“วีรพร นิติประภา” กับรักของแม่บน "ความเป็นมนุษย์"
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ ขณะนี้ยุคของคนรุ่นใหม่ได้เริ่มขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามต่อระบบและอำนาจต่างๆ บนโลกออนไลน์ ลุกลามสู่การแสดงจุดยืนทางการเมืองในพื้นที่โลกจริง ทั้งยังสร้างแรงสั่นสะเทือนต่ออำนาจของ “ผู้ใหญ่” ในหลายภาคส่วน ไม่เว้นแม้กระทั่งพื้นที่เล็กๆ อย่างครอบครัว ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นสมรภูมิขนาดย่อมระหว่าง “แม่” ผู้กุมอำนาจในบ้านกับ “ลูก” วัยรุ่นไฟแรง การกระทบกระทั่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างคนสองคนที่น่าจะรักกันมาก และมีทางไหนที่จะประคับประคองความสัมพันธ์ของแม่ลูกให้ตลอดรอดฝั่ง
ณ Mitrtown Sky Garden สามย่านมิตรทาวน์ ในวันฝนตก Sanook นัดพบกับ “วีรพร นิติประภา” หรือ “พี่แหม่ม” นักเขียนดับเบิลซีไรต์และคุณแม่สุดเท่ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นกูรูด้านความสัมพันธ์แม่ลูกแห่ง พ.ศ.นี้ เพื่อพูดคุยถึงปัญหาโลกแตกระหว่างแม่ลูก ที่ไม่ใช่แค่เรื่องในบ้าน แต่เป็นเรื่องสำคัญระดับสังคมเลยทีเดียว
สังคมที่มนุษย์ต่างเปราะบาง
โลกยุคใหม่ที่คนทั่วโลกเชื่อมโยงถึงกันและรับข้อมูลข่าวสารมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เด็กรุ่นใหม่มองเห็นตัวอย่างของเด็กจากประเทศอื่นๆ จนนำไปสู่การตั้งคำถามต่อวิถีชีวิตของตัวเองและระบบที่ครอบงำสังคม และโลกยุคใหม่นี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความพยายามของคนรุ่นใหม่ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่พี่แหม่มมองเห็น คือ “อำนาจนิยม” ในสังคม ที่เพิ่มสูงขึ้น และถูกส่งต่อลงมาเป็นทอดๆ จากรัฐสู่หน่วยงาน องค์กรต่างๆ นั่นหมายความว่า คนเป็นพ่อแม่ก็ถูกกดทับจากอำนาจในสังคม และสุดท้ายก็กลับมาใช้อำนาจกับคนที่มีอำนาจน้อยกว่า นั่นคือลูก โดยไม่รู้ตัว
“เวลาที่เราอยู่ในสังคมที่เป็นอำนาจนิยม ถ้าคนมีอำนาจหน้าที่แม้แต่นิดเดียว เขาก็จะจัดการกับอำนาจเท่าที่มี พ่อแม่ก็ทำ ครูก็ทำ ในที่ทำงาน ถ้าเจ้านายโปรดคนไหน คนนั้นจะมีอำนาจ ถ้าเจ้านายไม่โปรดคนไหน ไอ้นั่นโดนเล่น แล้วทั้งบริษัทก็จะรุมเล่น บ้านที่มีลูกหลายๆ คน เรื่องเศร้าก็คือ พ่อแม่ไม่เป็นธรรม พ่อแม่บูลลี่ลูกคนหนึ่ง ลูกอีกคนก็จะเข้าข้างพ่อแม่ทันที มันเป็นสังคมที่คุณไม่ได้รับอนุญาตให้อ่อนแอ ด้วยเหตุที่ทุกคนรู้สึกไม่มั่นคง ทุกคนเปราะบาง คุณก็พร้อมที่จะเล่นคนอื่น เพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่ากูโอเค”
นอกจากนี้ พี่แหม่มยังมองว่า สังคมที่รัฐไม่ได้ให้ความมั่นคงในชีวิตแก่ประชาชนก็ผลักให้ผู้คนต้องละทิ้งความใฝ่ฝัน ดิ้นรนแสวงหาความมั่นคงด้วยตัวเอง และก้าวสู่การเป็นหนูถีบจักร ที่วิ่งวนตามกลไกการโฆษณาในระบบทุนนิยม ใช้เงินผ่อนซื้อสิ่งที่เรียกว่า “ความมั่นคง” ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถ รวมทั้งการทุ่มเทเงินเพื่อให้ลูกเรียนโรงเรียนดีๆ มีงานที่สร้างรายได้ เพื่อให้มาเลี้ยงดูแม่ในช่วงบั้นปลายชีวิต และวงจรนี้ก็หมุนวนต่อไป เพราะลูกก็ต้องละทิ้งความฝันในการเลือกวิถีชีวิตที่ตัวเองต้องการ เพื่อ “ตอบแทนบุญคุณ” ที่แม่เสียสละมาตลอดชีวิต
เมื่อลูกนกอยากทิ้งรัง
ปัญหาโลกแตกระหว่างแม่กับลูกที่เราคุ้นเคยกันมักจะเริ่มตั้งแต่ที่ลูกเป็นวัยรุ่น วัยที่ลูกเริ่มยืนยันตัวตนและความคิดของตัวเองตามขั้นตอนการเติบโตตามปกติ หรือที่พี่แหม่มเรียกว่า “ขั้นตอนของการเป็นมนุษย์” ทว่าในขณะที่นกตัวน้อยเริ่ม “ปีกกล้าขาแข็ง” พร้อมที่จะออกไปเผชิญโลกกว้าง แม่กลับรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง รู้สึกว่าลูกไม่เห็นความสำคัญ และนั่นก็นำไปสู่การเรียกร้องด้วยคำพูดที่ตอกย้ำซ้ำๆ ว่า “ฉันเป็นแม่แกนะ” ราวกับว่าที่ผ่านมาความรักของทั้งคู่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
“ตอนลูกคุณเล็กๆ แค่คุณจะออกไปทำงาน ลูกก็ร้องไห้แล้ว มันทนให้คุณหายไปจากสายตายังไม่ได้เลย นี่ยิ่งกว่ากตัญญูอีกนะ คุณคือโลกทั้งบานน่ะ คุณคือสิ่งสำคัญ คุณสามารถถ่วงเขาไม่ให้เจริญงอกงามได้ด้วยซ้ำ เกิดเขาไม่ไปมหาวิทยาลัยเพราะคิดถึงแม่ คุณต้องรู้ว่าเขาเคยรักคุณขนาดไหน แต่คุณไม่มองตรงนี้ กลัวลูกไม่รักก็ทวง เพราะว่ากลัวโดนทิ้ง เพราะไม่มีรัฐสวัสดิการ คุณต้องไปเรียกร้องรัฐสวัสดิการแทนที่จะมาเรียกร้องจากเด็ก ทำไมเราไม่อยู่อย่างพ่อแม่ลูกที่รักกัน” พี่แหม่มแสดงความเห็น
ในมุมมองของพี่แหม่ม บุญคุณไม่ได้ถูกตอกย้ำและทวงถามโดยครอบครัวเท่านั้น แต่โรงเรียนก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยย้ำให้เด็กๆ ต้องสำนึกบุญคุณบุพการีโดยไม่มีข้อแม้ ผ่านทางกิจกรรมในวันแม่แห่งชาติ ที่สุดท้ายก็กลายเป็นดราม่าที่เวียนมาให้ถกเถียงกันทุกปี
“บุญคุณคือบุญคุณ ตราบใดที่คุณไม่ทวง ถ้าคุณทวงมันก็หาย เด็กเขารู้คุณอยู่แล้ว จนกระทั่งคุณทวงนี่แหละ โรงเรียนก็ช่วยทวง ทุกคนกดดันเขาว่าเธอต้องเป็นแบบนี้ๆๆๆ เพราะฉันดีกับแก ฉันเลี้ยงแกมา เขาก็เริ่มแบกไม่ไหว แล้วมันก็กดทับ มีวันแม่ ร้องห่มร้องไห้ เอาพวงมาลัยไปไม่พอ กราบพื้นก็ไม่พอ เวลาโมโหขึ้นมา ลูกเถียง เถียงแพ้ ก็บอกว่าฉันเป็นแม่แกนะ เราไม่ได้อยู่กันด้วยเหตุผล ด้วยคุณงามความดี”
