รัฐทุ่ม 5 หมื่นล้าน ยก สอ.เป็น รพสต.
นายกฯ เป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือ ในการพัฒนาสถานีอนามัย ให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
ที่ห้องประชุมชาเลนเจอร์ 2 เมืองทองธานี วันนี้ (4 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือ ในการพัฒนาสถานีอนามัยให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
โดย นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ คือ การพัฒนาคุณภาพของคนให้มีสุขภาพอนามัยที่ดี ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับคุณภาพของคน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัญหาสุขภาพประชาชนเป็นปัญหาที่ทั่วโลกจะต้องดูแลแก้ไข ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วขณะนี้ ยังมีข้อถกเถียงว่า ระบบสาธารณสุข และระบบบริการสุขภาพที่ดีควรเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำต่อไป คือ การสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญต่อระบบสาธารณสุขไทย ในการยกระดับสถานีอนามัย (สอ.) เกือบ 1 หมื่นแห่ง ให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในการปรับเปลี่ยนแนวทางรักษาพยาบาล เป็นการส่งเสริมสุขภาพประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ และสะดวกรวดเร็ว
"รพสต.นี้ จะช่วยลดภาระหนักของประชาชนในการไปรักษาพยาบาล เพราะแม้จะมีระบบบริการรักษาฟรีรองรับ แต่คนชนบทเวลาไปหาหมอนั้น ยังคงมีปัญหาค่าใช้จ่ายการเดินทางมารับบริการ และยังเสียโอกาสในการทำมาหากิน เพื่อมารอเข้าคิวรักษา ดังนั้น รัฐบาลจึงลงทุนในระบบบริการปฐมภูมิในพื้นต่างจังหวัดประมาณ 14,000 ล้านบาท จากเม็ดเงินที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับในโครงการไทยเข้มแข็งกว่า 80,000 ล้านบาท ซึ่งในโครงการนี้จะมีการเชื่อมโยงระบบสารสนเทศในการดูแลสุขภาพประชาชน เรียกว่า เป็นการทำงานเชิงรุก ที่เป็นจุดเปลี่ยนการทำงานด้านระบบสุขภาพของคนไทย ที่สร้างความมั่นใจการรักษาพยาบาลให้กับคนไทยมากขึ้น" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า โครงการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในตำบลครั้งนี้ ใช้เวลาดำเนินการ 4 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2552-2555 รุ่นแรกมีเป้าหมายจำนวน 4,500 แห่ง ใช้งบรวมทั้งหมดเกือบ 50,000 ล้านบาท ประกอบด้วย งบจากกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สปสช. และ สสส. 30,877 ล้านบาทเศษ และงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาล พ.ศ.2553-2555 อีกจำนวน 14,973 ล้านบาท โดยจะปรับปรุงอาคารสถานที่ เครื่องมือแพทย์ และรถพยาบาลเพื่อใช้ส่งต่อผู้ป่วยเกือบ 1,000 คัน
ทางด้าน นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจะมี 3 ขนาด ตามจำนวนประชากรที่รับผิดชอบ ได้แก่ ขนาดเล็ก ดูแลประชากรไม่เกิน 3,000 คน มีเจ้าหน้าที่ 5 คน ขนาดกลาง ดูแลประชากรไม่เกิน 6,000 คน มีเจ้าหน้าที่ 7 คน และขนาดใหญ่ ดูแลประชากร มากกว่า 6,000 คน มีเจ้าหน้าที่ 9-10 คน ในการปรับปรุงด้านสถานที่ จะต่อเติมชั้นล่างของสถานีอนามัยให้เป็นห้องตรวจรักษา จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ และวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการให้บริการ มีเตียงนอนสังเกตอาการอย่างน้อย 3 เตียง มียา และเวชภัณฑ์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับโรงพยาบาล รวมทั้งติดตั้งระบบอินเตอร์เน็ตออนไลน์เชื่อมต่อกับโรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยปรึกษาการรักษากับแพทย์โรงพยาบาลชุมชนที่ เป็นแม่ข่ายโดยตรง สร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยว่า จะได้รับการรักษามาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาล และหากเจ็บป่วยฉุกเฉิน มีระบบการแพทย์ฉุกเฉินช่วยชีวิต และนำส่งโรงพยาบาลอย่างปลอดภัย หากเกินขีดความสามารถ มีระบบส่งตัวรักษาต่อในโรงพยาบาลแม่ข่ายทันที.