“HEADACHE STENCIL” ศิลปินผู้สร้างความปวดหัวด้วยศิลปะ
“Headache Stencil” ศิลปินกราฟฟิตี้ ผู้กลายมาเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากภาพ “นาฬิกาเพื่อน” ผลงานพ่นสีสเปรย์เป็นภาพพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กรณีสวมนาฬิกาหรูราคาแพงที่ “ยืมเพื่อนมา” หรือรูป “เสือดำ - ลำโพงถูกปิดเสียง” ที่ตีแผ่เหตุการณ์นักธุรกิจล่าเสือดำ และจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ แม้ผลงานเหล่านี้จะมีจุดจบเดียวกัน คือ “ถูกทาสีทับ” แต่ภาพสะท้อนสังคมของเขาก็ปรากฏอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ตและถูกส่งต่อไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นภาพที่หลายคนคุ้นตาเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การลุกขึ้นวิพากษ์รัฐบาลก็มีราคาที่ต้องจ่าย และในบางครั้งก็มาในรูปของการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ จนศิลปินผู้ไม่ยอมเปิดเผยอัตลักษณ์ตัวตนคนนี้ตัดสินใจ “หนี” เพื่อรักษาชีวิตตัวเอง แต่ในวันนี้ เขาได้รวบรวมกำลังกลับมาสู้อีกครั้ง ผ่านงานนิทรรศการ ดู-ดาย (Do or Die) เพื่อแสดงผลงานศิลปะการเมืองเพื่อชีวิต… รอด
ผู้สร้างความปวดหัวด้วยศิลปะ
“ผมน่าจะเป็นผู้สร้างความปวดหัวด้วยศิลปะ”
Headache Stencil เริ่มต้นบทสนทนา บนระเบียงของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ชายหนุ่มผู้มาพร้อมกับหน้ากากผ้าปิดหน้า เล่าที่มาของชื่อในวงการสุดป่วน ซึ่งเริ่มต้นจากงานประกวดศิลปะ Stencil ณ ประเทศออสเตรเลีย แล้วเขาก็ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน
“ผมเลือกใช้คำว่า Headache ที่แปลว่าปวดหัว เพราะโดยนิสัยส่วนตัว ผมเป็นคนชอบสร้างปัญหาให้กับชาวบ้าน ก็เลยเอาสิ่งที่เราเป็นอยู่มาเป็นคาแรกเตอร์ในการทำงานของเรา เพราะงานศิลปะทุกชิ้นที่เราจะทำ มันน่าจะไปทำให้คนที่เราพูดถึงปวดหัวได้”
เมื่อย้อนกลับไปดูผลงานที่ผ่านมาของ Headache Stencil ก็บอกได้เลยว่า เป็นงานศิลปะที่น่าจะสร้างความปวดหัวและ “หัวเสีย” ให้กับคนที่เขาพูดถึงไม่น้อย ยิ่งไปกว่านั้น เขายังยกให้งานของตัวเอง เป็นเหมือน “ตัวเสี้ยม” ที่ทำให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม มีความรุนแรงทางด้านอารมณ์มากขึ้นกว่าเดิม
“หลายเรื่องที่เห็นว่า นักข่าวไม่เล่น และรอให้กระแสมันหายไป ผมก็เลือกที่จะใช้ศิลปะมาทำหน้าที่ตรงนั้น ในเมื่อสื่อกระแสหลักที่ควรจะช่วยสังคมด้วยสิ่งที่มีอยู่ เลือกที่จะปิดปากตัวเองและเซนเซอร์ตัวเอง โดยไม่สนว่าประเทศจะเป็นอย่างไร งานศิลปะของผมน่าจะมีประโยชน์ที่สุดในการส่งต่อข้อมูลหรือข่าวสาร หรืออะไรก็ตามที่รัฐพยายามปกปิดมากกว่า”
แม้จะสะท้อนปัญหาการเมืองและสังคมผ่านงานศิลปะในแบบที่ตัวเองถนัด แต่ Headache Stencil ก็ชี้ว่า งานศิลปะของเขาไม่ใช่ “เครื่องมือทางการเมือง” เพราะศิลปะไม่ใช่อุปกรณ์ในการก่อสงคราม ในทางตรงกันข้าม ศิลปะคืออุปกรณ์ที่ทำให้โลกนี้สวยงามมากกว่าเดิม