แม้จะมีคำพูดที่ว่า ลูกที่กตัญญูจะพบแต่ความสุขความเจริญ แต่สำหรับพี่แหม่ม ภาพความกตัญญูที่สังคมป้อนให้กับเด็กๆ กลับเป็นสิ่งที่น่ากลัว เด็กหลายคนต้องถูกขังอยู่ในกรงแห่งความรู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการ ขณะเดียวกันก็รู้สึกผิดและถูกตีตราว่าเป็น “คนอกตัญญู” เมื่อไม่สามารถทำตามความต้องการของพ่อแม่ได้ ที่สุดแล้ว ความรู้สึกเหล่านี้ก็ผลักให้แม่และลูกห่างออกจากกัน และสูญเสียกันไปตลอดกาล กลายเป็นมนุษย์ผู้เดียวดายและไร้ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในที่สุด
“สิ่งที่เราไม่เหลือเลยในสังคมนี้ คือการอยู่อย่างมนุษย์สองคนที่รักกันที่สุดเหมือนวันที่เขายังเด็กๆ ในที่สุดก็มีช่องว่างมหากาฬระหว่างแม่กับลูก แล้วก็เป็นประชากรที่โคตรเดียวดาย คุณโดนเจ้านายด่ามา คุณก็ไม่สามารถที่จะกลับไปหนุนตักแม่ให้แม่โอ๋ได้ ส่วนแม่ก็ไม่มีอะไรเลย ก็พยายามที่จะยึดลูกไว้ แล้วก็ยึดแบบผิดๆ ทั้งที่จริงๆ เรารักกันอยู่แล้ว เรารักกันตั้งแต่วันที่เห็นกัน เรารักกันแบบตายแทนกันได้อยู่แล้ว จนกระทั่งคุณทวงนี่แหละ จนกระทั่งโรงเรียนจัดไหว้แม่นี่แหละ”
เพราะแม่และลูกต่างก็เป็นมนุษย์
“ความพลาดของสังคมเราก็คือ เราเป็นสังคมที่ไม่มีงานอดิเรก เราไม่มีความหลงใหลใฝ่ฝัน ไม่มีความสามารถในการภาคภูมิใจในการถักนิตติงรองแก้วขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว เพราะฉะนั้น คุณก็จะพยายามเอาความภาคภูมิใจจากลูก เป็นแม่ที่ลูกรัก เป็นแม่ที่ยุ่งกับลูก แล้วเรียกว่าการดูแล เป็นแม่ที่มีอำนาจเหนือลูก” พี่แหม่มกล่าวถึงข้อจำกัดทางสังคมที่ส่งผลถึงตัวตนของคนที่เป็นแม่ และกระทบสู่ชีวิตของแม่เมื่อลูกเติบโตขึ้นในที่สุด ซึ่งวิธีการที่จะแก้ปัญหานี้ก็คือ “การเป็นตัวของตัวเอง”
“ถ้าลูกคุณเริ่มเป็นตัวของตัวเอง คุณก็เริ่มเป็นตัวของตัวเองบ้าง” พี่แหม่มตอบเสียงดังเมื่อเราถามว่า แม่ต้องทำอย่างไรเมื่อลูกเริ่มเติบโตและเป็นตัวของตัวเอง โดยแทนที่จะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในทุกวินาทีของชีวิตลูก แม่ควรใช้เวลาทำสิ่งที่ตัวเองยังไม่ได้ทำ ปล่อยให้ลูกได้ใช้ชีวิต เผชิญกับความผิดพลาดด้วยตัวเอง และเติบโตด้วยตัวเอง ซึ่งวิธีการนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ทั้งแม่และลูกได้ใช้ชีวิตที่ตัวเองต้องการเท่านั้น แต่ยังสร้างบทสนทนาระหว่างกันให้มากขึ้นด้วย
“คุณต้องเรียนรู้ว่า อำนาจของการจัดการกับลูกในบ้านตัวเอง อำนาจของการแก่ตัว มันไม่ใช่อำนาจที่เที่ยงแท้ อำนาจที่เที่ยงแท้คืออำนาจของสติปัญญา อำนาจของเหตุผล อำนาจของความเข้าอกเข้าใจ” พี่แหม่มกล่าว
สำหรับแนวทางที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกดีขึ้น และทำให้คนทั้งคู่สามารถประคองกันไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง พี่แหม่มมองว่า ความยากของการแก้ปัญหา คือการที่รัฐไม่ได้มองประชาชนอย่างเป็นมนุษย์ที่มีความต้องการพื้นฐานอย่างที่อยู่อาศัย การศึกษา ยารักษาโรค และคุณภาพชีวิตที่ดี และจัดสวัสดิการให้กับประชาชนอย่างเพียงพอ ส่งผลให้ประชาชนต้องละทิ้งความใฝ่ฝันและอิสรภาพ เปลี่ยนตัวเองเป็นเครื่องจักร ทำงานหาเงิน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต จนหลงลืมความเป็นมนุษย์ทั้งของตัวเองและคนรอบข้าง เพราะฉะนั้น คำแนะนำของพี่แหม่มก็คือ แม่ต้องมองเห็นความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ที่สามารถผิดพลาดได้ แล้วจึงจะเห็นความเป็นมนุษย์ของลูก ที่สามารถผิดพลาดได้เช่นเดียวกัน
“ถ้าเรามองเห็นความเป็นมนุษย์ของตัวเอง เราก็จะมองเห็นความเป็นมนุษย์ของลูก คุณจะเห็นความเปราะบางของลูก และมองเห็นว่าในความเปราะบางนั้น เขาสามารถเอาตัวรอดได้ในแบบของเขา เราต้องมองว่าเขามีความนึกคิด มีจิตใจของเขา และสิ่งที่เราต้องทำก็คือให้ทางเลือกในชีวิตเท่าที่เราทำได้ แล้วเราก็แค่ช่วยประคองกันไป เขาควรจะเติบโตโดยมีเราอยู่เคียงข้างเขาเสมอ อย่าให้เขาเกลียดคุณ เพราะถ้าเขาเกลียดคุณ เขาจะไม่เหลือใครเลย คุณก็ไม่เหลือใครด้วย” พี่แหม่มแนะนำ พร้อมเสริมว่า “หนังสือ” เป็นทางเลือกที่ดีในการเติบโตของคน เพราะหนังสือจะบอกลูกว่าโลกนี้มีอะไรและชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร โดยที่แม่แทบไม่ต้องทำอะไรเลย
แม้ว่าการรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวท่ามกลางสภาพการเมืองและโครงสร้างสังคมที่ยุ่งเหยิงจะดูเป็นเรื่องน่าปวดหัวไม่น้อย แต่พี่แหม่มก็ชี้ให้เห็นถึงความ “เรียบง่าย” ในความสัมพันธ์ของแม่ลูก ที่เราไม่ควรหลงลืมหรือละทิ้งไป
“การมีลูกมันง่ายมาก ธรรมชาติมาก มันดีงาม เป็นของขวัญของชีวิต เราก็แค่กอดรัดฟัดเหวี่ยงกันไปวันๆ เดี๋ยวมันก็โต อีกอย่างหนึ่งที่พี่คิดว่าพ่อแม่พลาดก็คือ เขาไม่สามารถจะเข้าใจว่าลูกคือการเติบโตของเรา เวลาที่พี่มองย้อนกลับไป เรามีเวลาเป็นผู้ปกครองจริงๆ แค่ 20 ปี มันเป็นประสบการณ์ที่โคตรดีเลย เราได้เติบโตไปพร้อมๆ กับเขา เราก็ได้รู้อะไรหลายอย่างที่เราไม่รู้ เพราะว่าเขาเป็นคนเลือกของเขาไง เขาเลือกที่จะเรียนสิ่งนี้ แล้วเราก็มีโอกาสได้ไปแตะต้องสิ่งนี้บ้างไม่มากก็น้อย”
“ความคาดหวังทำให้บางทีเราก็ลืมไปว่าเราต่างก็เปราะบาง แล้วคุณก็ไม่ได้เป็นแม่ที่ไม่มีข้อบกพร่อง ตอนที่คุณอายุเท่าเขา คุณอาจจะพลาดมากกว่าเขาอีกก็ได้ แล้วคุณก็อยู่รอดมาได้จนเป็นแม่คนแล้ว ชีวิตคนก็เป็นแบบนี้แหละ” พี่แหม่มสรุป