"บิ๊กตู่" สั่งจัดการเด็ดขาด "แกนนำม็อบ" คดีค้างเก่าเยอะแล้วยังกลับมาปลุกปั่น
นายกรัฐมนตรีสั่งดำเนินคดีเด็ดขาดกับ แกนนำม็อบ ที่มีคดีเก่า แต่ยังกลับมาปลุกปั่นมวลชนทำผิดซ้ำซาก ปัดตำรวจตระเวนชายแดนเตรียมสถานที่ไว้เพื่อรองรับผู้ชุมนุมกลุ่มเยาวชนปลดแอก
พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับเรื่องสถานการณ์การชุมนุม เพื่อแสดงออกทางการเมืองในช่วงนี้ว่า ให้ตำรวจดำเนินคดีเด็ดขาด กับกลุ่ม แกนนำม็อบ ที่มีหมายจับค้างเก่า มีคดีติดตัว หรือ ได้รับการประกันตัวออกมา แล้วกลับมายุยงปลุกปั่นให้การชุมนุม ไม่เป็นไปตามกฎหมาย กลับมากระทำผิดซ้ำ ด้วยการจัดการชุมนุมตามสถานที่ต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบ
ส่วนกลุ่มนักศึกษา และเยาวชน ที่มีการออกมาเคลื่อนไหว แสดงออก และอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายนั้น หลังจากระยะเวลาต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ขอให้ยึดปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ โดยการแจ้งการชุมนุมก่อนล่วงหน้า ซึ่งตำรวจไม่ขัดข้อง หากเป็นการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตย ไม่ขัดต่อกฎหมาย
สำหรับที่มีกระแสข่าวเรื่อง ตำรวจตระเวนชายแดน จัดเตรียมสถานที่ไว้ เพื่อรองรับ ผู้ชุมนุมกลุ่มเยาวชนปลดแอกนั้น พล.ต.ท.ปิยะ ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง โดยหน่วยงานความมั่นคง ได้มีการตรวจสอบไปยังตำรวจตระเวนชายแดนแล้ว พบว่า เป็นการสั่งการภายในของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อตรวจสอบ และจัดการสถานที่ตามปกติ ไม่ได้มีนัยยะใดๆ และไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี แถลงว่า มีความเป็นห่วงการชุมนุมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจพิจารณาการใช้กฎหมายที่เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องสั่งการใดๆ เป็นพิเศษ
นายกรัฐมนตรี บอกด้วยว่า ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่อย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในประเทศไทย ต้องเคารพกฎหมายทุกฉบับ ดังนั้น การเป็นเจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติงานอย่างระมัดระวัง และมีความชอบธรรม
หลายคนทราบดีว่า ยังมีคนฝ่าฝืนกฎหมายอยู่ จึงจำเป็นต้องดำเนินการในหลายกรณีที่เกิดขึ้น ให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย เพื่อคนในประเทศ
หากบ้านเมืองไม่มีเสถียรภาพ มีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย จะทำให้การพัฒนาล่าช้า และเดินหน้าประเทศล่าช้าเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาเดิมๆ ที่ต้องพยายามแก้ไข ขณะเดียวกันปัญหาใหม่ต้องลดลงให้ได้ จึงขอความร่วมมือสื่อมวลชนและทุกคน
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ต่อไปอีก 1 เดือน จนถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้ แต่ข้อกำหนดจะสอดคล้องกับมาตรการผ่อนปรน ซึ่งจะสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ใกล้เคียง กับสถานการณ์ปกติมากขึ้น และจะตัดการบังคับใช้ในมาตรา 9 เรื่องการห้ามชุมนุม ออกไปด้วย
คำสั่ง/ข้อห้ามหลัก มาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
- ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่ หรือสถานที่ซึ่งมีความเสี่ยง ต่อการติดต่อเชื้อโรคโควิด-19
- ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค
- ปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร ในการใช้ยานพาหนะไม่ว่าจะเป็นอากาศ ยาน เรือ รถยนต์ หรือพาหนะอื่นใด หรือในการใช้เส้นทางคมนาคมไม่ว่าทางอากาศ ทางน้ํา หรือทางบก เพื่อเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
- ห้ามกักตุนสินค้า ห้ามผู้ใดกักตุนสินค้า ซึ่งเป็นยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม หรือสินค้าอื่น ที่จําเป็นต่อการอุปโภค บริโภค ในชีวิตประจําวัน
- ห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทําการดังกล่าว อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
- ห้ามการเสนอข่าว เกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) อันไม่เป็นความจริงและอาจทําให้ ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอันทําให้เกิดความเข้าใจผิด
- ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ
โทษตามมาตรา 18 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
- จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- อาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
- อาจมีความผิดตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้า และบริการ พ.ศ. 2542 โทษจําคุกไม่เกิน 7 ปีหรือปรับไม่เกิน140,000หรือทั้งจําทั้งปรับ แล้วแต่กรณี