“จุดมุ่งหมายของผม คือการทำให้เผด็จการปวดหัวเท่านั้นแหละ ส่วนประชาชนทั่วไปจะมีเสรีภาพเพิ่มขึ้นจากการที่เผด็จการปวดหัวหรือเปล่า ผมไม่สามารถสู้ด้วยตัวคนเดียวได้ ผมทำได้แค่ไหน ก็ทำได้แค่นั้น ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับประชาชนแล้ว ว่าจะเอาอำนาจกลับคืนมาด้วยตัวเอง หรือจะนั่งรอยืมจมูกคนหายใจ ให้เขาเอาอำนาจของตัวเองกลับคืนมาให้” เขากล่าว
เรากำลังต่อสู้กับบ้านเกิด
“เราโตมาในประเทศที่พูดอะไรขึ้นมา จะต้องมีคนยิงมุกว่า “เดี๋ยวก็โดนอุ้มหรอก” “อยากกินอะไร เดี๋ยวจะซื้อไปเยี่ยม” แล้วเราอยู่แบบนี้มาตั้งแต่เด็ก แล้วเราก็จะเอาตัวเองตายไปพร้อมกับเรื่องพวกนี้จริง ๆ เหรอ” Headache Stencil ตั้งคำถาม เมื่อถูกถามเรื่อง “เสรีภาพในการแสดงออก” ซึ่งเขามองว่า ก่อนที่จะพูดถึงเสรีภาพของศิลปิน เราต้องย้อนไปดู “เสรีภาพของประชาชน” เสียก่อน เพราะประชาชนต่างหากคือคนที่ควรได้รับเสรีภาพอย่างเต็มที่
ปัญหาเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ เชื่อมโยงกับปัญหาอีกมากมายที่ Headache Stencil หยิบยกมาเล่าผ่านงานกราฟฟิตี้ของตัวเอง และชี้ว่า “เราทุกคนกำลังต่อสู้กับบ้านเกิดของเราเอง” เพราะประชาชนกำลังต่อสู้กับ “ระบบ” ที่ทำให้เราทุกคนไม่สามารถอยู่ในบ้านของตัวเองได้อย่างสุขสบาย ทั้ง ๆ ที่การตั้งระบบในบ้าน ควรเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน
“รถเมล์ที่ควรจะได้ขึ้น มันเน่าจนขึ้นไม่ไหว ทำไมเราต้องเอาชีวิตที่เหนื่อยมาทั้งวัน ไปอยู่ในที่ ๆ จะเหนื่อยกว่าทั้งวันที่ผ่านมาอีกเพื่อจะกลับบ้าน มันไม่ใช่ แล้วคนก็อยู่กันแบบยอม”
การทำงานศิลปะของ Headache Stencil คือการแสดงความคิดเห็นของตัวเขาเองต่อปัญหาการเมืองและสังคม แต่งานของเขากลับสามารถจับใจและเข้าถึงคนได้จำนวนมาก พร้อมจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลให้เพิ่มขึ้น ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ การพูดถึงรัฐบาลเปรียบเสมือนเรื่องต้องห้าม อย่างไรก็ตาม เขาก็ย้ำชัดว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเรียกร้องเสรีภาพให้กับประชาชน คือ “สื่อมวลชน”
“ปัญหาก็คือ สื่อสารมวลชนไทยยอมเผด็จการ สื่อสารมวลชนคือคนที่ทำให้ประเทศชาติพังมาจนถึงทุกวันนี้ เผด็จการจะอยู่ได้ไหม ถ้าสื่อสารมวลชนไม่เป็นนั่งร้าน ตอนนี้มันชัดเจนมากว่า สื่อสารมวลชนไม่ได้เลือกที่จะอยู่ข้างประชาชน เพราะถ้าเลือกที่จะอยู่ข้างประชาชนจริง ๆ ข่าววันเฉลิมกับทิวากรจะไม่ได้มีพื้นที่แค่นี้ หรือเรื่องของผมเองก็ตาม”
ศิลปะที่ต้องแลกด้วยชีวิต
แม้งานศิลปะวิพากษ์วิจารณ์ เสียดสี และล้อเลียนรัฐบาลของ Headache Stencil จะได้รับความนิยม แต่การแสดงความคิดเห็นของเขาก็มีราคาที่ต้องจ่าย ในรูปแบบของ “การคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ” เขาเล่าว่า มันได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปอย่างสิ้นเชิง
“ทุกวันนี้ เสร็จงานแล้วผมไปไหนไม่ได้เลย ทำได้แค่กลับคอนโดแล้วโทรสั่งข้าว ชีวิตผมอยู่ในจุดที่ ถ้ารู้สึกไม่ปลอดภัย เราต้องมีการ์ดไปด้วย การกินข้าวนอกบ้านคือฝันไปเลย ถามว่าถ้าผมไปนั่งกินข้าว แล้วไม่ใช่ร้านของคนใหญ่คนโต เป็นไปได้ไหมที่จะมีคนเดินมายิงผม คำตอบควรเป็นไปไม่ได้สิ แต่ทำไมประเทศเรา เวลาถามคำถามแบบนี้ มันดันเป็นไปได้”
การต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การคุกคามส่งผลกระทบต่อจิตใจของ Headache Stencil อยู่ไม่น้อย แต่สิ่งที่แย่กว่าจิตใจที่บอบช้ำ คือการไม่สามารถไปพบจิตแพทย์ได้ “เพราะผมไม่มั่นใจว่าหมอที่จะนั่งคุยด้วยเป็นสลิ่มไหม ถ้าเป็นสลิ่ม สิ่งที่ผมจะเล่าให้หมอฟัง มันจบชีวิตผมได้เลย” และเขาก็ยอมรับว่า “กลัวตาย” เหมือนกัน
ทั้งนี้ เมื่อถามว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา ทำให้เขาอยากหยุดทำงานศิลปะวิพากษ์รัฐบาลบ้างไหม เขาก็ตอบเสียงดังฟังชัดว่า ไม่มีทางหยุดทำ
“แต่มีเหนื่อยบ่อยนะ เพราะชีวิตของเราเปลี่ยน เราไม่สามารถเดินข้างนอกตอนกลางคืนได้อย่างปลอดภัยเหมือนเดิม เราไม่สามารถขับรถออกไปข้างนอก ไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืนได้อย่างปลอดภัยเหมือนเดิม มันเหมือนกับว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่สนแล้วว่าอะไรคือกฎหมาย เราเห็นข่าวว่ามีการคุกคาม ถามว่าเราทำอะไรได้บ้าง เราทำอะไรไม่ได้เลย ต่อให้เขาเอาปืนมาจ่อหัวเราที่บ้าน เราก็ยังทำอะไรไม่ได้เลย แต่บ้าหรือเปล่า ถ้าคุณเดือดร้อนจากงานศิลปะของผม มันเป็นเพราะคุณทำตัวเอง ไม่ใช่เพราะงานศิลปะของผมไปทำคุณ”
ดู-ดาย (Do or Die)
หลังจากเผชิญหน้ากับการคุกคามอย่างหนัก วันนี้ Headache Stencil กลับมาอีกครั้งพร้อมกับงานนิทรรศการ “ดู-ดาย (Do or Die)” นิทรรศการแสดงผลงานล่าสุดของเขา ที่สะท้อนปัญหาการเมืองในประเทศผ่านผลงานเสียดสี ล้อเลียน และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเจ็บแสบตามแบบฉบับศิลปินผู้สร้างความปวดหัวด้วยศิลปะเช่นเคย พร้อมด้วยศิลปินรับเชิญสุดพิเศษที่มาร่วมตีแผ่การเมืองไทย ทั้ง Muebon, Alexface และ Mamablues
อย่างไรก็ตาม แม้งานของ Headache Stencil จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จุดกระแสวิพากษ์รัฐ และปลุกประชาชนที่หลับใหลให้ตื่นขึ้นมาสู้กับความอยุติธรรมที่พวกเขาต้องเผชิญ แต่เขาก็ย้ำชัดว่า เขาไม่ใช่ฮีโร่ และปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในตอนนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยคนคนเดียว
“มันแก้คนเดียวไม่ได้หรอก ผมถึงบอกว่า หน้าที่ของผม คือคอยเอาน้ำมันราดบนไฟ เพราะฉะนั้น น้ำมันทำให้ไหม้แรง แต่ไฟจะใหญ่หรือไม่ มันไม่ได้อยู่ที่ผม ถ้าคนจะหวังพึ่งฮีโร่ หรือใครสักคนที่จะมาช่วยดึงตัวเองให้หลุดไปจากตรงนี้ ไม่มีทาง เพราะทุกคนมีชีวิตเหมือนกัน” Headache Stencil กล่าว
นิทรรศการ ดู-ดาย (Do or Die) Headache Stencil Solo Exhibition 2020 ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. – 15 ก.ย. ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 11:00 - 21:00 น.
อัลบั้มภาพ 7 ภาพ