ภูมิรัฐศาสตร์ 3: รู้จัก "ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี" ผ่านสงครามไทยพม่าบนลุ่มแม่น้ำ 3 สาย

ภูมิรัฐศาสตร์ 3: รู้จัก "ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี" ผ่านสงครามไทยพม่าบนลุ่มแม่น้ำ 3 สาย

ภูมิรัฐศาสตร์ 3: รู้จัก "ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี" ผ่านสงครามไทยพม่าบนลุ่มแม่น้ำ 3 สาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้คนไทยได้ยินคำว่ายุทธศาสตร์ (strategy) โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจนเบื่อ เซ็ง ไม่เข้าใจและเกลียดชังคำว่ายุทธศาสตร์กันแทบทุกคน ส่วนพวกที่เรียนทางการบริหารธุรกิจ รัฐประศาสนศาสตร์ บริหารการศึกษา หรือวิชาการบริหารทั่วไปก็มักจะคุ้นกับคำว่ากลยุทธ (strategy) มากกว่า

เมื่อหน่วยราชการทุกหน่วยต่างต้องทำแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานของตนโดยใช้แบบฟอร์มหลักแบบเดียวกันซึ่งใช้ทั้งยุทธศาสตร์ (strategy) กับกลยุทธ (strategy) ในรูปแบบของยุทธศาสตร์ (strategy) กับยุทธวิธี (tactics) โดยพยายามอธิบายว่ากลยุทธคือยุทธวิธีนั่นเอง  ดังนั้นแผนยุทธศาสตร์จึงทำให้เกิดความสับสน มั่วซั่วกันทุกหน่วยงานราชการ

คำว่า Strategy นี้มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคือ Strategia แปลว่า "การเป็นนายทัพ" ซึ่งเป็นเรื่องของการทหาร เรื่องศึกสงครามโดยแท้ ซึ่งถ้าใช้ในทางทหารและใช้คู่กับคำว่ายุทธวิธีด้วยก็จะเข้าใจได้ง่ายมาก โดยเฉพาะอย่างถ้ายึดเอาคำอธิบายจอมพลอาร์ชิบัลด์ เพอซิวาล วาเวล นายทหารใหญ่ทั้งสองสงครามโลกชาวอังกฤษที่ว่า "ยุทธศาสตร์คือ ศิลปะของการนำกำลังทหารเข้าสู่สนามรบอย่างได้เปรียบต่อกองทัพของศัตรูส่วนยุทธวิธีคือ ศิลปะของการใช้กำลังทหารในสนามรบ"

พลตรี คาร์ล ฟอน เคลาเซวิตซ์ นักการทหารชาวเยอรมันที่นักเรียนเสนาธิการทหารทุกเหล่าทัพต้องรู้จัก กล่าวว่า "ยุทธศาสตร์คือ ศิลปะของการต่อสู้ในสนามรบเพื่อนำไปสู่การชนะสงครามส่วนยุทธวิธีคือ ศิลปะการใช้กำลังทหารในสนามรบ" ซึ่งครูใหญ่ทางเสนาธิการทหารเยอรมันผู้นี้เน้นว่า สนามรบกับสงครามนั้น สนามรบมีมากแห่งแต่สงครามมีเพียงสงครามเดียว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องชนะในทุกสนามรบ (สมรภูมิ) ก็ได้

ตัวอย่างที่จะทำให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดแจ้งก็คือ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น อังกฤษมีทรัพยากรจำกัดสำหรับการที่จะทุ่มกำลังรบอย่างเต็มที่ ทั้งสมรภูมิด้านยุโรปที่ต้องรบกับเยอรมันและอิตาลี และสมรภูมิทางด้านเอเชียที่ต้องรบกับญี่ปุ่น ดังนั้นจึงต้องมียุทธศาสตร์ที่จะทุ่มกำลังส่วนใหญ่ในการรบที่ยุทธภูมิยุโรป ส่วนทางด้านเอเชียนั้นก็เพียงแต่ตรึงกำลังไม่ให้ญี่ปุ่นรุกคืบหน้ามาได้เท่านั้น

หากจะอธิบายแบบง่ายๆ แบบ oversimplify เพื่อไม่ให้สับสนก็ยกตัวอย่างการที่คนๆ หนึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ ต้องการจะเดินทางไปเชียงใหม่การกำหนดยุทธศาสตร์คือการกำหนดทิศทางว่าจะเดินทางไปทางทิศไหนซึ่งสำคัญมากหากกำหนดว่าจะเดินทางไปทางทิศใต้ก็ถือว่ากำหนดยุทธศาสตร์ผิดอย่างจังนั่นเอง ส่วนยุทธวิธีก็คือเลือกการเดินทางตามแต่จะสะดวกหากมีเงินเหลือเฟือหรือมีเรื่องเร่งด่วนก็บินไป หากไม่มีเงินก็เดินไป หรือไม่เร่งด่วนและแข็งแรงพอก็ขี่จักรยานไปเป็นต้น

ต่อไปนี้จะยกตัวอย่างทางภูมิรัฐศาสตร์จากประวัติศาสตร์เรื่องที่ว่าทำไมพม่าจึงรบกับไทยบ่อยเหลือเกินอ้างตามพงศาวดารดังนี้:

"ตามเรื่องราวที่ปรากฎมาในพงษาวดาร เมื่อกรุงศรีอยุทธยาเป็นราชธานี ไทยได้ทำสงครามกับพม่า ๒๔ ครั้ง ต่อมาถึงเมื่อกรุงธนบุรีแลกรุงรัตนโกสินทรเปนราชธานี ได้ทำสงครามกับพม่าอิก ๒๐ ครั้ง รวมเปน ๔๔ ครั้งด้วยกัน ในจำนวนสงครามที่ว่ามานี้ ฝ่ายพม่ามาบุกรุกรบไทยบ้าง ฝ่ายไทยไปบุกรุกรบพม่าบ้าง จะว่าด้วยพม่ามาบุกรุกรบไทยก่อน การสงครามที่พม่ายกมาตีเมืองไทย รบกันเปนยุคใหญ่แต่ ๒ คราว คือ เมื่อรบกับพระเจ้าหงษาวดี ๓ องค์ติดๆ กัน ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จนตลอดแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เปนระยะเวลา ๕๗ ปีคราว ๑ แลมารบกับพระเจ้าอังวะ ๓ องค์ ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเอกทัศที่กรุงเก่า มาจนตลอดแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ในกรุงรัตนโกสินทรเปนระยะเวลา ๕๐ ปีอิกคราว ๑ ที่ว่าระยะเวลา ๕๗ ปี แล ๕๐ ปีนั้นหมายความว่าตั้งแต่แรกเริ่มรบกันจนจบเรื่องที่ทำสงครามกันในยุคนั้น รวมทั้งเวลาว่างระหว่างสงคราม บางทีมีคราวละหลายๆ ปี หาได้รบกันทุกจำนวนปีที่ว่ามานั้นไม่.

อนึ่งชาวเรามักเข้าใจกันมาแต่ก่อนโดยมาก ว่าเมื่อคราวรบศึกพระเจ้าหงษาวดีนั้น ไทยรบกับมอญ เพราะเมืองหงสาวดีเปนราชธานีของรามัญประเทศ ก็เชื่อว่าพระเจ้าหงษาวดีเปนมอญ แต่ความจริงมิใช่เช่นนั้น พระเจ้าหงษาวดีที่มารบกับไทย สภาพเปนพม่าทุกองค์ ต้นวงศ์อยู่เมืองตองอู ครั้งนั้นปราบปรามได้ทั้งประเทศพม่ารามัญรวมไว้ในราชอาณาจักรอันเดียวกัน ตั้งเมืองหงษาวดีเปนราชธานี จึงได้ปรากฎพระนามว่าพระเจ้าหงษาวดีทั้ง ๓ องค์ แต่ส่วนมอญนั้นหาได้ปรากฎว่าเคยเปนสัตรูกับไทยโดยลำพังไม่ ที่มอญมารบพุ่งกับไทยคราวใด ก็โดยถูกพม่าบังคับให้มาในเวลาตกอยู่ในอำนาจพม่า ถ้าได้โอกาศเมื่อใดมอญก็กลับเปนสัตรูพม่า บางทีทนพม่ากดขี่ไม่ไหวก็พากันหนีมาอาไศรยไทย เปนมาแต่โบราณอย่างนี้.

แต่ทว่ามอญเปนต้นเหตุแลปัจจัยในการสงครามที่พม่ามารบกับไทยแทบทุกคราว เพราะภูมิประเทศของไทยแลพม่าอยู่ห่างไกลกัน มีรามัญประเทศของพวกมอญคั่นอยู่กลางข้างตอนใต้ ต่อขึ้นไปข้างตอนเหนือเมืองพม่ายิ่งห่างหนักออกไป ด้วยมีประเทศลานนาไทย คือมณฑลพายัพที่เมื่อยังมีอิศระคั่นอยู่ชั้น ๑ แล้วยังมีแว่นแคว้นของพวกไทยใหญ่ซึ่งเรียกว่า เงี้ยวฤๅเฉียง คั่นออกไปอิกชั้น ๑ พ้นไปแล้วจึงถึงประเทศพม่า เพราะฉนั้นถ้าหากว่ามอญมีกำลังตั้งเปนอิศระอยู่ได้ตราบใด ก็ใช่วิไสยที่ไทยกับพม่าจะเกิดรบพุ่งกัน เพราะฝ่ายใดจะไปรบก็จะต้องเข้ากับมอญฤๅตีเมืองมอญเอาเปนที่มั่นแลเปนทางเดินให้ได้ก่อน จึงจะยกทัพไปถึงแดนอิกฝ่าย ๑ ได้ ส่วนไทยแต่เดิมมาไม่มีกิจที่จะไปช่วยมอญรบกับพม่า และไม่มีเหตุที่จะไปตีเมืองมอญ เพราะเมืองไทยกับเมืองมอญต่างบริบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหารแลอยู่ริมทเล มีทางไปมาค้าขายกับนาๆ ประเทศได้สดวกอย่างเดียวกัน แดนที่ติดต่อกันก็มีเทือกเขาปันเขตร ไทยไม่มีเหตุที่จะเปนอริกับมอญทั้งในการแสวงหาผลประโยชน์แลด้วยเรื่องเหลื่อมล้ำเขตรแดนทั้ง ๒ สถาน แต่ทางพม่ากับมอญไม่เช่นนั้น ประเทศพม่าอยู่ข้างเหนือน้ำ ประเทศรามัญอยู่ข้างปากน้ำ เขตรแดนติดต่อในที่ร่วมลำแม่น้ำเดียวกัน ทั้งแม่น้ำเอราวดีแลแม่น้ำสะโตง แผ่นดินพม่าก็ไม่บริบูรณ์เหมือนแผ่นดินรามัญ จะไปมาค้าขายทางทเลถึงนานาประเทศก็จำต้องอาไศรยผ่านไปในแผ่นดินรามัญ เพราะภูมิประเทศเปนเช่นว่ามานี้ เหตุที่จะก่อเกิดการ    เปนอริในระหว่างพม่ากับมอญจึงมักมีอยู่เสมอไม่ขาด เพราะฉนั้นเวลาพม่ามอญมีกำลังอยู่ด้วยกัน จึงทำศึกสงครามขับเคี่ยวกันมาทุกกาลสมัย ดังปรากฎในเรื่องราชาธิราชนั้นเปนต้น แต่บางคาบเกิดบุรุษพิเศษขึ้นเปนใหญ่ในพวกพม่า มีอานุภาพปราบปรามประเทศที่อยู่ใกล้เคียงเอาไว้ได้ในอำนาจพม่าทั้งหมด อาณาเขตรพม่าก็มาติดต่อกับแดนเมืองไทย เปนเช่นนี้เมื่อใดการสงครามก็เปนเกิดมาถึงเมืองไทย เพราะพม่าได้โอกาศที่มีกำลังมากมาย แลได้อาไศรยเมืองของมอญเปนที่มั่น แล้วจึงยกมาบุกรุกตีเมืองไทย ฝ่ายไทยจึงต้องเสียเปรียบพม่า เพราะต้องต่อสู้ในเวลาพม่าได้กำลังของประเทศอื่นๆ มาสมทบทุ่มเทเอาไทยพวกเดียว ด้วยเหตุนี้จึงได้เสียกรุงศรีอยุทธยาถึง ๒ ครั้ง"  

เมื่อพิจารณาโดยรวมตามหลักวิชาภูมิรัฐศาสตร์แล้วก็สรุปได้คือดินแดนแห่งสงครามระหว่างพม่ากับไทย 44 ครั้งในช่วงเวลาร่วม 300 ปีนั้นเนื่องมาจากภูมิศาสตร์ของลุ่มแม่น้ำทั้ง 3 ลุ่มแม่น้ำได้แก่ลุ่มแม่น้ำอิรวดีซึ่งมีความยาวทั้งหมด 2,170 กิโลเมตร และมีพื้นที่ลุ่มน้ำ 404,200 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศพม่า ปลายแม่น้ำไหลลงสู่ทะเลอันดามันบริเวณอ่าวเมาะตะมะ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำหากใครได้ครองพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอิรวดีก็ครอบครองประเทศพม่าได้

แต่ยังมีชาวมอญผู้เป็นเจ้าถิ่นตั้งถิ่นฐานอยู่แถบลุ่มแม่น้ำสะโตง (Sittaung) ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะกับชาวพม่าผู้อพยพลงมาจากธิเบต และชาวมอญเมื่อแพ้แล้วก็มักจะอพยพไปพึ่งชาวไทยที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และเมื่อสบโอกาสพวกมอญก็จะกลับมารบกับพม่าเป็นเช่นนี้อยู่เสมอดังนั้นหากพม่าจะอยู่ให้สงบและมั่นคงได้ก็จำเป็นต้องปราบให้ได้ทั้ง 3 ลุ่มแม่น้ำนั่นเอง โดยเฉพาะชาวไทยที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จึงถือเป็นยุทธศาสตร์หลักของพม่าในสมัยก่อนเลยทีเดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook