ว ผู้ชมชอบมันและรับได้ด้วย"
กลับมาที่จอแก้ว ฐนิตา ยมวรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัท มิราบิลิส จำกัด ผู้ผลิตละครซิทคอมช่วงบ่ายวันอาทิตย์ทางช่อง 7 ที่เพิ่งมีผลงานเรื่อง "สายสืบเสียงทอง" ออกอากาศเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นำแสดงโดย น้ำ-รพีภัทร เอกพันธุ์กุล พระเอกหนุ่มที่ได้สวมชุดและแต่งหน้าทำผมเป็นเพศหญิง ในละครเรื่องนี้หลายครั้ง ตามบทนายตำรวจหน่วยสืบสวนที่ต้อง "ปลอมตัว" ตามสะสางคดี
ฐนิตา อธิบายว่า การแต่งหญิงของพระเอกหนุ่ม เป็นไปตามบทละคร "มันรองรับเนื้อเรื่อง จริงๆ น้ำ-รพีภัทรเขาต้องปลอมตัวหลายแบบ ตั้งแต่เป็นตี๋ใหญ่ ซินแสจีนจนถึงแต่งหญิง ซึ่งฟีดแบ็คต่อตัวน้ำค่อนข้างดี ทั้งจากบทบาทที่เหมาะกับบุคลิกของเขา ตัวละครจะเจ้าชู้ กะล่อน และขี้เล่น พอจับแต่งตัวเป็นนั่นเป็นนี่ เจ้าตัวเขาก็อินด้วย เล่นได้ลื่น คือเทคนิคปลอมตัว นี่คนดูชอบนะ และมันมีที่มาที่ไปว่าทำไมตัวละครต้องปลอมตัวด้วย"
การตอบรับที่ดีจากผู้ชม ทำให้ละครซิทคอมแนวนี้ของค่ายมิราบิลิส มีภาคสอง ซึ่งยังคงจะใช้ สีสัน การปลอมตัวและแต่งตัวหลากหลาย
ฐนิตา บอกต่อว่า ถ้าเป็นประเด็นแต่งหญิงแล้ว ภาพของตัวละครที่ออกมาเป็นแง่บวก จะได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้ชมซึ่งตามช่วงเวลาออกอากาศ กลุ่มเป้าหมายจะมีทุกเพศทุกวัย
"พระเอกแต่งหญิง เป็นแค่เทคนิคการปลอมตัว ซึ่งเป็นไปในแนวฮีโร่ เป็นคนดีช่วยเหลือสังคม คนรับได้อยู่แล้ว"
แต่นอกเหนือจากแนวทางที่ต้องเสนอภาพบวกในช่วงเวลากลุ่มผู้ชมวงกว้างแล้ว สำหรับละครในช่วงเวลาอื่นๆ ฐนิตา ให้ความเห็นว่า
"เชื่อว่า ผู้ผลิตละครจะนำเสนอมุมที่จะทำให้คนรักตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน และการแต่งหญิงของตัวละครชาย จริงๆ เรื่องแบบนี้ทุกคนยอมรับได้ ต้องถือว่าเป็น สีสัน ของเรื่อง เหมือนเมื่อก่อนจะเป็นนางร้าย มีตัวผู้ช่วยพระเอกนางเอก จะเห็นว่ามีหลายเรื่องที่ตัวละครเกย์ กะเทยหรือหนุ่มแต่งหญิง ได้กลายเป็นผู้ช่วยพระเอก ผู้ช่วยนางเอก ทำให้คนดูรักเขาด้วยซ้ำ ไม่ใช่การเสนอภาพเสียหาย"
แนวคอมมิดี้ ที่ฐนิตาบอกว่า ตัวละครกับการปลอมตัว เป็นมุขที่ใช้ได้ผล เพราะความเป็นกลางๆ ที่ทุกคนสนุกสนานกับมันได้
ขณะที่ภาพของหนุ่มหน้าใส ออกมาแต่งหญิงให้แฟนสาวๆกรี๊ด ในรายการแนววาไรตี้โชว์ พบเห็นได้ทั่วไปในรายการต่างๆ จุดมุ่งหมายเพื่อความ "สนุก ขำๆ"
"มันเป็นแค่ช่วงหนึ่งของรายการ และนานๆ จึงจะทำกันสักที ถือว่าเป็นโชว์ที่ไม่เคยทำมาก่อน และอยากให้มีหลากหลาย เช่นการแลกกันร้องเพลงระหว่าง ศิลปินชาย-หญิง หรือ ให้น้องๆบอยแบนด์ (Nice to Meet You) มาแต่งเป็นตัวละครสาวๆ ล้อละครซิทคอม แดดดี้ ดูโอ คุณพ่อจอมเฟี้ยว บ้าง และมันก็ไม่ได้แต่งหญิงน่าเกลียด หรือบางทีก็อาจจะให้แต่งเป็นเกิร์ลลี่ เบอรี่ อะไรแบบนี้ ตามคาแร็คเตอร์ของรายการไม่ได้เน้นซีเรียส" โปรดิวเซอร์รายการ ทีนพลัส โชว์ ที่นำศิลปินวัยใสจากค่ายกามิกาเซ่ มาโชว์พิเศษเพื่อตอบสนองแฟนเพลงวัยรุ่นกลุ่มเป้าหมาย เผยเบื้องหลัง
เมื่อถามถึงการจับหนุ่มบอยแบนด์มาแต่งสวย ซึ่งในกลุ่มบอยแบนด์ดังระดับเอเชีย อย่าง เกาหลี ญี่ปุ่น มักจะเล่นล้อกับความสัมพันธ์ระยะประชิดของหนุ่มๆ ผ่านรายการทีวี ที่ได้ผลตอบรับจากแฟนเพลงสาวๆ ในแง่ดี สำหรับกรณีของทีนพลัสโชว์ โปรดิวเซอร์รายการย้ำว่า การแต่งหญิงนั้น
"เป็นแค่ performance หนึ่งในรายการเรา ที่มันสามารถทำได้ ไม่ได้เป็นพิษเป็นภัย เพราะเราเองก็ระวังเรื่องภาพลักษณ์ของศิลปินเหมือนกัน แต่แฟนคลับที่เขารู้จักมักคุ้นกันดี เขาจะรู้ว่านั่นคือการแสดง และเป็นเรื่องเฮฮา ขำๆ กันไป ไม่ได้เน้นส่อไปในทาง sexual อะไร"