“แม่เลี้ยงเดี่ยวป่องกลางกอง” ภาพสะท้อนชีวิต “ซิงเกิลมัม” ที่ไม่ใช่เรื่องง่าย

“แม่เลี้ยงเดี่ยวป่องกลางกอง” ภาพสะท้อนชีวิต “ซิงเกิลมัม” ที่ไม่ใช่เรื่องง่าย

“แม่เลี้ยงเดี่ยวป่องกลางกอง” ภาพสะท้อนชีวิต “ซิงเกิลมัม” ที่ไม่ใช่เรื่องง่าย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แต่ไหนแต่ไรมา “แม่เลี้ยงเดี่ยว” หรือ “ซิงเกิลมัม” (Single Mom) ในสังคมไทย มักจะถูกมองว่าเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็ง สามารถเลี้ยงดูลูกได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องง้อผู้ชาย คนดังที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวหลายคนก็ได้รับเสียงชื่นชมและกำลังใจมากมายจากคุณสมบัติเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม กรณีล่าสุดอย่าง “แม่เลี้ยงเดี่ยวป่องกลางกอง” ที่มีผู้เปิดเผยว่า ดาราสาวที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวคนหนึ่งได้ตั้งท้องลูกคนที่สอง ทำให้ต้องยกเลิกงานถ่ายละครที่กำลังทำอยู่ ส่งผลให้โลกโซเชียลพากันขุดคุ้ยว่าใครคือนักแสดงคนนั้น ลามไปถึงการสอดส่องตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรูปร่างและพฤติกรรมของดาราที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ในโลกออนไลน์ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ข่าวกอสซิปเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นทัศนคติของสังคมที่อาจจะเป็นปัญหาต่อไป

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้ดูแลแผนงานสุขภาวะเพื่อผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา ระบุว่า ทุกวันนี้สังคมมีกรอบของความคาดหวังที่จำกัดมากและบีบแคบมากสำหรับผู้หญิง ได้แก่ ผู้หญิงต้องบริสุทธิ์ ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน และการตั้งครรภ์ก็เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าผู้หญิงคนนี้ “เสียหาย” เพราะมีเพศสัมพันธ์โดยที่ยังไม่ได้แต่งงาน และเมื่อมีสถานะเป็นแม่แล้ว ผู้หญิงก็ต้องเป็นแม่ที่ดีในสายตาของสังคมด้วย

“คุณต้องอยู่ในสถาบันการแต่งงาน คุณถึงจะเป็นแม่ที่สมบูรณ์ ต้องมีสามี รักษาสามีไว้ได้ด้วย เลี้ยงลูกให้ดีด้วย ก็จะได้รับการยกย่อง แต่ถ้าคุณอยู่ในสถาบันการแต่งงานไม่ได้ด้วยปัญหาต่างๆ เช่น หย่าร้าง เลิกรา สังคมก็จะคาดหวังว่าผู้หญิงจะเป็นคนที่รับผิดชอบเลี้ยงดูลูกมากกว่าผู้ชาย ถ้าผู้ชายไม่ทำหน้าที่พ่อ ผู้หญิงก็ต้องรับภาระ ผู้ชายที่ทิ้งลูกไปก็มักจะไม่ถูกตีตราเท่ากับผู้หญิง” ดร.วราภรณ์กล่าว

ขณะที่คนเป็นแม่ต้องแบกความคาดหวังมากมาย แม่เลี้ยงเดี่ยวต้องเผชิญกับปัญหาที่หนักหนายิ่งกว่า ซึ่งอาจารย์ ดร. โกสุม โอมพรนุวัฒน์ จากสาขาสตรี เพศสถานะและเพศวิถีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า ที่จริงแล้ว สังคมไม่ได้เชิดชูการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเสมอไป และการติดป้ายว่า “แม่เลี้ยงเดี่ยว” นั้น กลับกลายเป็นสิ่งที่ตีตราผู้หญิง และจับผู้หญิงใส่ลงในกล่องเพื่อแบ่งประเภท แทนที่จะยอมรับว่าเธอก็เป็นแม่เช่นเดียวกับแม่คนอื่นๆ

นอกจากนี้ ดร.วราภรณ์ยังอธิบายเสริมว่า การตีตราดังกล่าวอาจจะขึ้นอยู่กับอายุด้วย เช่น แม่เลี้ยงเดี่ยวที่เป็นวัยรุ่นก็มักจะถูกตัดสินหรือตีตราซ้ำว่าเป็น “เด็กผู้หญิงใจแตก” ดังนั้น การจะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ได้รับการยอมรับจากสังคม จึงต้องมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเสริม เช่น การประสบความสำเร็จในด้านเศรษฐกิจ มีรายได้เลี้ยงดูตัวเอง หรือด้านอาชีพการงาน ไปจนถึงการอุทิศตนเพื่อเป็นแม่ที่ดี

แม่เลี้ยงเดี่ยวอาจจะต้องพิสูจน์ตัวเองเยอะกว่าแม่ทั่วไป อย่างเช่นการไม่มีแฟนใหม่ ต้องอุทิศตนให้เป็นแม่ที่ดีเลิศ แล้วก็แทบจะต้องดีเลิศกว่าแม่ทั่วไป เพราะว่าถูกตีตรามาแล้วว่าท้องโดยที่ไม่ได้แต่งงาน หรือเธอมีลูก แต่เธอต้องกระเด็นออกมาจากสถาบันการแต่งงานเนื่องจากการเลิกราหรือการหย่า เหมือนมันมีตราบาปมาชั้นหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้น ชีวิตด้านอื่นของคุณจะควรจะมีความสำคัญรองลงไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีชีวิตคู่ครั้งใหม่ ซึ่งสังคมก็ยังไม่ยอมรับ เพราะมันจะไปขัดกับบทบาทความเป็นแม่ที่สังคมคาดหวังไว้ให้ผู้หญิงต้องยึดถือตลอดไป” ดร.วราภรณ์ขยายความ

สำหรับประเด็นเรื่องดาราสาวแม่เลี้ยงเดี่ยวที่สื่อเรียกว่าเป็น “แม่ลูกสอง” ทันทีที่เป็นข่าวนั้น อาจารย์ ดร.โกสุมมองว่า สื่อและสังคมออนไลน์ไม่ได้แยกบทบาทความเป็นแม่และความเป็นเมียออกจากกัน ทำให้แทนที่จะโฟกัสที่การดูแลเอาใจใส่ลูกตามหน้าที่ของแม่ แต่กลับไปยุ่งกับวิถีทางเพศของผู้หญิง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกัน และทำให้ความเป็นแม่ที่ดีของลูกที่ดาราหญิงคนนี้มีมานานหายไป เพียงเพราะเธอมีความสัมพันธ์ครั้งใหม่

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดาราสาวแม่เลี้ยงเดี่ยวนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนทัศนคติเรื่องเพศในสังคมไทยเท่านั้น ดร.วราภรณ์ยังมองว่า ประเด็นนี้แสดงให้เห็นถึงการที่สื่อและคนในสังคมขาดการเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล แม้ว่าคนผู้นั้นจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพสังคมที่ค่อนข้างย่อหย่อนเรื่องการเห็นอกเห็นใจ หรือเห็นคนเป็นเพื่อนมนุษย์ นอกจากนี้ การใช้ภาษาในข่าวก็มีทั้งการเหยียดและส่งเสริมให้เกิดอคติต่อผู้หญิงที่ท้องและไม่ได้ผ่านการแต่งงานหรือไม่ได้อยู่ในสถาบันการแต่งงาน ทำให้ภาพของผู้หญิงกลุ่มนี้เป็นผู้ที่ทำเรื่องเสื่อมเสีย แทนที่สื่อจะเป็นตัวแทนในการแสดงความเห็นอกเห็นใจกับภาระของผู้หญิงที่ต้องแบกรับเพื่อเลี้ยงดูสมาชิกของสังคม

“มันเหมือนซ้ำด้วยว่า เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เลี้ยงลูกคนเดียวก็แย่อยู่แล้วในทัศนะของสื่อ แล้วก็ท้องอีก ไม่ได้เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวแล้ว แต่เป็นแม่ลูกสอง มันเหมือนเขาทำผิดซ้ำน่ะ ซึ่งปรากฏการณ์ของการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เขาจะท้องโดยที่ไม่ได้แต่งงาน และเขาตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่เขาเลือกชีวิตของเขาแบบนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่สื่อหรือสังคมจะต้องไปตัดสินแล้วก็ตีตราเขา เพราะว่าสื่อหรือสังคมก็ไม่ได้ไปช่วยเขาเลี้ยงลูก” ดร.วราภรณ์กล่าว

ด้านอาจารย์ ดร.โกสุม ก็มองว่า การนำเสนอข่าวเช่นนี้บวกกับปฏิกิริยาของชาวเน็ตสะท้อนให้เห็นว่าสังคมยังโหยหาการจัดระเบียบทางสังคมในแบบที่เขาคิด และค่านิยมที่แบ่งประเภท “หญิงดีหญิงเลว” ก็ยังไม่หายไป

“ทั้งหมดที่เราเห็นอยู่ตอนนี้มันก็สะท้อนว่า ถึงที่สุดแล้ว คุณก็ยังติดอยู่กับกรอบเพศ กรอบบทบาททางเพศแบบเดิม และยังไม่เคลื่อนไปสู่การยอมรับในความหลากหลายของมนุษย์อย่างแท้จริง” อาจารย์ ดร.โกสุม กล่าว

เมื่อการทลายกรอบบทบาททางเพศต้องรื้อตั้งแต่ระดับโครงสร้างของสังคมและสร้างความเข้าใจใหม่ ซึ่งใช้เวลานาน ขณะเดียวกัน ข่าวกอสซิปลักษณะนี้ก็จะยังคงไหลเวียนในฐานะ “สีสัน” ของวงการบันเทิงต่อไป ดร.วราภรณ์จึงเสนอแนวทางเบื้องต้นที่ผู้เสพข่าวสามารถทำได้ นั่นคือ การตระหนักถึงสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล และการแสดงความเห็นอกเห็นใจในฐานะเพื่อนมนุษย์

“ถ้าสังคมจะอยู่ด้วยกันอย่างดี ก็ต้องนึกถึงตาเขาตาเราเหมือนกัน คนที่ไปขุดคุ้ยเขา ก็ไม่รู้ว่าวันหนึ่งตัวเราหรือคนใกล้ตัวของเราก็อาจจะเจอสถานการณ์ที่สังคมตีตราแบบนี้หรือเปล่า เพราะการที่เราอยู่ในสังคมที่พร้อมจะย่ำคนอื่น มันก็ไม่มีหลักประกันว่าในช่วงชีวิตเรา ตัวเราเองหรือคนใกล้ตัวหรือคนที่เรารักจะไม่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้” ดร.วราภรณ์สรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook