"แอมโมเนียมไนเตรท" คืออะไร ทำไมจากปุ๋ยกลายเป็นระเบิดครั้งใหญ่ในเลบานอน
นับเป็นความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดกับโศกนาฏกรรมที่กรุงเบรุต เมืองหลวงของประเทศเลบานอน เมื่อวานนี้ (4 ส.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่บริเวณท่าเรือซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 100 ศพ และบาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 4,000 คน
ซึ่ง ฮัสซัน ดิอับ (Hassan Diab) นายกรัฐมนตรีเลบานอน ชี้แจงว่าเหตุที่เกิดขึ้นมาจากสารแอมโมเนียมไนเตรท (Ammonium Nitrate) ที่เก็บสะสมมาต่อเนื่อง 6 ปี น้ำหนักรวมกันถึง 2,750 ตัน ในอาคารที่ไม่มีมาตรการด้านความปลอดภัย
ด้วยความที่เป็นวัตถุอันตราย หลายประเทศจึงมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด อาทิ ในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) กำหนดให้เติมแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) เพื่อให้กลายเป็น แคลเซียมแอมโมเนียมไนเตรท (Calcium Ammonium Nitrate) ซึ่งปลอดภัยกว่า ขณะที่สหรัฐฯ กำหนดให้โรงงานที่เก็บสารแอมโนเนียมไนเตรท ตั้งแต่ 2,000 ปอนด์ หรือ 900 กิโลกรัมขึ้นไป อาจถูกทางการเข้าตรวจสอบ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในบทความชื่อ “เมื่อปุ๋ยเคมีถูกใช้เป็นระเบิด” ที่เขียนโดย บุญรักษ์ กาญจนวรวณิชย์ เผยแพร่บนเว็บไซต์ของ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบุว่า การนำปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรทมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำระเบิดมีมานานแล้วโดยนำไปผสมกับเชื้อเพลิง เนื่องจากระเบิดที่ได้ใช้งานง่ายและมีราคาถูก จึงนิยมใช้มากในเหมืองถ่านหิน เหมืองหิน เหมืองแร่โลหะ และอื่นๆ
สำหรับประเทศไทย มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสารแอมโมเนียมไนเตรทหลายฉบับ อาทิ “ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530” ในหมวด 2.3 สารเคมีและสารเคมีที่ใช้เป็นส่วนผสมของวัตถุระเบิด ลำดับที่ 4 เลขที่ 6484-52-2 (ยกเว้นปุ๋ยที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับขึ้นทะเบียนเป็นปุ๋ยเคมี หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่วัตถุระเบิด แต่มีแอมโมเนียมไนเตรทเป็นส่วนผสม)
ซึ่งตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 มาตรา 15 บัญญัติไว้ว่า
ห้ามมิให้ผู้ใดสั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากปลัดกระทรวงกลาโหม
การอนุญาตตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนไขไว้ในใบอนุญาตก็ได้ การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
และมาตรา 42 ระบุว่า ผู้ฝ่าฝืนมาตราดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ปัจจุบันไม่มีการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีแอมโมเนียมไนเตรทแล้ว เนื่องจากมีประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง ยกเลิกการควบคุมแอมโมเนียมไนเตรทเป็นปุ๋ยเคมี ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 ออกมา โดยในข้อ 4 ระบุว่า แอมโมเนียมไนเตรท หมายถึง สารแอมโมเนียมไนเตรท (Ammonium Nitrate) หรือปุ๋ยเคมีแอมโมเนียมไนเตรท สูตร 34-0-0 หรือแอมโมเนียมไนเตรทที่นิยมเรียกหลายชื่อในทางการค้าอื่นใด แต่มีสูตรหรือคุณสมบัติทางเคมีอย่างเดียวกับปุ๋ยเคมีแอมโมเนียมไนเตรท
และข้อ 5 ระบุว่า ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับขึ้นทะเบียนแอมโมเนียมไนเตรทเป็นปุ๋ยเคมี ยกเว้นปุ๋ยเชิงประกอบและปุ๋ยเชิงผสมที่มีแอมโมเนียมไนเตรทเป็นวัตถุอันเป็นส่วนประกอบของปุ๋ยเคมีอยู่ด้วย เนื่องจากแอมโมเนียมไนเตรทนำไปใช้ในทางอุตสาหกรรมทางเคมี และถูกกำหนดเป็นยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตต่อกระทรวงกลาโหมตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530
ข้อมูลจากบทความ “การจัดเก็บปุ๋ยที่มีสารแอมโมเนียมเป็นส่วนประกอบอย่างถูกต้อง” โดย ยารา (ประเทศไทย) ตัวแทนจำหน่ายปุ๋ยยาราจากประเทศนอร์เวย์มากว่า 40 ปี แนะนำ 6 ข้อปฏิบัติเพื่อลดอุบัติเหตุจากการจัดเก็บปุ๋ยประเภทดังกล่าว ประกอบด้วย
1. ลงบันทึกเกี่ยวกับปุ๋ยที่จัดเก็บ ใช้หลัก มาก่อน-ออกก่อน ในการเคลื่อนย้ายปุ๋ย
2. ดูแลรักษาพื้นที่คลังสินค้าให้สะอาดอยู่เสมอ
3. อบรมพนักงานในร้านให้เตรียมพร้อมต่อสภาวะฉุกเฉินอยู่เสมอ
4. จัดเตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงชนิดเคมี หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในบริเวณคลัง
5. จัดให้มีน้ำพร้อมใช้ กรณีที่ปุ๋ยเคมีอาจเกิดการคลายไอความร้อนและมีควัน/ก๊าซ และ
6. แยกเก็บปุ๋ยซึ่งจัดอยู่ในหมวดสินค้าอันตราย (DG) ชนิดสารติดไฟ
นอกจากนั้น ต้องให้สารห่างจากสารไวไฟ สารที่เข้ากันไม่ได้ และแหล่งความร้อนโดยปิดป้ายพร้อมระบุอันตราย
ส่วน 4 ข้อห้ามสำหรับบุคคลที่อยู่ใกล้สารดังกล่าว คือ
1. ห้ามสูบบุหรี่ใกล้ปุ๋ยและติดตั้งป้ายห้ามสูบบุหรี่
2. ห้ามใช้ไฟสว่างที่คายความร้อนมาก เช่น สปอตไลต์ ใกล้กองปุ๋ยในระยะ 60 เซนติเมตร
3. ห้ามเก็บสารไวไฟ อาทิ ก๊าซหุงต้ม น้ำมัน หรือสารหล่อลื่น ไว้ใกล้ปุ๋ย และ
4. ห้ามเก็บวัสดุติดไฟได้ อาทิ ไม้ กล่องกระดาษ หรือสารเคมีการเกษตรไว้ใกล้ปุ๋ย
อย่างไรก็ตาม ระเบิดเกิดขึ้นจากสารแอมโนเนียมไนเตรทระเบิด ไม่ได้เพิ่งเคยเกิดขึ้นที่เลบานอนเท่านั้น ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ Daily Mail ของอังกฤษเคยเสนอรายงานพิเศษ “Ammonium Nitrate: fertilizer behind many industrial accidents” ยกตัวอย่างหลายเหตุการณ์ อาทิ โรงงานผลิตสารเคมีในเมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2544 มีผู้เสียชีวิต 31 ราย โรงงานผลิตปุ๋ยในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ในปี 2556 มีผู้เสียชีวิต 15 ราย เป็นต้น
- ตูมสนั่น! เกิดเหตุระเบิดขนาดใหญ่บริเวณท่าเรือในเมืองหลวงเลบานอน ยังไม่ทราบสาเหตุ
- ระเบิดกรุงเบรุต: อิสราเอล-กลุ่มเฮซบอลเลาะห์ ปฏิเสธอยู่เบื้องหลังบึ้มเมืองหลวงเลบานอน
- ระเบิดกรุงเบรุต: นายกฯ เลบานอน เผยรัฐเตือนโกดังท่าเรือเสี่ยงอุบัติเหตุ ตั้งแต่ปี 57
- เผยโกดังระเบิดในเลบานอน ใช้เก็บ "แอมโมเนียมไนเตรท" เตือนประชาชนระวังสารพิษ
- ทรัมป์ เชื่อเหตุระเบิดเลบานอนไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นการโจมตี!
- ประมวลภาพหายนะใหญ่! ระเบิดยักษ์เลบานอน ล่าสุดยอดดับทะลุ 100 ราย บาดเจ็บอื้อ
- ระเบิดเลบานอนทำอดีตนางเอกดังสุดระทึก! สภาพห้องในกรุงเบรุตพังยับเยิน
อัลบั้มภาพ 11 ภาพ