"กองทัพเรือ" ชี้แจง กมธ.งบ 64 ยืนกรานจำเป็นต้องซื้อ "เรือดำน้ำ"
กมธ.งบ 64 พิจารณาแล้ว 17 กระทรวง ทร.ย้ำจำเป็นต้องจัดซื้อเรือดำน้ำ ผบ.ทบ.เลื่อนแจง กมธ. 19 ส.ค.นี้
น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วย น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ร่วมกันแถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้ใช้เวลาในการพิจารณามาแล้วทั้งหมด 26 วัน รวม 216 ชม. จากจำนวนทั้งหมด 237 ชม. ซึ่งมีหน่วยงานที่ผ่านการพิจารณาแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 17 กระทรวง 3 กลุ่มหน่วยงาน 19 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 56.3 จากหน่วยงานทั้งสิ้น 20 กระทรวง 9 กลุ่มหน่วยงาน 26 กองทุน 14 แผนบูรณาการ
น.ส.วทันยา กล่าวว่า การพิจารณางบประมาณของหน่วยงานในกระทรวงกลาโหมวงเงิน 2.23 แสนล้านบาท จำนวน 6 หน่วยงาน พิจารณาผ่านไปแล้ว 5 หน่วยงาน เหลือเพียงกองทัพบกเนื่องจาก พล.อ.อภิรัชต์ คงษ์สมพงษ์ ผบ.ทบ.ติดภารกิจจึงขอเลื่อนการพิจารณาเป็นวันที่ 19 ส.ค.นี้ อย่างไรก็ตามกรรมาธิการฯ ได้สอบถามงบประมาณในส่วนกองทัพเรือ โดยเฉพาะการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน ซึ่งกองทัพเรือยืนยันถึงความจำเป็นในการจัดซื้อ เนื่องจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้แต่เมียนมาก็มีเรือดำน้ำแล้ว อีกทั้งระยะเวลานับตั้งแต่การจัดซื้อเรือดำน้ำตั้งแต่วันแรก จนถึงวันที่ได้เรือดำน้ำ และการฝึกอบรมการใช้จนมีความพร้อมใช้เวลารวมกันถึง 10 ปี จึงจำเป็นต้องเตรียมการไว้ก่อน
อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการฯ ยังไม่ได้มีการปรับลดงบประมาณในส่วนกลาโหม ขึ้นอยู่กับอนุกรรมการฯ จะทำความเห็นส่งกลับมาให้คณะใหญ่พิจารณาอีกที
น.ส.วทันยา ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบกรณีอนุกรรมาธิการฯเรียกรับเงินจากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล 5 ล้านบาทแลกกับการผ่านงบประมาณให้หน่วยงาน ว่า อนุกรรมาธิการฯ ทั้ง 8 ชุด ได้รายงานข้อเท็จจริงมาให้กรรมาธิการฯ ทราบเรียบร้อยแล้ว แต่กรรมาธิการฯ เห็นว่าไม่ควรตรวจสอบกันเอง จึงส่งเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการ ซึ่งประธานสภาฯ ส่งต่อไปให้คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ แต่กรรมาธิการกิจการสภา ไม่อยากตรวจสอบ ดังนั้นจึงจะส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้ตรวจสอบเรื่องนี้แทน