เด็กยุคใหม่ ไฟ (ยัง) แรง

เด็กยุคใหม่ ไฟ (ยัง) แรง

เด็กยุคใหม่ ไฟ (ยัง) แรง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : ปรัชญ์ปรีชา ศีลพิพัฒน์

นักศึกษาอเมริกันไอเดียดี เปิดหอพักทำออฟฟิส ผลิตสินค้า เปิดบริการแปลกใหม่ ขายบนเว็บไซต์ โกยรายได้สู้วิกฤติ

ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ด เงินไม่ค่อยเข้ากระเป๋า ย่อมไม่มีใคร อยากให้เงินออกนอกกระเป๋า แต่เด็กนักศึกษากลุ่มหนึ่ง กลับมองเห็นช่องทางสดใส ในการลงทุนเพื่อเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง

เท้าของ ซูซี เลวิตต์ และ เคธี เชีย สองนักศึกษาชาวอเมริกันระบมอย่างหนัก เพราะพวกเธอใส่รองเท้าส้นสูงเดินช็อปปิ้ง ในย่านแมนฮัตตันของมหานครนิวยอร์ก

ทัล ราวิฟ รู้สึกท้อแท้ ระหว่างที่เขาไปเรียนต่อที่ฮ่องกงเมื่อปี 2550 เขาไม่สามารถปรับตัวเข้ากับชีวิตในเมืองใหญ่แห่งนี้ได้ และยิ่งรู้สึกแย่มากขึ้นไปอีก เมื่อพยายามติดต่อกับเพื่อนผ่านเว็บไซต์เฟซบุคที่มีแต่คนชื่อเหมือนๆ กัน

ขณะที่ ฮวน คัลเล และอดัม เบอร์ลิน รู้สึกเบื่อหน่ายกับการชมการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล ระดับมหาวิทยาลัยผ่านโทรทัศน์ เพราะพวกเขาคิดว่า มันคงไม่สนุกเท่ากับการได้ไปอยู่ในสนามแข่งขันจริง

แต่แทนที่เด็กมหาวิทยาลัยกลุ่มนี้จะยิ้มและยอมรับกับสิ่งที่ เกิดขึ้น พวกเขากลับนำปัญหาเหล่านี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างธุรกิจของตัวเอง

เลวิตต์และเชีย ตัดสินใจตั้งบริษัท 'ซิตี้โซลส์' ผู้ผลิตรองเท้าพับได้สำหรับสุภาพสตรี ที่รู้สึกเจ็บเท้าจนใส่รองเท้าส้นสูงไม่ไหว ส่วน ราวิฟ เริ่มดำเนินธุรกิจ 'ดร็อปคาร์ด' เว็บไซต์ที่ผู้ใช้บริการสามารถระบุข้อมูลบนนามบัตรอิเล็กทรอนิคส์ ได้มากกว่าที่พบในนามบัตรทั่วๆ ไป ขณะที่ คัลเล และเบอร์ลิน สร้างสรรค์ 'เอสอีซี เอกซ์เคียวชั่น' บริษัทท่องเที่ยวที่คอยจัดหารถโดยสาร และจองโรงแรมให้ลูกค้าที่สนใจจะไปชมอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัย

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและความไร้ประสบการณ์อาจทำให้คนส่วนมากประสบปัญหา หากนักศึกษากลุ่มนี้ไม่ได้หมดกำลังใจแต่อย่างใด

"ไม่มีช่วงเวลาไหนดีกว่านี้อีกแล้วในการเริ่มทำธุรกิจ ระหว่างที่เศรษฐกิจตกต่ำหรือถดถอย นวัตกรรมใหม่ๆ มักเกิดขึ้นเสมอ" คริสโตเฟอร์ แฮงค์ส ผู้อำนวยการโครงการผู้ประกอบการประจำมหาวิทยาลัยจอร์เจียในสหรัฐ กล่าว

ที่ทำงานอยู่ใน 'หอพัก'

ขณะที่ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์กูเกิล ดำเนินธุรกิจจนประสบความสำเร็จภายในโรงรถ แต่นักศึกษากลุ่มนี้ ใช้หอพักของพวกเขาเป็นสถานที่ทำงาน เพราะพวกเขาจะต้องแบ่งเวลาในการเรียน ทำกิจกรรมนอกหลักสูตร วางแผนธุรกิจและคำนวนรายรับ รายจ่ายไปพร้อมๆ กัน

"ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ผมมีเรียนวิศวกรรมเคมี และตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึง 9 โมงเช้า ผมจะทำธุรกิจดร็อปคาร์ด ดังนั้นผมจึงมีเวลาว่างไม่มากนัก" ราวิฟ วัย 22 ปี กล่าว

ขณะที่ เลวิตต์และเชีย ระบุว่า ธุรกิจรองเท้าของพวกเธอไม่มีวันหยุด แม้กระทั่งเสาร์อาทิตย์ ส่วนคัลเล บอกว่า ธุรกิจนำเที่ยวไม่ได้ทำให้ผลการเรียนหรือชีวิตส่วนตัวของเขาเสียหาย

"เรารู้สึกสนุกกับตัวเอง เราไม่ได้มองสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นการเสียสละ" คัลเล วัย 21 ปี เผยความรู้สึก

แฮงค์ส กล่าวว่า ทัศนคติเหล่านี้ คือ ตัวอย่างของผู้ประกอบการที่ยังเป็นนักศึกษา พวกเขาไม่ต้องเผชิญแรงกดดันในการเลี้ยงดูตัวเอง เพราะส่วนใหญ่ ผู้ปกครองจะเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูพวกเขา และเรื่องเงินก็ไม่ใช่จุดประสงค์หลัก

"นักศึกษามีความได้เปรียบแน่นอน ระดับความกระตือรือร้นของพวกเขาสูงมาก พวกเขาไม่รู้ว่าอะไรที่ตัวเองไม่รู้ พวกเขารู้สึกตื่นเต้นเมื่อคิดว่าจะทำธุรกิจนี้ดีไหม จุดมุ่งหมายของพวกเขาไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินมากเท่าความท้าทาย" แฮงค์ส อธิบาย

ตีโจทย์ให้แตก (แล้วความสำเร็จจะตามมา...)

นักศึกษากลุ่มนี้ไม่ได้เริ่มทำธุรกิจตามตำรา เลวิตต์และเชีย ใช้บริการ Alibaba.com เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซระดับโลก เพื่อเผยแพร่แนวคิดของพวกเธอให้เหล่าซัพพลายเออร์ และใช้เงินเก็บเป็นทุนในการเริ่มกิจการ ส่วนราวิฟ ได้ความช่วยเหลือจากบริษัทลงทุน ขณะที่ คัลเลและเบอร์ลิน เข้าหุ้นกับนักลงทุนรายย่อย

เลวิตต์และเชีย ซึ่งอยู่ในวัย 22 ปีทั้งคู่ ใช้เงินไม่ถึง 10,000 ดอลลาร์ เพื่อเริ่มธุรกิจ ซิตี้โฮลส์ เมื่อปีที่แล้ว เงินจำนวนดังกล่าวครอบคลุมต้นทุนรองเท้าและค่าจ้างนักออกแบบเว็บไซต์ จากนั้น พวกเธอต้องประสานงานกับซัพพลายเออร์และโรงงานในทวีปเอเชีย เพื่อประเมินว่ารองเท้าแบบใดเหมาะสมกับบริษัทของพวกเธอมากที่สุด โดยทั้งคู่ได้ทำการวิจัยตลาดและพบว่า ตลาดเอเชียต่างจากสหรัฐอย่างสิ้นเชิง

"เราทำทุกอย่างผ่านอินเทอร์เน็ต เรากลายเป็นนกฮูกแล้วตอนนี้" เลวิตต์กล่าวติดตลก พร้อมระบุว่า รองเท้าของพวกเธอทำจากหนังเทียม บรรจุมาในถุงผ้าขนาดกะทัดรัด และกำลังอยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตร

เมื่อรองเท้าล็อตแรก 1,000 คู่ น้ำหนักกว่า 181 กิโลกรัม เดินทางมาถึงบ้านของเชีย ในย่านลองไอร์แลนด์ เลวิตต์ ระบุว่า พวกเธอรู้สึกตื้นตันใจเป็นอย่างมาก และในอีกไม่กี่วันถัดมา หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก เดลี ลงบทความเกี่ยวกับ ซิตี้โฮลส์ แต่พวกเธอยังไม่พร้อมรับมือกับการสั่งสินค้าจำนวนมากๆ จึงรีบไปเปิดบัญชี PayPal ในทันที

"ตั้งแต่นั้น เราโทรศัพท์ไปร้านขายเสื้อผ้าหลายแห่ง เราส่งสินค้าและตัวอย่างไปให้ จนปัจจุบันนี้ มีร้านขายเสื้อผ้า 17 แห่งทั่วประเทศที่ขายสินค้าของเรา" เลวิตต์ ซึ่งเรียนคณะเศรษฐศาสตร์และจะจบการศึกษาในฤดูใบไม้ร่วงนี้กล่าว

เมื่อฤดูร้อนที่แล้ว ราวิฟ และเพื่อนอีก 2 ราย ยื่นขอเงินสนับสนุนธุรกิจนามบัตรอิเล็กทรอนิคส์ไปยัง 'ดรีมอิท เวนเจอร์ส' ในเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนที่ปล่อยเงินกู้แก่ผู้ที่ต้องการดำเนินธุรกิจของตนเอง

ราวิฟ ที่เพิ่งได้รับปริญญาด้านวิศวกรรมเคมีจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แสดงความซื่อสัตย์ให้ดรีมอิทได้เห็น เมื่อถูกถามว่า ธุรกิจนามบัตรของเขาจะทำเงินได้หรือไม่

"ผมตอบว่า ไม่ทราบจริงๆ พวกเขาเลยบอกผมว่า ยอดเยี่ยม เรารู้ดีว่า ไม่มีทางที่จะรู้เรื่องดังกล่าวในตอนนี้หรอก"

ราวิฟ กล่าวว่า การขาดรายละเอียดในแผนดำเนินธุรกิจ ทำให้ดรีมอิท มองเห็นว่า จะสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างไร พวกเขาจึงได้รับเงิน 20,000 ดอลลาร์เป็นต้นทุนในการเริ่มธุรกิจ

ในตอนแรก ดร็อปคาร์ด มุ่งเป้าไปที่บริษัทเทคโนโลยีทั้งหลาย แต่ภายหลังก็กลับไปหา 'ธุรกิจแบบเก่า' เช่น ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่ได้รับการพิสูจน์ว่าทำกำไรมากกว่า โดยขณะนี้ ดร็อปคาร์ดอยู่ระหว่างการทดลองให้บริการบริษัท 4 แห่ง เพื่อดูว่า พวกเขาจะสามารถปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจได้อย่างไร ซึ่งดร็อปคาร์ดยึดคติว่า เสียงตอบรับ คือ สะพานนำไปสู่การเติบโตของบริษัท

"เราแก้ไขทุกอย่าง แทนที่จะนั่งอยู่ข้างหลังและวางแผนยุทธศาสตร์ เราปล่อยให้ลูกค้าของเราเขียนแผนธุรกิจให้เรา" ราวิฟ อธิบาย

ขณะที่คัลเลนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของมหาวิทยาลัยจอร์เจีย เริ่มทำธุรกิจนำเที่ยวด้วยเงินจากนักลงทุนหลายราย และยังได้รับความช่วยเหลือจากโครงการเพื่อผู้ประกอบการ วิทยาลัยเทอร์รี คอลเลจ มหาวิทยาลัยจอร์เจีย โดยแฮงค์ส อาสารับตำแหน่งผู้ช่วยของคัลเลและเบอร์ลิน เพื่อคิดแผนงานและหาโอกาสในการสร้างกำไร

เอสอีซี เอกซ์เคียวชั่น เพิ่งเริ่มให้บริการเมื่อเดือนก.ค.ปีที่แล้ว แต่บริษัทประสบความสำเร็จทันทีในทริปทดลองพาลูกค้าไปเมืองบาตันรอค รัฐลุยเซียนา เพื่อชมการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลระหว่างมหาวิทยาลัยจอร์เจียกับลุยเซียนา สเตท โดยลูกค้าในทริปดังกล่าวได้พักในโรงแรมเป็นเวลา 2 คืน มีรถโดยสารมารับไปสนาม และได้ร่วมงานเลี้ยงหลังการแข่งขัน

แพคเกจดังกล่าว มีราคาอยู่ระหว่าง 100 ถึง 300 ดอลลาร์ต่อลูกค้าหนึ่งคน ไม่รวมค่าบัตรเข้าชมเกม ซึ่งเอสอีซี เอกซ์เคียวชั่น ได้ทำสัญญากับผู้ให้บริการรถโดยสารและเครือข่ายโรงแรมหลายแห่ง และบริษัทส่งตัวแทนจำหน่ายแพคเกจท่องเที่ยวไปประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัย 4 แห่งแล้วในตอนนี้

"บรรดานักศึกษาชอบทัวร์นี้มาก เพราะเราได้จัดเตรียมทุกอย่างให้พวกเขา ตั้งแต่เราเปิดให้บริการ เราก็ได้ยินแต่เสียงตอบรับที่ดีมาโดยตลอด" คัลเลสรุป

 

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ เด็กยุคใหม่ ไฟ (ยัง) แรง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook