ทั่วโลกติดเชื้อโควิด-19 สะสมทะลุ 20 ล้าน ผู้เชี่ยวชาญหวั่นไทยเจอระบาดรอบสอง

ทั่วโลกติดเชื้อโควิด-19 สะสมทะลุ 20 ล้าน ผู้เชี่ยวชาญหวั่นไทยเจอระบาดรอบสอง

ทั่วโลกติดเชื้อโควิด-19 สะสมทะลุ 20 ล้าน ผู้เชี่ยวชาญหวั่นไทยเจอระบาดรอบสอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมทะลุ 20 ล้านคนแล้ว ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญส่งเสียงเตือนประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเจอการระบาดรอบใหม่ซึ่งอาจจะรุนแรงกว่า รวมทั้งควบคุมได้ยากกว่ารอบแรก

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จนถึงช่วง 10.00 น. ของวันนี้ (10 ส.ค.) ตามเวลาประเทศไทย พบว่าจากการอัปเดตข้อมูลของเว็บไซต์ worldometers ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมพุ่งผ่านหลัก 20 ล้านคนแล้ว โดยในระยะหลังๆ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเฉลี่ยกว่า 2 แสนรายต่อวัน ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อหลักล้านใช้เวลาเพียงราวๆ 4 วันเท่านั้น

covid19-global-20-millions

ทั้งนี้ ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด 10 อันดับแรกของโลก ประกอบด้วย

  1. สหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด 5,199,444
  2. บราซิล 3,035,582
  3. อินเดีย 2,214,137
  4. รัสเซีย 887,536
  5. แอฟริกาใต้ 559,859
  6. เม็กซิโก 480,278
  7. เปรู 478,024
  8. โคลอมเบีย 387,481
  9. ชิลี 373,056 และ
  10. สเปน 361,442

ขณะที่ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกินหลักหมื่นมี 4 ประเทศ ประกอบด้วย อินเดีย 62,117 คน สหรัฐฯ 47,816 บราซิล 22,213 และโคลอมเบีย 10,611

ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า หากลองฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลายต่อหลายคน ทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ไทยเรามีโอกาสสูงมากที่จะเกิดการระบาดซ้ำในไม่ช้านี้ ความเห็นดังกล่าวนั้นตั้งอยู่บนความจริงที่ว่า รัฐแง้มประตูประเทศให้มีการเดินทางของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ จากต่างประเทศเข้ามาได้ หากเปิดอ้าซ่า ไม่มีประเทศใดเลยที่รอดจากการระบาดซ้ำ และระลอกสองนั้นรุนแรงกว่าระลอกแรก คุมยากกว่า และก่อให้เกิดความเสียหายที่หนักหนา

นอกจากนี้ นพ.ธีระ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐ ศบค. และ สมช. ควรพิจารณาทบทวนเกณฑ์มาตรการผ่อนปรนของระยะที่ 5-6 เสียใหม่ เนื่องจากมีการใช้เกณฑ์ที่ประกาศไปเพื่อนำเข้ากลุ่มชาวต่างชาติจำนวนมาก บางเรื่องดูจะมีความจำเป็น เช่น แรงงาน บางเรื่องไม่ใช่ความจำเป็น ไม่มีก็ไม่ตาย ไม่ได้จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชนในประเทศ เช่น นักกีฬา นักวิ่งแข่งขัน นักฟุตบอล บางเรื่องอาจไม่ต้องนำเข้าและใช้คนไทยทำแทน หรือหากจะนำเข้าก็ควรมีรายละเอียดการคัดเลือกแหล่งที่มาให้ลดความเสี่ยงลงให้น้อยที่สุด เช่น ครูสอนภาษา เป็นต้น

อาจารย์หมอจากจุฬาฯ รายนี้ ยังย้ำปิดท้ายว่า สิ่งที่น่ากังวลและพึงระลึกไว้เสมอ คือ ทั่วโลกระบาดรุนแรง หลายต่อหลายประเทศมีอัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อสูงกว่าไทยหลายสิบเท่า ดังนั้น การนำเข้าแต่ละคน แต่ละครั้ง ล้วนมีความเสี่ยงที่จะเกิดการหลุดรอดของผู้ติดเชื้อเข้ามาสู่ชุมชน และแพร่ระบาดได้ จึงต้องขันน็อต ระแวดระวังให้ดี ประชาชนไทยก็ควรตระหนักถึงความเสี่ยงดังกล่าว และรักตัวเองรักครอบครัว ป้องกันตนเองเสมอ ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสาธารณสุข ได้แก่ ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างๆ คนอื่นอย่างน้อยหนึ่งเมตร พูดน้อยลง พบปะคนน้อยลงสั้นลง เลี่ยงที่แออัดที่ชุมนุมที่อโคจร คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย ให้หยุดเรียนหยุดงานและรีบไปตรวจรักษา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook