ย้อนเหตุการณ์ "สารเร่งลำไย" ระเบิดที่สันป่าตองปี 42 โศกนาฏกรรมจากสารเคมี
ย้อนเหตุการณ์เหตุระเบิดจาก 'สารยุทธภัณฑ์' ในประเทศไทย ที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน คล้ายเหตุระเบิดกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ผู้เชี่ยวชาญเตือนชาวสวนลำไยอย่านำ "โพแตสเซียมคลอเรต" ผสมสารอื่น อาจเกิดระเบิดซ้ำรอยได้
จากเหตุระเบิดครั้งรุนแรงในท่าเรือเบรุต ประเทศเลบานอน เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2563 อานุภาพของระเบิดทำให้อาคารบ้านเรือนใกล้กับจุดเกิดเหตุพังเสียหาย และมีผู้บาดเจ็บกว่า 5,000 คน ซึ่งทางการเลบานอน ชี้ว่าสาเหตุของระเบิดมาจากสารแอมโมเนียมไนเตรท 2,750 ตัน ที่ถูกเก็บไว้ในโกดังที่ท่าเรือดังกล่าวเป็นเวลานานในสภาพที่ไม่ปลอดภัย
ส่วนในประเทศไทยนั้น เคยมีเหตุการณ์ระเบิดเช่นกัน แต่เกิดกับชาวสวนลำไยที่นิยมใช้ 'โปแตสเซียมคลอเรต' ในการเร่งผลผลิตลำไยในสวน ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมหาศาล
ย้อนเหตุการณ์ปี 2542 'โรงงานอบลำไย' เชียงใหม่ ระเบิดจาก 'โปแตสเซียมคลอเรต'
เหตุการณ์ครั้งที่นับว่าใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2542 ที่โรงงานอบลำไย ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ในระหว่างที่คนงานกำลังนำสารโปแตสเซียมคลอเรตผสมกับสารอื่นๆ ตามสูตรเร่งดอกลำไย แต่กลับเกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่ไม่คาดคิด ทำให้สารเคมีการเกษตรแปรสภาพเป็นสารก่อระเบิดที่มีอานุภาพร้ายแรง
ภายหลังจากเสียงระเบิดใหญ่ มีคนงานเสียชีวิตทันที 36 ราย บาดเจ็บ 2 คน โรงงานพังเสียหายทั้งหมด ขณะที่ชุมชนที่อยู่รายรอบในรัศมี 1 กิโลเมตรของโรงงานจำนวน 571 หลังคาเรือนเสียหาย และมีผู้บาดเจ็บกว่า 100 คน รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 103 ล้านบาท
ต่อมามีการเปิดเผยด้วยว่า โรงงานอบลำไยแห่งนี้นอกจากประกอบกิจการค้าลำไยตามที่จดทะเบียนไว้ตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังลักลอบค้าสารเร่งลำไย ซึ่งประกอบไปด้วยสารอันตรายอย่างโปแตสเซียมคลอเรต และมีสารอื่นๆ มาผสมตามสูตรลับของโรงงาน
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ญาติของผู้เสียชีวิต และชาวชุมชนรวมตัวกันเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากผู้ก่อเหตุที่มีทั้งนายจ้างและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในทางนโยบาย ทั้งการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิชุมชนที่ไม่ได้รับรู้เรื่องใดๆ จากการกระทำของนายจ้างและรัฐ จึงทำให้การต่อสู้ของพวกเขาเป็นเรื่องการได้มาซึ่งสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายและนอกกฎหมายที่พึงมีพึงได้ตามเกณฑ์ที่รัฐสร้างไว้ ทำให้เหตุการณ์นี้นำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเรื่อง ได้รับความสนใจจากผู้มีอำนาจในเวลาต่อมาส่งผลให้ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลกรณีพิเศษ
ปี 2560-2562 เกิดเหตุระเบิดใน 'สวนลำไย' ถึง 3 ครั้ง
หรือกรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2560 เกิดเหตุสารใส่ลำไยระเบิดภายในสวนลำไย ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน มีผู้บาดเจ็บสาหัส 1 ราย ในที่เกิดเหตุพบร่องรอยของสารลำไยระเบิด เป็นรอยดำวงกว้างอยู่บนพื้นดินและหลังคาบ้านถูกแรงกระแทกแตกเสียหาย ตัวกำแพงบ้านมีรอยไหม้สีดำติดอยู่
เจ้าหน้าที่สอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุ 'วสันต์' ผู้บาดเจ็บ กำลังทำอาหาร ซึ่งมีสารใส่ลำไย หรือโปแตสเซียมคลอเรตวางอยู่ใกล้ๆ จากนั้นก็ได้เกิดเหตุการระเบิด แรงระเบิดทำให้ร่างของ 'วสันต์' กระเด็น นอนจมกองเลือดอยู่กับพื้น ก่อนที่จะรีบช่วยกันนำตัวส่งโรงพยาบาล
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2562 ที่ จ.ราชบุรี เกิดเหตุสารราดลำไยระเบิดที่บ้านบึงชนัง ต.เทพนิมิต อ.โป่งน้ำร้อน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ทำบ้านเรือน 7 หลังและรถ 2 คัน พังเสียหาย รวมมูลค่าความเสียหาย 1.5 ล้านบาท โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นมีเจ้าหน้าที่จากสำนักพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดจันทบุรีเข้าไปเก็บข้อมูลและให้ความช่วยเหลือแล้ว
ถัดมาในวันที่ 20 มี.ค. 2562 หวิดเกิดเหตุซ้ำรอยโรงงานอบลำไยที่สันป่าตอง หลังมีการเผยแพร่คลิประเบิดที่บริเวณบ้านไม่มีเลขที่ ในหมู่ที่ 5 บ้านโรงวัว ต.แม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 2 คน ซึ่งจากคำให้การของเจ้าของบ้านบอกว่า ตนมีอาชีพทำสวนลำไย ก่อนเกิดเหตุซื้อสารโปแตสเซียมคลอเรต ที่เป็นสารเร่งลำไยมาเก็บไว้ 10 ถุง โดยใช้ใส่สวนลำไยไปแล้ว 2 ถุง สันนิษฐานว่าสาเหตุการระเบิดน่าจะมาจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นเหตุให้สารตัวนี้ระเบิดขึ้น
รู้จัก 'โปแตสเซียมคลอเรต' คืออะไร มีคุณสมบัติอย่างไร
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า 'สารโปแตสเซียมคลอเรต' เป็นสารที่เกษตรกรนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในการผลิตลำไยทั้งในและนอกฤดู เนื่องจากมีคุณสมบัติสามารถชักนำให้ลำไยออกดอกและติดผลได้โดยไม่ต้องพึ่งอากาศหนาวเย็น ทำให้การผลิตลำไยนอกฤดูประสบความสำเร็จ มีการส่งออกลำไยนอกฤดูปีละประมาณ 1.5–2 แสนตัน หรือประมาณ 20–30% ของผลผลิตลำไยทั้งหมด หรือแม้แต่การผลิตลำไยในฤดูเกษตรกรก็นิยมใช้สารโปแตสเซียมคลอเรต
'สารโปแตสเซียมคลอเรต' เป็นสารไม่ไวไฟแต่ช่วยให้ไฟติด เป็นสารเติมออกซิเจน (Oxidizing agent) สามารถทำปฏิกิริยารุนแรงกับสารรับรองออกซิเจน (Reducing agent) และสารอินทรีย์ทุกชนิด สารโปแทสเซียมคลอเรตสามารถเกิดระเบิดได้เองเมื่ออุณหภูมิสูงกว่าจุดเดือด รวมทั้งเป็นสารที่มีพิษต่อสิ่งมีชีวิต
ทั้งนี้ สารโปแทสเซียมคลอเรต อยู่ภายใต้การควบคุมของกองควบคุมยุทธภัณฑ์ กรมการอุตสาหกรรมทหาร กระทรวงกลาโหม ตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 ซึ่งการมีไว้ในครอบครองผู้ผลิตหรือนำเข้าต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงกลาโหม สำหรับสารโพแทสเซียมคลอเรตที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2550 นั้น ต้องเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีเนื้อสารโพแทสเซียมคลอเรตไม่เกิน 15% และต้องผสมสารหน่วงปฏิกิริยาโดยต้องระบุชนิดและปริมาณของสารหน่วงปฏิกิริยา
ด้าน รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ข้อมูลจากเหตุการณ์สารเร่งลำไยระเบิดว่า มักจะมีการนำสารโปแตสเซียมคลอเรตที่มีสารออกฤทธิ์เกิน 90% ไปใช้ในการเกษตร และอาจเกิดการระเบิดขึ้นได้ จึงต้องระมัดระวัง จัดเก็บสารไว้ในที่เย็นและแห้ง อากาศถ่ายเท ใส่ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด และจัดวางสารให้ห่างจากปุ๋ยเคมี ปุ๋ยยูเรีย และวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่อาจเป็นวัตถุไวไฟและเกิดการระเบิดได้ เช่น อินทรียวัตถุ อย่างปุ๋ยคอกหรือถ่าน
ที่สำคัญ คือ ต้องไม่ควรนำโปแตสเซียมคลอเรตไปผสมกับสารอื่น เช่น กำมะถันผง ผงถ่าน ขี้เลื่อย ปุ๋ยยูเรีย และสารฆ่าแมลง รวมทั้งห้ามตำสารหรือกระแทก หรือทำให้เกิดประกายไฟเด็ดขาด รวมทั้งระหว่างเตรียมการใช้สารห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่นั้นโดยเด็ดขาด
"ปัญหาของเรื่องนี้จริงๆ แล้ว คือ เกษตรกรมักนำสารโพแตสเซียมคลอเรตไปผสมกับสารอื่นๆ ที่คิดว่าจะทำให้ได้ผลดีขึ้น แต่จริงๆ แล้ว ทางนักวิชาการของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ยืนยันว่า ได้ผลในการเร่งลำไยไม่แตกต่างกันครับ จึงไม่ควรทำ" รศ.เจษฎา กล่าว