มอง “กระบวนการยุติธรรมไทย” ผ่านคดีขับรถชนคนตาย

มอง “กระบวนการยุติธรรมไทย” ผ่านคดีขับรถชนคนตาย

มอง “กระบวนการยุติธรรมไทย” ผ่านคดีขับรถชนคนตาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“คุกไทยมีไว้ขังคนจน” คำพูดเสียดสีสุดขมขื่น ที่สะท้อนการทำงานของระบบยุติธรรมประเทศไทยที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน แม้จะมีหลายฝ่ายออกมาโต้แย้ง แต่หลายคดีที่ประชาชนได้เห็นผ่านตาบนสื่อต่าง ๆ ก็ยิ่งตอกย้ำคำพูดดังกล่าวให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น อย่างคดีล่าสุดของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส” ทายาทเจ้าของกระทิงแดง ที่ขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต ก็ได้สั่นสะเทือนความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามถึง “ความเที่ยงตรง” ของผู้บังคับใช้กฎหมายอีกครั้ง Sanook จึงขอร่วมมอง “กระบวนการยุติธรรมไทย” ผ่านคดีขับรถชนคนตายที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ 

เมื่อขับรถชนคนตาย 

เชื่อว่าผู้ใช้รถยนต์ส่วนใหญ่ คงเคยประสบอุบัติเหตุเฉี่ยวชนมาบ้าง ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้กระทำความผิดหรือเป็นผู้เสียหายก็ตาม โดย พ.ต.ต.ดร.ปรัชญ์ชา กระมลนิติธรรม นิติกรประจำสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า

“เมื่อเกิดเหตุการณ์เฉี่ยวชนบนท้องถนน การดำเนินการทางกฎหมายจะมีทั้งในรูปแบบของ “คดีแพ่ง” ซึ่งเป็นเหตุทำให้ทรัพย์สินเสียหาย แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และ “คดีอาญา” หรือเมื่อเกิดอุบัติเหตุขับรถชน และเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บทางกาย ร่างกายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย ซึ่งในการฟ้องคดีอาญาจะไม่สามารถยอมความได้ ทั้งนี้ ในการสั่งฟ้องคดีจราจรทางบก เมื่อพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่าการกระทำความผิด ประมาท และมีเรื่องความตายเข้ามาเกี่ยวข้อง พนักงานสอบสวนจะต้องรวบรวมพยานหลักฐาน พยานบุคคล พยานวัตถุ พยานผู้เชี่ยวชาญ และพยานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ส่งให้พนักงานอัยการ เพื่อจะให้อัยการทำการสั่งฟ้อง โดยอัยการต้องนำสำนวนและผู้กระทำความผิดไปขึ้นศาล จากนั้นศาลก็จะทำการตัดสิน และนำไปสู่การลงโทษ”

เมื่อสำนวนส่งมาถึงมือของพนักงานอัยการ ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคดีศาลแขวง จังหวัดสุพรรณบุรี ก็ชี้ว่า อัยการจะพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวน ว่ามีพยานหลักฐานอะไรบ้าง และมีน้ำหนักเพียงพอที่จะดำเนินคดีผู้ต้องหา หรือเพียงพอที่จะให้ศาลลงโทษหรือไม่ 

“ตรงนี้คือหัวใจสำคัญนะ เพราะเมื่อไรที่อัยการสั่งฟ้อง นั่นคืออัยการต้องมั่นใจว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดจริง และต้องมั่นใจว่าเมื่อนำพยานมาสืบแล้ว ศาลจะทำการลงโทษ มันมีเหตุผลง่าย ๆ เลยว่า ถ้าพยานหลักฐานไม่ชัดเจนและแน่นหนา อัยการไม่มั่นใจว่าผู้ต้องหาเป็นคนผิดจริงหรือเปล่า แล้วเราไปฟ้องคดี ถ้าเกิดว่าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้กระทำความผิด แปลว่า รัฐต้องใช้ทรัพยากรของรัฐไปดำเนินคดีคนบริสุทธิ์ มันถูกต้องที่ไหน การดำเนินคดีไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แต่เป็นเรื่องของการจับขัง ต้องเสียเงินประกันตัวและเสรีภาพ ดังนั้น เวลาที่อัยการดูพยานหลักฐานในสำนวน อัยการจะต้องมั่นใจว่าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์” ดร.น้ำแท้กล่าว 

ด้วยเหตุนี้ กระบวนการยุติธรรมทางอาญา” จึงอาจเปรียบได้กับ “การทำอาหาร” ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ และศาลต้องทำงานเป็นขั้นตอนร่วมกันเพื่อส่งมอบความยุติธรรมให้กับประชาชน 

“เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนจะเป็นผู้สรรหาวัตถุดิบ ส่งให้อัยการ ซึ่งมีหน้าที่ในการปรุงอาหาร โดยอัยการก็จะทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูล วัตถุดิบที่มีนำมาปรุงเป็นอาหารได้ไหม ถ้าปรุงได้ก็ส่งให้ศาลชิม คำว่า “ชิม” ในที่นี้ก็คือกระบวนการพิจารณา ถ้าศาลว่าอร่อย ศาลก็จะ “กิน” หรือศาลก็จะลงโทษ แต่ถ้าศาลชิมแล้วไม่ได้เรื่อง เครื่องปรุงไม่ครบ ขาดโน่น ขาดนี่ ศาลก็จะเททิ้ง ซึ่งถ้าศาลเททิ้งก็หมายถึงการยกฟ้อง” พ.ต.ต.ดร. ปรัชญ์ชาชี้ 

ปัญหาปัจจัยเข้าแทรกแซง 

แต่สิ่งที่เป็นปัญหาใน “กระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ก็คือการเข้ามาแทรกแซงของปัจจัยอื่น ๆ เช่น ปัจจัยทางบุคคล ปัจจัยทางผลประโยชน์ที่อาจทำให้เกิดการเบี่ยงเบนในการดำเนินคดีรูปแบบต่าง ๆ ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาดำเนินไปอย่างผิดรูปผิดรอย  โดยดร.น้ำแท้ ระบุว่า “ปัญหาหลักเลยก็คือหลักฐานในที่เกิดเหตุถูกทำลาย หรือไม่ถูกรวบรวมเข้ามาในสำนวน และคนทำลายหลักฐานที่ดีที่สุดก็คือ เจ้าหน้าที่รัฐ” ซึ่งปัญหาดังกล่าวกลายเป็นช่องโหว่ใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมไทยมาอย่างยาวนาน ขณะเดียวกัน อัยการก็ไม่เห็นหลักฐานใด ๆ นอกจากสำนวนที่ตำรวจเขียนมา 

“อัยการไม่รู้เรื่องอะไรเลย อัยการก็จะเป็นเครื่องมือทั้งการสั่งไม่ฟ้องคน หรือการสั่งฟ้องคนบริสุทธิ์ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข ถ้าสมมติว่าอัยการมีหน้าที่สืบสวนตั้งแต่เริ่มคดี อัยการจะไม่สามารถแก้ตัวได้ว่า ไม่รู้ว่ามีหลักฐานชิ้นอื่น ๆ ที่ไม่ได้ถูกใส่เข้ามาในสำนวนตั้งแต่แรกอยู่ กล่าวได้ว่า อัยการก็ตาบอดข้างเดียว ส่วนศาลก็ตาบอดทั้งสองข้างเลย นี่คือกระบวนการยุติธรรมไทยที่ไม่ได้มาตรฐาน ที่ผมพูดมาเสมอ พูดที่ไหนก็พูดแบบนี้ เพราะปัญหามันเกิดแบบนี้” 

"ระบบวิปริต วิปลาส"

คดีของ “บอส” ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ “การทำงานของกระบวนการยุติธรรมไทย” เป็นวงกว้าง เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นบุคคลที่มีฐานะ และมีแนวโน้มที่จะ “รอดคุก” สูงมาก ซึ่งแน่นอนว่าคดีนี้ไม่ใช่คดีแรกที่เคยเกิดขึ้น 

“มันเป็นแบบนี้มานานแล้วครับ ผมใช้คำแรงด้วย ผมว่ามันเป็นระบบที่วิปริต วิปลาส” ดร.น้ำแท้กล่าว พร้อมชี้ว่า หากตัวบทกฎหมายและระบบดี ผู้ใช้กฎหมายก็ไม่อาจทำเลวได้ และระบบอุปถัมภ์ก็จะถูกทำลายลงไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้ ก็แปลได้ว่า “ระบบของไทยมันไม่ดี จึงปล่อยให้คนชั่วทำชั่วได้

อย่างไรก็ตาม แม้ทางออกคือ “การปฏิรูประบบ” แต่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นธรรมก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย โดย ดร.น้ำแท้ ให้เหตุผลว่า “การปฏิรูปจะทำให้คนที่มีเงิน คนที่มีอำนาจ คนที่มีอิทธิพล ซึ่งเป็นคนที่มีความได้เปรียบในทางคดี หรือได้เปรียบในการแสวงหาผลประโยชน์จะต้องสูญเสียความได้เปรียบเหล่านี้ไป พวกเขาไม่ยอมแก้กฎหมายหรอก เพราะคนที่มีอำนาจ ก็คือคนที่ถืออำนาจรัฐอยู่ในมือ ผมพูดเสมอว่า “งาช้างไม่งอกจากปากหมา” ผู้มีอำนาจไม่ต้องการการปฏิรูป เพราะความได้เปรียบในการแสวงหาผลประโยชน์ กอบโกยผลประโยชน์ในการบิดเบือนคดีจะหายไป ทำไมการปฏิรูปประเทศไทยไม่เคยสำเร็จเสียที เพราะผลประโยชน์ของคนพวกนี้จะหายไปยังไงล่ะ” 

ขณะที่ พ.ต.ต.ดร.ปรัชญ์ชา ก็มองว่า “คุกไทยมีไว้ขังคนจน” เป็นคำพูดที่เจ็บปวดมากสำหรับนักกฎหมาย โดยเฉพาะเมื่อเห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้บังคับใช้กฎหมายอาจเลือกบังคับใช้กฎหมายเฉพาะกับคนบางกลุ่ม และเลือกที่จะงดเว้นคนบางกลุ่ม แต่ทั้งนี้ เขาก็เห็นด้วยว่า ปัญหาใหญ่ของระบบกระบวนการยุติธรรมของไทยก็คือ “คน” 

“ผมเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรม กฎหมายของไทยเป็นมาตรฐานสากล ทั้งตัวกฎหมายหลัก เรื่องของกระบวนการแต่ละบัญญัติ การออกข้อกำหนดให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติ ทุกอย่างเป็นมาตรฐานสากลทั่วโลกเลย แต่ทีนี้ “คน” หรือบุคลากรที่เข้าไปอยู่นั่นแหละที่เป็นปัญหา เพราะมันมีเรื่องของการทุจริต ประพฤติมิชอบ แสวงซึ่งผลประโยชน์จากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ใช้เรื่องของเล่ห์กล เรื่องของกระบวนการบิดเบี่ยงคดีทั้งหลาย เพื่อได้มาซึ่งการทุจริต คอรัปชั่น และผลประโยชน์” พ.ต.ต.ดร.ปรัชญ์ชาระบุ

หนทางสร้างความเชื่อมั่นกลับคืน 

วิธีการที่ พ.ต.ต.ดร.ปรัชญ์ชา มองว่าจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นทางกระบวนการยุติธรรมให้กลับมาได้สำหรับคดีของ “บอส” คือการทำให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินคดีที่สามารถตรวจสอบได้ เปรียบได้กับการชำระล้าง และตรวจดูว่าเกิดรอยรั่วหรือความผิดพลาดตรงไหน

“ช่องทางหนึ่งคือ ถึงแม้อัยการไม่ฟ้อง ผู้เสียหายไม่ฟ้อง แต่ถ้ามันเป็นเรื่องของความสงบในสังคม หรือศีลธรรมอันดี ซึ่งเป็นหลักสากล ก็ควรมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นผู้ยื่นต่อศาล เพื่อให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการขอให้พนักงานอัยการส่งสำนวนมาตรวจสอบ เพื่อในกรณีที่เกิดลักษณะเหมือนคดีบอส ที่ผู้เสียหายก็ไม่ฟ้อง อัยการก็ฟ้องไม่ได้ แต่เป็นคดีที่ขัดต่อความรู้สึกของประชาชน ก็ควรจะมีช่องทางที่องค์กรหนึ่งสามารถดำเนินการยื่นคำร้องถึงศาล เพื่อเรียกสำนวนมาตรวจสอบได้” พ.ต.ต.ดร.ปรัชญ์ชากล่าว 

ในทางกลับกัน ดร.น้ำแท้ ได้เสนอวิธีการ “ให้อำนาจอัยการและฝ่ายปกครอง” ในการเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุ สามารถร่วมรับรู้และเห็นพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุได้ ซึ่งจะเข้ากับหลักความเป็นสากลเช่นกัน 

“เราต้องรู้ปัญหาก่อน ซึ่งก็คือ เจ้าหน้าที่รัฐได้รับผลประโยชน์ ทำลายหลักฐานในที่เกิดเหตุ พอเรารู้ปัญหา ก็ต้องหาทางแก้ให้ถูกจุด ทางแก้ที่ถูกจุดก็คือ ทำยังไงให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถทำลายหลักฐานได้ ซึ่งผมก็บอกว่า เวลาเกิดเหตุ มันต้องมีหลายหน่วยรู้ และมีหลายหน่วยดำเนินคดี เพื่อเข้ามาตรวจทานกันเอง ต้องเอาคนที่มีอำนาจในมือมาตรวจสอบกันเอง จะให้ภาคประชาชนมาตรวจสอบ ประชาชนไม่มีความรู้ ไม่มีความพร้อม ไม่มีอำนาจรัฐ ไม่เข้าใจระบบ เข้ามาตรวจสอบไม่ได้หรอก มันต้องเอาระบบปราบระบบ ถึงบอกว่าเกลือต้องจิ้มเกลือไง” ดร.น้ำแท้ชี้

ทั้งนี้ การทำให้ประชาชนมีความรู้และเข้าใจว่าปัญหาที่แท้จริงของระบบคืออะไร ก็จะทำให้ประชาชนเข้าใจและช่วยกันสอดส่อง เพื่อทำให้เกิดระบบที่ไม่เปิดช่องให้คนได้ทุจริตอีกต่อไป และเมื่อวันนั้นมาถึง คนจนกับคนรวยจะเสมอภาคกัน และคำพูดที่ว่า “คุกไทยมีไว้ขังคนจน” ก็คงจะหมดไปจากสังคมไทยเสียที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook