ล่าเข้เขาใหญ่สะดุดแนะจับหน้าแล้งปีหน้า

ล่าเข้เขาใหญ่สะดุดแนะจับหน้าแล้งปีหน้า

ล่าเข้เขาใหญ่สะดุดแนะจับหน้าแล้งปีหน้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทีมจับจระเข้เริ่มฝ่อ หลังเสี่ยงจากปัญหาน้ำมาก ล้มแผนยิงยาสลบหวั่นจระเข้ตาย หน.อุทยานเขาใหญ่ แนะล่าตัวช่วงน้ำลดเดือนมีนาคมปีหน้า โบ้ยอธิบดีอุทยาน ชี้ขาดแผนจัดการจระเข้

เมื่อวันที่ 7 กันยายน นายมาโนช การพนักงาน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เปิดเผยความคืบหน้าการติดตามจระเข้ขนาดใหญ่จำนวน 2 ตัว ระหว่างเส้นทางศึกษาธรรมชาติผากล้วยไม้ และน้ำตกเหวสุวัต อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ว่า หลังจากนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน แพทย์ด้านสัตว์ป่าจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเสม็ด-เขาแหลมหญ้า เพื่อติดตามร่องรอยและแหล่งที่มาของจระเข้เพื่อหาทางพิสูจน์ดีเอ็นเอว่าเป็นจระเข้น้ำจืดตามธรรมชาติ หรือเป็นจระเข้ลูกผสม กระทั่งเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ได้ค้นพบไข่ 1 ฟอง ที่ลำห้วยลำตะคอง ซึ่งเป็นจุดที่จระเข้มักขึ้นมาตากแดด

ขณะเดียวกัน ยังพบว่ามีเส้นทาง 3-4 จุดที่จระเข้ใช้เป็นเส้นทางขึ้นลงลำห้วยดังกล่าว และได้มีการเก็บไข่ออกจากจุดที่ค้นพบ เพื่อนำมาพิสูจน์ในวันที่ 8 กันยายนนี้ โดยนายสัตวแพทย์ภัทรพล จะนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านจระเข้ของเมืองไทย เป็นคนพิสูจน์ไข่ดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 วัน ก็จะได้ทราบผล

นายมาโนช กล่าวอีกว่า การค้นหาจระเข้ขณะนี้ต้องยอมรับว่า ยังวางแผนในการจับพิสูจน์ยาก เพราะเป็นช่วงฤดูฝนทำให้มีน้ำมาก แรงและขุ่น จึงเป็นอุปสรรคสำคัญ แต่ช่วงเวลาที่ดีและเหมาะสมน่าจะราวเดือนมีนาคมและเมษายนปี 2553 เพราะน้ำจะแห้งและใสกว่าทำให้ง่ายต่อการค้นหา แต่ขณะนี้ก็มีการจัดเจ้าหน้าที่ติดตามดูพฤติกรรมของจระเข้

หัวหน้าอุทยานกล่าวอีกว่า ล่าสุดเมื่อเวลา 10.20 น. วันเดียวกัน พบจระเข้ขึ้นมาบริเวณผิวน้ำแค่ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น ขณะเดียวกันเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวได้นำเชือกมาขึงตรงเส้นทางที่มีการนำป้ายมาติดเตือนนักท่องเที่ยวเอาไว้ 10 จุด ระยะทางราว 100 เมตรที่มีการพบจระเข้ขึ้นมา เพื่อป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวลงไปใกล้แหล่งลำห้วยที่จระเข้อาศัยอยู่อีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้ ในช่วงวันหยุดที่ผ่านมาได้มีนักท่องเที่ยวขึ้นมาที่เขาใหญ่มากเพื่อมาชมจระเข้ และนักท่องเที่ยวก็ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี

เมื่อถามว่าจะวางแผนการจัดการจระเข้อย่างไรต่อไป นายมาโนชกล่าวว่า ยอมรับว่ายังไม่มีแผนการจัดการใดๆ ชัดเจน ขณะนี้ทำได้แค่การเตือนและสร้างความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว แต่ในแง่ของการจัดการ เช่น การจับจระเข้พิสูจน์ดีเอ็นเอ หรือการจะให้จระเข้ยังอยู่ในพื้นที่ หรือกรณีที่อาจพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่จระเข้ในธรรมชาติและอาจต้องย้ายออกนั้น คงต้องรอการตัดสินใจจากนายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมอุทยานฯ ซึ่งจะเดินทางมาประชุมกับเจ้าหน้าที่ รวมทั้งหารือเรื่องแผนการจัดการ ในวันที่ 8 กันยายนนี้ คาดว่าจะมีความชัดเจนขึ้น

"ขณะนี้มีคำถามว่าเป็นจระเข้น้ำจืดในธรรมชาติ หรือเป็นจระเข้ที่มีคนนำมาปล่อยไว้ ก่อนหน้าที่เคยสอบถามกับชาวบ้านในพื้นที่ และอดีตหัวหน้าอุทยานเขาใหญ่ ก็ได้รับการยืนยันพื้นที่เขาใหญ่ไม่เคยมีจระเข้มาก่อน มีเพียงตะโขง แต่ก็ถูกไล่ล่าจนเกือบหมดแล้ว ไม่รู้สึกแปลกใจหากเขาใหญ่จะมีจระเข้น้ำจืดในธรรมชาติเหมือนกรณีจระเข้ที่อ่างฤาไน ปางสีดา และแก่งกระจาน แต่คงต้องรอการพิสูจน์ดีเอ็นเอให้ชัดก่อน รวมไปถึงคำตอบเรื่องการจัดการด้วย แต่ถ้าถามจระเข้สามารถอยู่บนเขาใหญ่ได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องดี แต่จะต้องมีการจัดการถิ่นอาศัยให้สอดคล้อง ที่ผ่านมาจระเข้อยู่มานานกว่า 5 ปีแล้ว ก็อาจจะปรับตัวกับธรรมชาติไปแล้ว" นายมาโนชระบุ

เที่ยงวันเดียวกัน นายสัตวแพทย์ภัทรพล นำสื่อมวลชนลงสำรวจพื้นที่จุดวังช้าง ที่เป็นแหล่งที่พบจระเข้ขึ้นมานอนตากแดด และจุดที่พบจระเข้ โดยนายสัตวแพทย์ภัทรพล ได้ขุดดินบริเวณที่เจอไข่เป็นวงกว้างออกไป แต่ปรากฏว่าไม่เจอไข่เพิ่ม นอกจากนี้ ยังได้ล่องเรือตลอดเส้นทางลำน้ำที่เป็นเส้นทางที่คาดว่าจระเข้จะขึ้นบนฝั่ง แต่ก็ไม่พบจระเข้

นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า ไข่ที่ค้นพบดังกล่าว มีขนาดประมาณ 2x3 นิ้ว มีเปลือกสีขาว เบื้องต้นได้สอบถามต่อผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่ง ยังไม่ตัดประเด็นว่าเป็นไข่จระเข้ หรือเป็นไข่ของสัตว์ชนิดอื่น เพราะอาจจะเป็นไข่จระเข้ที่ไม่มีเชื้อ หรือเป็นไข่ที่หลงเหลือจากการถูกฟักไปก่อนหน้านี้ หรือถูกสัตว์อื่นนำไปกิน ซึ่งข้อสันนิษฐานดังกล่าวเป็นไปได้ทุกอย่าง ทั้งนี้จะนำมาเข้าห้องเข้าแล็บที่กรมอุทยานฯ จากนั้นจะรู้ว่าเป็นไข่อะไรกันแน่

"ยอมรับว่าการติดตามจระเข้ครั้งนี้ถือเป็นการทำงานที่ยาก การจับก็มีความเสี่ยง เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าจะไม่ใช้การยิงปืนยาสลบอย่างแน่อน เพราะเสี่ยงที่จระเข้จะสลบและจมลงไปตายที่ใต้น้ำได้ แต่จะใช้วิธีอื่นๆ เช่น เหวี่ยงแห และลากอวน แต่คงไม่ใช่เรื่องง่ายในช่วงเวลาที่มีน้ำมากในตอนนี้ และไม่ให้เสี่ยงมากในการจับสัตว์ป่า โดยจระเข้เป็นประสบการณ์ครั้งแรกน่าจะจับตัวบนบกมากกว่าเสี่ยงจับในน้ำ แต่ทั้งหมดจะมีการวางแผนและตัดสินใจ โดยนายเกษมสันต์อีกรอบหนึ่ง" นายสัตวแพทย์ภัทรพลกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณเส้นทางเดินป่าผากล้วยไม้ ซึ่งมีข่าวการค้นพบจระเข้ ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจุดที่มีการปักป้ายเตือนให้ระวังจระเข้และห้ามลงเล่นน้ำ ปรากฏว่า นักท่องเที่ยวหลายกลุ่มต่างหยุดถ่ายรูป และสอบถามกับเจ้าหน้าที่เรื่องจระเข้ที่มีการค้นพบ ส่วนใหญ่บอกว่าไม่รู้สึกกลัว และจะเป็นโอกาสดีด้วยหากสามารถพบเห็นจระเข้ตัวเป็นๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook