อภิสิทธิ์ เล็งขอมติครม.เปิดสภาถกแก้รธน.

อภิสิทธิ์ เล็งขอมติครม.เปิดสภาถกแก้รธน.

อภิสิทธิ์ เล็งขอมติครม.เปิดสภาถกแก้รธน.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกฯ ระบุอังคารนี้เสนอขอมติครม. ขอเปิดประชุมรว่มรัฐสภาเพื่อหารือการแก้รธน. ย้ำพันธกรณีจัดการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดึงท้องถิ่นร่วม ประชาชนหนักใจปัญหาเสื้อแดงชุมนุมแนะรัฐบาลต้องสู้ และแก้ปัญหาต่อไป

 

ณ ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวกับพี่น้องประชาชนในรายการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ เป็นครั้งที่ 34 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ได้เน้นย้ำในประเด็นนี้อีกครั้ง เกี่ยวกับการของมติครม.เพื่อเสนอเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อหารือเกี่ยวกับการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายอภิสิทธิ์ รายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ช่วงที่ 1 ดังนี้

"สวัสดีครับพี่น้องประชาชนที่เคารพรักทุกท่านครับ วันนี้ผมอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลนะครับ ในช่วงเวลา 10.00 น. เป็นต้นไป จะมีการจัดงานที่รณรงค์ในเรื่องของการทำให้การอ่านเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ ซึ่งจะมีการถ่ายทอดต่อจากรายการนี้ไป เสื้อที่ผมใส่อยู่วันนี้เป็นเสื้อยืดในโครงการ "9 ในดวงใจ" ซึ่งเป็นความริเริ่มจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งองค์กรภาคเอกชน และตอนนี้ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนราชการ และองค์กรต่าง ๆ ตั้งใจอย่างนี้ครับว่าในวันพุธที่จะถึงนี้เป็นวันที่ 9 เดือนกันยายน ก็คือเดือน 9 ถ้าถือตามปีฝรั่งก็เป็นปี 2009 เพราะฉะนั้น วันย่อก็จะเป็น 09 09 09 จึงมีความคิดว่าในเวลา 9 นาฬิกา 9 นาที ของวันที่ 9 เดือน 9 ปี 09 นี้ ทุกหน่วยงานต่าง ๆ จะได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ 9 โดยการเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกคนร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และสดุดีมหาราชา ผมเลยขอถือโอกาสนี้ประชาสัมพันธ์ให้กับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศทุกหน่วยงาน ได้ร่วมในกิจกรรมในวันพุธเวลา 9 นาฬิกา 9 นาที

จัดสรรที่ดินราชพัสดุ 1 ล้านไร่ให้เกษตรทำกิน

สัปดาห์ที่ผ่านมานี้มีงานหลายเรื่องซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมได้ใช้เวลาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของพี่น้องประชาชน คือเศรษฐกิจในระดับของชุมชน ในระดับของชาวบ้าน ในวันที่ผมได้เดินทางไปที่ปทุมธานี ที่อำเภอหนองเสือ นั้น ก็เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่รัฐบาลนี้กำลังผลักดันอย่างเต็มที่ ก็คือเรื่องของที่ทำกิน และวันนั้นได้มีโอกาสไปที่ศูนย์เรียนรู้ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ในส่วนของโครงการก่อนคือว่ารัฐบาลได้ดำเนินการในเรื่องของการรวบรวมที่ที่ ไม่ได้ใช้ ที่เป็นที่ของกรมธนารักษ์ ของส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อที่จะมาจัดสรรให้เกษตรกร เป้าหมายคือ 1 ล้านไร่ ทางกระทรวงการคลังได้เดินทางในการที่จะรวบรวมที่ต่าง ๆ จากกระทรวง ทบวง กรม และท่านรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ คือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง คุณหมอพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ ก็ได้ไปรวบรวมที่ได้จากหลายจังหวัด แล้วได้มีการจัดทำสัญญาเช่า คือมีการรวบรวมที่เสร็จ จะมีการมาประเมินว่าที่ตรงนั้นเหมาะสมในเรื่องของการเพาะปลูกอะไร แล้วจากนั้นก็มีการจัดทำบัญชีที่จะต้องเป็นเกษตรกรรายย่อย เป็นเกษตรกรที่ทำการเกษตรด้วยตนเอง ที่ผ่านมาท่านรัฐมนตรีได้เดินทางไปหลายจังหวัดแล้วก่อนหน้านี้ เช่น ที่ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ แต่ว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางไปด้วยตัวเอง ที่จังหวัดปทุมธานี อำเภอหนองเสือ มีเกษตรกรทั้งจากปทุมธานี ทั้งจากสระบุรี มารับในเรื่องของสัญญาเช่า พร้อม ๆ กันนั้นก็มีหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องของเงินทุนบ้าง ที่ดูแลในเรื่องของการเกษตรโดยตรงบ้าง เข้าไปช่วยเหลือสนับสนุน เพื่อให้การเกษตรตรงนั้นสามารถที่จะดำเนินการไปได้ด้วยดี

บังเอิญในวันเดียวกันครับได้แวะในศูนย์เรียนรู้ในเรื่องของเศรษฐกิจพอ เพียง มีโอกาสพบกับปราชญ์ชาวบ้าน หมอดินนะครับ คุณลุงสนอง ขำประดิษฐ์ ก็เป็นตัวอย่างที่ได้พลิกฟื้นจากพื้นที่ตรงนั้น ซึ่งเคยเป็นสวนส้ม และมีปัญหาในเรื่องของดินเปรี้ยว ในที่สุดก็ใช้เวลาในการฟื้นฟูจนกระทั่งจากที่มีภาระในเรื่องของหนี้สินต่าง ๆ ก็หมดไป และได้น้อมนำแนวทางในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของการทำงานอย่างต่อเนื่อง ที่ผมได้เคยย้ำหลายครั้งครับว่าปัจจัยที่เป็นปัจจัยพื้นฐานทางการผลิตในด้าน เกษตรนั้น รัฐบาลจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ทำกินด้วยเครื่องมือที่หลากหลายกันไป ไปจนถึงในเรื่องของแหล่งเงินทุน ไปจนถึงในเรื่องของการสนับสนุน ในเรื่องของแหล่งน้ำ พันธุ์ และวันนี้ครับในช่วงท้ายของรายการจะไปดูในเรื่องของการวิจัย เพื่อสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องของการเกษตร โดยผมจะได้เดินทางพาท่านผู้ชมไปดูที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่วิทยาเขตกำแพงแสน ในช่วงท้ายของรายการ ก็สามารถติดตามกันได้

ยังอยู่ในเรื่องของการเกษตรนะครับ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติในเรื่องของปัญหาราคาข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพี่น้องเกษตรกรที่อยู่ในภาคเหนือตอนล่าง ไล่ลงมาจนถึงภาคกลาง ภาคตะวันตก ซึ่งปรากฏว่าข้าวออกมาไม่ทันกับโครงการรับจำนำ ซึ่งปิดไปเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม โดยข้อเท็จจริงแล้วโครงการจำนำนั้น รัฐบาลได้กำหนดโควตาไว้ ปรากฏว่ายังเหลือโควตาอยู่ 9 แสนตัน เพราะฉะนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติที่จะยืดในเรื่องของการจำนำข้าว เพื่อรองรับข้าวในส่วนนี้จนครบโควตา หรือจนถึงสิ้นสุดเดือนกันยายน และเงื่อนไขของการรับจำนำนั้น ก็จะเป็นไปตามโครงการเดิมทุกประการ มีเงื่อนไขเดียวครับที่เป็นตัวจำกัดขึ้นมาอีกนิดหน่อย คือว่าสำหรับเกษตรกรซึ่งได้รับประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าวที่เป็น ข้าวนาปรังไปแล้ว จะไม่ให้เข้ามาในโครงการในรอบที่ 2 อันนี้เพื่อที่จะให้กระจายโครงการต่าง ๆ ไปสู่พี่น้องเกษตรกรจำนวนให้มากที่สุด และอันนี้จะเป็นช่วงสุดท้ายของการรับจำนำครับ เพราะว่าในส่วนของฤดูกาลที่เป็นข้าวนาปีนั้น โครงการประกันจะเริ่มต้นแน่นอน

ย้ำพันธกรณีจัดการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดึงท้องถิ่นร่วม

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงโครงการไทยเข้มแข็งว่า โครงการนี้ก็คือการทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ถือเป็นพันธสัญญา โดยรัฐบาลจะปรับปรุงกลไก องค์กรต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ คนและระบบการศึกษาจะต้องตอบสนองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วย ตั้งแต่ในโรงเรียนจนถึงการฝึกอาชีพ นอกจากนี้ ในส่วนของสังคม จะต้องทำอย่างเป็นระบบ ในการยกย่อง คนที่มีผลงานสร้างสรรค์ในทุกวงการ รวมทั้งจะดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มามีส่วนร่วมซึ่งรัฐบาลจะลงไปทำงานละเอียดมากขึ้นในแต่ละพื้นที่ เพราะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะต้องอิงอยู่กับศิลปะวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้นๆ

นอกจากนี้ ในเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจโดยตรง จะมีการสนับสนุนแหล่งเงินทุน ไปจนถึงการตลาดเพราะจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจมีความยั่งยืน สำหรับกรส่งเสริมเขตเศรษฐกิจเฉพาะ จะมีปรับเปลี่ยนกลไกโครงสร้างที่เกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น พื้นที่ชายแดนที่มีการค้าขายชายแดน มีแรงงานต่างด้าวเข้ามา ซึ่งจะบริหารให้สอดคล้องกันกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ขณะเดียวกันนายอภิสิทธิ์ ได้เดินทางไปบันทึกรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกอภิสิทธิ์ ณ.หาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการที่รัฐบาลสนับสนุนและส่งเสริมภาคเกษตรกรรม

ประชาชนหนักใจปัญหาเสื้อแดงชุมนุมแนะรัฐบาลต้องสู้

สวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ กรณีทางออกของการเมืองไทย โดยพบว่า 10 เหตุการณ์ ที่ประชาชนหนักใจมากที่สุด คือ การชุมนุมเสื้อแดง มีถึง ร้อยละ 21.86 ขณะที่ ร้อยละ 13.41หนักใจการรุกเชิงข่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ร้อยละ 12.76 การคอร์รัปชั่นโครงการชุมชนพอเพียง ร้อยละ 11.82 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 8.26 การแต่งตั้ง ผบ.ตร. ร้อยละ 7.42 หนักใจคลิปเสียงนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 7.10 ปัญหาไฟใต้ ร้อยละ 6.24 การโต้คารมของรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ร้อยละ 5.9 การแตกแยกในพรรคประชาธิปัตย์ และ ร้อยละ 5.23 คืบหน้าคดียิง สนธิ ลิ้มทองกุล

ขณะที่ประชาชน ร้อยละ 63.02 แนะทางออกของรัฐบาล คือ ต้องต่อสู้และแก้ปัญหาต่อไป ร้อยละ 18.81 ให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 10.73 ควรเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ร้อยละ 7.44 แนะ นายกรัฐมนตรีลาออก โดย ร้อยละ 33.46 อยากให้รัฐบาลหนักแน่น ตั้งใจบริหารประเทศต่อไป และ ร้อยละ 30.18 ฝากให้ฝ่ายค้านทำตามหน้าที่ ให้ดีที่สุด

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook