แห่ดูอื้อ! จระเข้ เขาใหญ่อาบแดด
โผล่มาโชว์ตัวแล้ว "ไอ้เข้เขาใหญ่" ลอยอาบแดดให้เห็นแผ่นหลัง ในน้ำนิ่งที่ "วังช้าง" ลำตะคองริมทางเดินศึกษาธรรมชาติเหวสุวัต ลอยนิ่งอยู่นานเกือบชั่วโมง จนได้ยินเสียงคนคุยกันจึงดำน้ำหนีไป หน.เขาใหญ่เผยพบมาประมาณปี 2547 แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นสายพันธุ์ไทยหรือเปล่า ต้องรอสัตวแพทย์มาเจาะเลือดไปตรวจ คาดคนแอบมาปล่อยเมื่อปี 2547 สมัยรัฐบาลเข้มงวดเรื่องเลี้ยงสัตว์ป่า ขณะที่ทั้งวันมีนักท่องเที่ยวแห่มาดูพอควรทั้งกลุ่มที่มานอนบนเขาใหญ่ และที่มาแบบไปเช้ากลับเย็น อยากเห็นด้วยตาตัวเองหลังเป็นข่าวดัง
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 5 ก.ย. นายมาโนช การพนักงาน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เปิดเผยว่า จระเข้พบมาประมาณเมื่อปี 2547 มีการบันทึกภาพ ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวอยู่เป็นระยะ แต่ไม่เคยมีใครทราบว่าจระเข้มาอยู่ในบริเวณดังกล่าวได้อย่างไร และขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจระเข้เป็นสายพันธุ์ไทยหรือไม่ เพราะยังไม่มีการตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์ ต้องรอคณะสัตวแพทย์มาเก็บตัวอย่างไปตรวจก่อน แต่คงไม่ต้องตั้งเป็นคณะสำรวจ เพราะจระเข้ ออกมาให้เห็นเป็นประจำ ล่าสุดเพิ่งพบเมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา ขณะกำลังเข้าไปติดป้ายเตือนนักท่องเที่ยว
นายเสน่ห์ รักษาชาติ อายุ 26 ปี เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า จะพบจระเข้ได้ง่ายในวันที่มีแดดจัด จระเข้จะขึ้นมานอนอาบแดดเป็นประจำ โดยจุดที่จระเข้อาศัยอยู่นั้นเรียกว่า "วังช้าง" อยู่กึ่งกลางระหว่างผากล้วยไม้และน้ำตกเหวสุวัต บริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่มีน้ำลึกมาก และเป็นแหล่งอาศัยของปลาช่อนเป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นแหล่งอาหารที่ดีของจระเข้ ก่อนที่จะมาเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เกิดและเติบโตที่เขาใหญ่ เคยไปเล่นน้ำที่วังช้างเป็นประจำ แต่ไม่เคยพบว่ามีจระเข้มาก่อน มีข่าวการพบครั้งแรกเมื่อปี 2547 เจ้าหน้าที่คนหนึ่งพานักท่องเที่ยวไปเดินป่าในบริเวณวังช้าง และพบว่ามีจระเข้อยู่จึงมาแจ้งให้คนอื่นทราบ จึงมีการเข้าไปค้นหาพบว่าจระเข้ มีความยาวประมาณ 1 เมตรเท่านั้น แต่ล่าสุดพบว่ามีความยาวถึงเกือบ 3 เมตร ถือว่าโตเร็วมาก
"ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจระเข้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างไร แต่คิดว่าในช่วงประมาณปี 2547 ที่พบจระเข้ เป็นช่วงที่รัฐบาลประกาศปราบปรามผู้ที่ครอบครองสัตว์ป่าและสัตว์สงวน ทำให้คนกลัวความผิดนำสัตว์มาปล่อยที่เขาใหญ่เป็นจำนวนมาก คาดว่าจระเข้มาอยู่ในพื้นที่จากสาเหตุเดียวกัน" นายเสน่ห์กล่าว
ต่อมาเวลา 12.00 น. ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บริเวณวังช้าง คลองลำตะคองสถานที่พบจระเข้ พบว่าเป็นป่ารก และเป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติระหว่างน้ำตกผากล้วย ไม้และน้ำตกเหวสุวัต ตลอดเส้นทางมีป้ายเตือนให้นักท่องเที่ยวระวังจระเข้ และห้ามลงเล่นน้ำบริเวณดังกล่าว เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษจำนวน 10 ป้าย และมีเจ้าหน้าที่อุทยานคอยดูแลนักท่องเที่ยวอยู่ด้วย ซึ่งคลองลำตะคองในบริเวณดังกล่าวกว้างประมาณ 50 เมตร เจ้าหน้าที่แจ้งว่าก่อนหน้านี้ประมาณ 30 นาที จระเข้เพิ่งว่ายน้ำผ่านไป โดยลอยนิ่งอยู่กลางคลองเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง เมื่อได้ยินเสียงพูดคุยจึงตกใจรีบดำลงใต้น้ำทันที
หลังจากพยายามเดินตามหาร่องรอยจระเข้ตัวดังกล่าวอยู่กว่า 30 นาที พบจระเข้ตัวดังกล่าว ลอยตัวสงบนิ่งเห็นเพียงลำตัวด้านหลังสีคล้ำเข้ม อยู่บริเวณดงต้นบอน ลำตัวยาวประมาณ 2-2.5 เมตร ระหว่างที่ผู้สื่อข่าวเฝ้าดูจระเข้อยู่ ปรากฏว่ามีนักท่องเที่ยวเดินมาดูด้วยความตื่นเต้นตลอดเวลา ส่วนหนึ่งมาเที่ยวพักผ่อนที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และทราบข่าวเรื่องจระเข้ตัวดังกล่าว จึงอยากมาเห็นด้วยตาตัวเอง บางส่วนเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินป่าเขาใหญ่ โดยเฉพาะเส้นทางดังกล่าวมาเป็นเวลานานแล้ว
นายธนิตย์ ทัศนมูลพินิจ นักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ ที่เดินป่าเขาใหญ่เป็นประจำ กล่าวว่า ปกติจะเดินป่าเขาใหญ่ในช่วงหน้าหนาวประ มาณปีละ 3-4 ครั้ง พบครั้งแรกเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ตัวยังเล็กประมาณเพียง 1 เมตรเท่านั้น จระเข้ดังกล่าวไม่มีลักษณะดุร้ายหรือหวาด ระแวงคนเท่าไร เพราะเคยพบนอนผึ่งแดดอยู่บนชายหาดด้านที่เป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรม ชาติ ห่างกันไม่เกิน 5 เมตร แต่ไม่ทำอะไรกัน มาเห็นครั้งนี้พบว่าตัวใหญ่ขึ้นมาก อาจเป็นเพราะมีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ เคยคุยกับพรานป่าทราบว่าบริเวณดังกล่าวไม่เคยมีจระเข้มาก่อน แต่พื้นที่อื่นมีอยู่เป็นจำนวนมาก คาดว่าจะถูกน้ำป่าพัดมาช่วงฤดูน้ำหลาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 6 ก.ย. กรมอุทยานสัตว์ป่าและพรรณพืช จะส่งทีมสัตว แพทย์เข้าจัดเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ ของจระเข้ตัวดังกล่าว เพื่อไปพิสูจน์ว่า เป็นจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย หรือเป็นสายพันธุ์ต่าง ประเทศ หลังจากพิสูจน์ทราบแล้ว จะต้องรอนโยบายของอธิบดีกรมอุทยานฯ ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป
ด้านนายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับรายงานว่า พบจระเข้อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการจับขึ้นมา เพราะอยู่ในช่วงน้ำหลาก อย่างไรก็ตาม ตนได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการด้านสัตว์ป่า และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ขณะนี้จึงไม่ได้ตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะการนำจระเข้ย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าว แต่ต้องรอการพิสูจน์โครโม โซมให้ได้ชัดเจนเสียก่อนว่า จระเข้ตัวนี้เป็น จระเข้ที่เกิดจากธรรมชาติ หรือว่าเป็นจระเข้ที่คนนำมาปล่อยไว้ โดยในวันที่ 8 ก.ย.นี้ ตนจะเดินทางไปที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อร่วมประชุมกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เนื่องจากกรณีนี้ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เกิดเขึ้น ดังนั้น จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ
ที่ผ่านมาตนได้คุยกับหัวหน้าอุทยานฯ เป็นประจำ แต่ไม่เคยได้รับรายงานว่ามีจระเข้อยู่ ซึ่งหัวหน้าอุทยานฯ เองก็แจ้งว่าไม่เคยทราบเรื่องมาก่อน มาทราบหลังจากมีข่าวออกและมีคนแจ้งให้ทราบ เพราะฉะนั้นจะได้รวบรวมทุกอย่าง โดยสิ่งที่ตนเป็นห่วงอีกอย่างก็คือเรื่องสปีชีส์ หรือพันธุ์สัตว์ป่าชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ที่มักจะมีคนนำมาเข้าไปในพื้นที่อุทยานฯ และอาจจะไปทำลายระบบนิเวศดั้งเดิม ก็มีการพูดคุยกันมาโดยตลอดและคงต้องมีมาตรการเข้มงวดยิ่งขึ้น รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนที่จะเข้าไปเที่ยวในเขตอุทยานฯ ต่างๆ อย่านำพืชพันธุ์ต่างถิ่นหรือสัตว์เลี้ยงเข้าไปเที่ยวด้วยหรือไปปล่อย เพราะอาจจะเป็นอันตรายกับสัตว์ป่า เช่น ที่ป่าเคยมีการพบว่า มีเห็บเกาะไปแพร่ขยายพันธุ์ติดสัตว์ป่า