มองเสรีภาพคนไทย ผ่านไทม์ไลน์ “ชู 3 นิ้ว”

มองเสรีภาพคนไทย ผ่านไทม์ไลน์ “ชู 3 นิ้ว”

มองเสรีภาพคนไทย ผ่านไทม์ไลน์ “ชู 3 นิ้ว”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ นอกจากจะผลักเพดานการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองให้สูงขึ้นกว่าเดิมแล้ว ยังกลายเป็น new normal หรือความปกติใหม่ ที่ยิ่งกว่าการป้องกันโรคระบาด โดยเฉพาะเทรนด์ “ชู 3 นิ้ว” ประท้วงรัฐบาล ที่กลับมาอยู่ในกระแสหลักอีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายไปนานหลายปี การชู 3 นิ้ว ซึ่งมีที่มาจากภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ชื่อดังอย่าง The Hunger Games บอกอะไรเกี่ยวกับเสรีภาพในประเทศไทยบ้าง ลองมาย้อนดูกัน

พ.ศ. 2557

หลังจากการรัฐประหาร พ.ศ.2557 การชู 3 นิ้ว กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกนำมาใช้ในการประท้วงต่อต้านรัฐบาล นับตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน นักศึกษากลุ่มดาวดิน 5 คน สวมเสื้อสกรีนข้อความ "ไม่" "เอา" "รัฐ" "ประ" "หาร" พร้อมชู 3 นิ้ว ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ขณะลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร ส่งผลให้ทั้ง 5 คน ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยังค่ายทหารในจังหวัด

 นัชชชา กองอุดม ขณะชู 3 นิ้ว หน้าโปสเตอร์ภาพยนตร์ The Hunger GamesAFPนัชชชา กองอุดม ขณะชู 3 นิ้ว หน้าโปสเตอร์ภาพยนตร์ The Hunger Games

20 พฤศจิกายน ในช่วงที่มีการฉายภาพยนตร์ The Hunger Games ตอน Mocking Jay: Part 1 นัชชชา กองอุดม นักศึกษา ได้ชู 3 นิ้ว หน้าโรงภาพยนตร์ ส่งผลให้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว โดยนัชชชาระบุว่า การกระทำของเธอเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ตามหลักการประชาธิปไตย เนื่องจากภาพยนตร์ดังกล่าวมีเนื้อหาที่ตรงกับสถานการณ์ในประเทศไทย พร้อมทั้งยืนยันว่าตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ขณะนั้น โรงภาพยนตร์ลิโดและสกาล่าก็ได้ประกาศถอดภาพยนตร์ The Hunger Games ตอน Mocking Jay: Part 1 ออกจากตารางการฉายภาพยนตร์

พ.ศ. 2561

1 กุมภาพันธ์ นักกิจกรรม 5 คน ซึ่งนำโดย ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ ยืนปิดปากบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เป็นเวลา 30 นาที เพื่อแสดงถึงการปิดปากประชาชนไม่ให้แสดงความเห็น จากกรณีที่มีการออกหมายเรียกนักกิจกรรมและประชาชนกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จำนวน 39 คน โดยนักกิจกรรมทั้ง 5 คน ได้ยืนทำท่าชูมือไขว้กากบาท ท่านกพิราบ ท่าไขว้มือไว้ด้านหน้า และชู 3 นิ้ว เพื่อแสดงออกถึงการไม่ยอมจำนนและการยืนยันในสิ่งที่ถูกต้อง

10 กุมภาพันธ์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยได้จัดกิจกรรม “หยุดยื้อเลือกตั้ง หยุดสืบทอดอำนาจ” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน ทว่ากลับมีการวางต้นไม้ประดับเต็มพื้นที่อนุสาวรีย์ และนำรั้วมาล้อมไม่ให้บุคคลใดเข้า พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังโดยรอบ นอกจากนี้ นายรังสิมันต์ โรม หนึ่งในแกนนำจัดการชุมนุม ได้ชักชวนให้ประชาชนชู 3 นิ้ว ให้กับความหมาย 3 ข้อ ของการชุมนุม ได้แก่ 1. เลือกตั้งในปีนี้ 2.เผด็จการจงพินาศ และ 3.ประชาธิปไตยจงเจริญ

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยืนท่ามกลางผู้ชุมนุมในกิจกรรมไม่ถอยไม่ทน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562AFPนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยืนท่ามกลางผู้ชุมนุมในกิจกรรมไม่ถอยไม่ทน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562

พ.ศ. 2562

6 เมษายน ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เดินทางไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อรับฟังคำวินิจฉัยกรณีถือหุ้นสื่อขณะลงรับสมัครเลือกตั้ง ได้มีผู้สนับสนุนราว 300 คน เดินทางไปให้กำลังใจ พร้อมชู 3 นิ้ว ซึ่งก่อนที่นายธนาธรจะเดินเข้าสู่ห้องฟังคำวินิจฉัย ก็ได้โบกมือและชู 3 นิ้ว ให้กับผู้ที่มาให้กำลังใจด้วย

14 ธันวาคม แกนนำพรรคอนาคตใหม่ นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จัดกิจกรรม #ไม่ถอยไม่ทน บริเวณสกายวอล์ก แยกปทุมวัน โดยมีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่งจนล้นสกายวอล์ก และแสดงพลังไม่ยอมรับระบอบเผด็จการ ผ่านการเขียนข้อความ ชูป้าย และชู 3 นิ้ว อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นได้มีการออกหมายเรียกนายธนาธรและนายไพรัฎฐโชติก์ จันทรขจร อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต 5 นครปฐม เนื่องจากการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ชู 3 นิ้ว พร้อมกันAFPผู้เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ชู 3 นิ้ว พร้อมกัน

พ.ศ. 2563

12 มกราคม ในกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ณ สวนรถไฟ เหล่าคนดังและประชาชนทั่วไปรวมตัวกันวิ่งออกกำลังกาย พร้อมแสดงสัญลักษณ์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เช่น ป้าย เสื้อยืด และการชู 3 นิ้ว รวมทั้งมีการแจก “เหรียญปราบกบฏ” ให้กับผู้ที่นำนกหวีดมาแลกด้วย

26 กุมภาพันธ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รวมตัวกันที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคอนาคตใหม่ และแสดงจุดยืนในการสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในการชุมนุมครั้งนั้น มีการตะโกนให้รัฐบาลลาออก ทำป้ายประท้วง และการชู 3 นิ้ว พร้อมตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”

24 มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 88 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ได้จัดการชุมนุมที่บริเวณสกายวอล์ก แยกปทุมวัน โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก โดยนายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกวิน และ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้อ่านประกาศคณะราษฎรที่ว่า “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร...” และผู้ชุมนุมก็ได้ชู 3 นิ้ว พร้อมเปล่งเสียงว่า “เป็นของราษฎร” ไปพร้อมๆ กัน

หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563AFPหนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563

18 กรกฎาคม จุดเปลี่ยนด้านเสรีภาพของประเทศไทยครั้งใหญ่ เกิดขึ้นในกิจกรรม “เยาวชนปลดแอก” ซึ่งจัดขึ้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน โดยแกนนำการชุมนุมได้เสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ต่อรัฐบาล ซึ่งได้แก่ ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะที่มีการชุมนุม นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการ "เยาวชนปลดแอก" หรือ FreeYOUTH ได้เชิญชวนให้ผู้ร่วมกิจกรรมชู 3 นิ้ว ซึ่งหมายถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อของการออกมาชุมนุม จนกระทั่งในช่วงค่ำ #เยาวชนปลดแอก กลายเป็นแฮชแท็กอันดับ 1 ทางทวิตเตอร์ และนับเป็นการเปิดตัวครั้งสำคัญของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งเหมือนเป็นคบไฟที่ส่งต่อให้กับเยาวชนกลุ่มอื่นๆ ในเวลาต่อมา

25 กรกฎาคม ด้วยลักษณะของการชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” ที่เป็นไปด้วยความสนุกสนานปนสาระสไตล์คนรุ่นใหม่ ทำให้การชุมนุมดังกล่าวถูก “แซะ” ว่าเป็นแค่ “ม็อบมุ้งมิ้ง” คนรุ่นใหม่จึงนัดรวมตัวกันอีกครั้งในกิจกรรม “ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล” ที่ ถ.ราชดำเนิน ภายใต้ธีมภาพยนตร์ “หอแต๋วแตก” ที่มีการนำบทพูดจากภาพยนตร์มาใช้ในการประท้วง ซึ่งนอกจากจะเป็นการย้ำข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของกลุ่มเยาวชนปลดแอกแล้ว ยังมีการเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ และแน่นอน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ชู 3 นิ้ว เพื่อแสดงจุดยืนเช่นกัน

27 กรกฎาคม มีการจัดกิจกรรม "วิ่งกันนะแฮมทาโร่" บริเวณที่วนรถหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา โดยเป็นกิจกรรมที่ชวนผู้คนออกมาวิ่งวนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมร้องเพลงประกอบการ์ตูน “แฮมทาโร่” และชู 3 นิ้วไปด้วย ไฮไลต์ของการชุมนุมครั้งนี้ อยู่ที่การเปลี่ยนเนื้อเพลงเป็น “ของอร่อยที่สุดก็คือ...ภาษีประชาชน!”

คอสเพลย์คล้าย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หนึ่งในไฮไลต์ของการชุมนุมแฮร์รี่ พอตเตอร์AFPคอสเพลย์คล้าย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หนึ่งในไฮไลต์ของการชุมนุมแฮร์รี่ พอตเตอร์

3 สิงหาคม กลุ่มมอกะเสด ร่วมกับ กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย จัดชุมนุมในธีม “แฮร์รี่ พอตเตอร์” วรรณกรรมเยาวชนชื่อดัง ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน ซึ่งนอกจากจะมีไฮไลต์อย่างการปราศรัยของทนายอานนท์ นำภา แล้ว ยังมีกิมมิคเล็กๆ อย่างคนสวมหน้ากากคล้าย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ปรากฏตัวหน้าเวที พร้อมทำท่าชู 3 นิ้ว และตอบคำถามว่า “ไม่รู้ๆ”

10 สิงหาคม นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดกิจกรรม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งถือเป็นการชุมนุมที่ดุเดือดไม่น้อย โดยเฉพาะการประกาศข้อเรียกร้อง 10 ข้อ โดย น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล โฆษก สนท. รวมทั้งการขอให้ผู้ชุมนุมทุกคนร่วมกันเปิดแฟลชโทรศัพท์มือถือ และชูสามนิ้ว เป็นการไว้อาลัยกับชาวไทย ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยหลายคนที่ถูกบังคับอุ้มหายในต่างประเทศ

ทว่าจากการชุมนุมในครั้งนี้ กลับมีรายงานว่านักศึกษาถูกเจ้าหน้าที่คุกคามถึงหอพัก ตามด้วยการจับกุมนายพริษฐ์ ชีวารักษ์ แกนนำนักศึกษา พร้อมท่าทีของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่ปฏิเสธความรับผิดชอบในประเด็นที่นักศึกษาเรียกร้อง โดยอ้างว่าไม่ได้มีการตกลงกันขณะที่ขออนุญาตใช้สถานที่ นอกจากนี้ พรรคการเมืองหลายพรรคก็มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของนักศึกษา ส่งผลให้พรรคการเมืองเหล่านี้ถูกโจมตีในโลกออนไลน์อย่างรุนแรง

11 สิงหาคม นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้จัดแฟลชม็อบ “เกียมอุดมไม่ก้มหัวให้เผด็จการ” ที่ทำกิจกรรม 3 อย่าง ในเวลา 1 ชม. ได้แก่ การยืนนิ่งๆ เพื่อไว้อาลัยให้กับอนาคต คนรุ่นใหม่ และประชาธิปไตย ตามด้วยการเต้นเพลงสันทนาการที่ดัดแปลงเนื้อเพลงเป็นการวิจารณ์การเมือง และการปราศรัย ก่อนที่จะชู 3 นิ้ว ที่แสดงถึงสันติภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ

14 สิงหาคม กลุ่ม Spring Movement จัดกิจกรรม “เสาหลักจะหักเผด็จการ” ซึ่งจัดขึ้นที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนอกจากจะวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ส่งเสริมประชาธิปไตยของมหาวิทยาลัยแล้ว ผู้ชุมนุมยังอ่านบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ อดีตนิสิตคณะอักษรศาสตร์ ก่อนที่จะร้องเพลงชาติ ชู 3 นิ้ว พร้อมตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”

 ผู้ชุมนุมในกิจกรรมประชาชนปลดแอก เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563AFPผู้ชุมนุมในกิจกรรมประชาชนปลดแอก เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563

16 สิงหาคม กลุ่มเยาวชนกลับมารวมตัวกันอีกครั้งที่ ถ.ราชดำเนิน ในกิจกรรม “ประชาชนปลดแอก” ซึ่งถือเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากที่สุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยมีไฮไลต์อยู่ที่การยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน รวมทั้งจะมีการยกระดับการชุมนุม หากไม่มีการตอบสนองจากรัฐภายในเดือนกันยายน

นอกจากนี้ หลังจากการปราศรัย แกนนำการชุมนุมทั้ง 31 คน ที่คาดว่ามีหมายเรียกและถูกตั้งข้อหา ได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาชี้แจงว่าใครถูกหมายจับหรือหมายเรียกบ้าง แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่มาชี้แจงหรือแสดงหมายใดๆ จากนั้น เมื่อประกาศยุติการชุมนุม แกนนำ 31 คน ได้เดินไปยัง สน.สำราญราษฎร์ เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับการออกหมายจับและการดำเนินคดีจากตำรวจ แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่นำหมายจับมาแสดงหรือให้ข้อมูลเช่นกัน

การชุมนุม “ประชาชนปลดแอก” ได้ปลดล็อกการแสดงออกของคนรุ่นใหม่อย่างเป็นทางการ เพราะหลังจากนั้น นักเรียนทั่วประเทศพากันแสดงออกทางการเมืองในโรงเรียนอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการชู 3 นิ้ว ขณะทำกิจกรรมหน้าเสาธง หรือการผูกโบว์สีขาว เพื่อแสดงถึงการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ แม้จะมีการขู่ลงโทษจากครูและผู้บริหารโรงเรียน เด็กๆ ก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะยอมแพ้แต่อย่างใด การยกเลิกกิจกรรมหน้าเสาธงไม่ได้ทำให้เด็กหยุดแสดงออกทางการเมือง และดูเหมือนพวกเขาจะ “พร้อมชน” กับอำนาจ เพื่ออนาคตของตัวเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook