7 สิ่งของธรรมดาที่กลายเป็น “สัญลักษณ์” ของการประท้วงไทย

7 สิ่งของธรรมดาที่กลายเป็น “สัญลักษณ์” ของการประท้วงไทย

7 สิ่งของธรรมดาที่กลายเป็น “สัญลักษณ์” ของการประท้วงไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นับตั้งแต่การชุมนุมใหญ่ครั้งที่ 2 ของกลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตย ภายใต้ชื่อ “ประชาชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2563 กระแสการประท้วงในรูปแบบต่างๆ ก็เกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะใน “โรงเรียน” ที่ดูจะถูกคลื่นการประท้วงของนักเรียนถาโถมเข้าใส่อย่างรุนแรงในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา การชู 3 นิ้ว หรือการติดโบว์สีขาว กลายเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง ที่สั่นคลอนอำนาจของ “ผู้ใหญ่” ไม่น้อย และนำไปสู่การตอบโต้ที่รุนแรงในที่สุด

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นิ้วมือหรือสิ่งของธรรมดาอย่างโบว์กลายเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง เพราะที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นขั้วการเมืองใดก็มีการใช้สิ่งของเป็นสัญลักษณ์ในกิจกรรมทางการเมืองทั้งสิ้น และนี่คือ 7 สิ่งของธรรมดา ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงในประเทศไทย

AFP

1. โบว์ขาว

โบว์หรือริบบิ้นสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของการยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ซึ่งมีที่มาจากเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาหญิงของมหาวิทยาลัยมอนทรีออล 14 คน เมื่อปี 2537 และสำหรับประเทศไทย โบว์ขาวกลายเป็นเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ที่นำริบบิ้นสีขาวมาผูกไว้ตามสถานที่สำคัญ เช่น หน้าทำเนียบรัฐบาล กองบัญชาการกองทัพบก อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และกระทรวงกลาโหม เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม และประณามการอุ้มหายของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมือง จนถูกเจ้าหน้าที่จับกุม และในเวลาต่อมา สนท. ก็ใช้โบว์สีขาวนี้ในการเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสถานการณ์โรคโควิด-19

โบว์สีขาวพัฒนาจากการเรียกร้องความยุติธรรมในคดีอุ้มหาย สู่การแสดงพลังอย่างสงบของนักเรียนและครูในหลายโรงเรียนทั่วประเทศ โดยนักเรียนและครูจะนำโบว์สีขาวมาประดับผมและผูกที่กระเป๋า เพื่อแสดงถึงการต่อต้านอำนาจเผด็จการ และสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จนกระทั่งนำไปสู่การกระทบกระทั่งระหว่างครูกับนักเรียน ซึ่งในทางหนึ่งก็เผยให้เห็นความรุนแรงจากการใช้อำนาจในโรงเรียนที่หลายคนมองข้ามไป

AFP

2. ชู 3 นิ้ว

การชู 3 นิ้ว กลายเป็นสัญลักษณ์ยอดฮิตของการประท้วงในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงหลังการรัฐประหารปี 2557 ที่มาของสัญลักษณ์นี้สามารถระบุได้ 2 อย่าง คือ จากภาพยนตร์ The Hunger Games ที่ตัวละครในเรื่องทำท่านี้ เพื่อแสดงถึงการขอบคุณ การสรรเสริญ และการบอกลา ทว่าความหมายของการชู 3 นิ้ว ในเรื่องนี้ได้เปลี่ยนไปเป็นสัญลักษณ์ของการขัดขืนต่ออำนาจรัฐที่กดขี่ประชาชน ส่วนที่มาอีกแหล่งหนึ่งระบุว่า การชู 3 นิ้วมาจากเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส ในช่วงปี ค.ศ. 1789-1799 ซึ่งมีความหมายโดยนัยว่า “เสรีภาพ, เสมอภาค, ภราดรภาพ” ซึ่งถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส แต่ความเป็นมาทั้งสองนี้ก็ถือว่าสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกลุ่มผู้ที่ต่อต้านรัฐบาล นอกจากนี้ การชู 3 นิ้ว ยังมีความหมายที่แตกต่างกันไปในการประท้วงแต่ละครั้งด้วย

แม้จะเป็นวิธีการแสดงออกที่เรียบง่าย ไร้พิษภัย แต่การชู 3 นิ้ว ของนักเรียนทั่วประเทศ ก็ทำให้โรงเรียนต้องปรับวิธีการทำกิจกรรมหน้าเสาธง ไม่ว่าจะเป็นการให้นักเรียนย้ายไปเข้าแถวหน้าห้องเรียนแทน หรือเปิดเพลงชาติเบาๆ เพื่อไม่ให้นักเรียนสามารถจับจังหวะเพื่อชู 3 นิ้วได้ อย่างไรก็ตาม วิธีการเหล่านี้กลับไม่สามารถหยุดการชู 3 นิ้ว ได้แต่อย่างใด

3. กระดาษเปล่า

วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 กลุ่ม มศว คนรุ่นใหม่ จัดกิจกรรมแฟลชม็อบ “ยืนชูกระดาษเปล่า” เป็นเวลา 10 นาที ที่บริเวณสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน เพื่อแสดงถึงพลังบริสุทธิ์ของประชาชน ที่ไม่มีใครชักจูง และต้องการเพียงประชาธิปไตย รวมทั้งย้ำ 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ได้แก่ ยุติการทำร้ายประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา ส่วนจุดประสงค์ในการเลือกพื้นที่บนสกายวอล์กนั้น ผู้จัดการชุมนุมระบุว่า เนื่องจากบริเวณนี้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ จึงต้องการสื่อสารถึงปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาคนตกงาน ซึ่งรัฐบาลมองข้ามไป อย่างไรก็ตาม การชูกระดาษเปล่าครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่คอยตรึงกำลังและขอดูกระดาษเปล่าของผู้ชุมนุมด้วย

ต่อมาในวันที่ 18 สิงหาคม 2563 นักเรียนโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ประมาณ 50 คน เข้าร่วมกิจกรรม #ลูกสามเสนไม่เอาเผด็จการ ด้วยการชูกระดาษเปล่าเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เรียกร้องและยืนยันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก พร้อมตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” รวม 3 ครั้ง และชู 3 นิ้ว

4. แซนด์วิช

ในบรรดาสัญลักษณ์เกี่ยวกับการประท้วงของไทย “แซนด์วิช” น่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่เหลือเชื่อมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทั้งในแง่ของที่มาและความหมาย เพราะที่จริงแล้ว อาหารชนิดนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองโดยไม่ได้ตั้งใจ!

ที่มาของการประท้วงแซนด์วิช เกิดจากการที่ศูนย์นิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) จัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ The Hunger Games อ่านบทกวี และเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการรัฐประหาร ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีการแจกแซนด์วิชให้กับผู้ร่วมงาน เพราะเป็นอาหารที่กินง่าย เหมาะกับรูปแบบงานที่เป็นการปิกนิก ทว่ากลับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 350 นาย พร้อมด้วยรถกรงขังอีก 4 คัน มาที่มหาวิทยาลัย จึงไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ ผู้จัดงานจึงทำได้เพียงแค่แจกแซนด์วิชเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในผู้จัดงานได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้แซนด์วิชกลายเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง คือการที่นายตำรวจท่านหนึ่งกล่าวในทำนองว่า การกินแซนด์วิชก็เข้าข่ายผิดกฎหมาย ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าทำไมการกินแซนด์วิชจึงเป็นเรื่องผิด จึงดูเหมือนว่าอาหารพื้นๆ อย่างแซนด์วิชกลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง เพราะเจ้าหน้าที่รัฐให้ความสำคัญเอง

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2557 หรือ 1 เดือน หลังจากการรัฐประหาร นักศึกษา 6 คน จาก ศนปท. ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบควบคุมตัว ขณะวางแผนจัดกิจกรรม “ไม่มีอะไรมว๊าก อยากกินแซนด์วิช” ที่ห้างสยามพารากอน รวมทั้งนักศึกษาอีก 3 คน ที่เข้าเจรจากับทหาร ก็ถูกควบคุมตัว และถูกปล่อยตัวออกมาพร้อมเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวหรือสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ส่วนหลักฐานในการควบคุมตัวก็มีเพียงแซนด์วิชที่อยู่ในกระเป๋าของนักศึกษาเท่านั้น

AFP

5. นิยาย 1984

นวนิยาย 1984 ซึ่งเขียนโดยจอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนชาวอังกฤษ ถูกหยิบยกมาเป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงหลังจากการรัฐประหารปี 2557 เพียงไม่นาน โดยในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 มีกลุ่มประชาชน 4 คน นัดกันมายืนอ่านหนังสือเล่มนี้บนสกายวอล์ก แยกปทุมวัน และในวันที่ 29 พฤษภาคม ก็มีประชาชนจำนวน 10 คน มายืนอ่านนวนิยายดังกล่าวบนทางเชื่อมบีทีเอส บีอาร์ที สกายบริดจ์ นาน 1 ชั่วโมง ซึ่งการชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ ไม่มีเหตุรุนแรง

1984 เป็นนวนิยายดิสโทเปีย ว่าด้วยเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่ทำงานใน “กระทรวงความจริง” ในรัฐบาลเผด็จการ ที่มี “พี่เบิ้ม” หรือ “Big Brother” จับตาดูพฤติกรรมของประชาชน สร้างโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับรัฐ และเรียกการคิดอย่างเสรีว่าเป็น “อาชญากรรมทางความคิด” โดยหนึ่งในผู้ชุมนุมกล่าวว่า นวนิยายเรื่องนี้มีเค้าโครงคล้ายกับสถานการณ์ในสังคมไทย ขณะเดียวกันก็เป็นนวนิยายคลาสสิกที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก สามารถใช้สื่อสารแนวคิดไปยังคนในประเทศอื่นๆ ได้

AFP

6. นกหวีด

“นกหวีด” ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการประท้วงที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย จากการที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งก่อตั้งโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกดดันรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จนนำไปสู่การรัฐประหารโดย คสช. เมื่อปี 2557

สำหรับที่มาของการใช้นกหวีดในการประท้วงนั้น นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย หนึ่งในผู้ชุมนุม ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า นกหวีดเกิดจากแนวคิดของนายสุเทพ ที่มองว่าเป็นสัญลักษณ์ที่หาง่าย ยังไม่มีใครใช้ มีจุดเด่นที่การใช้ทำได้หลายอย่าง เช่น การแสดงออกว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจ และในสมัยก่อน ครูยังใช้นกหวีดในการเรียกรวมเด็กด้วย นอกจากนี้ การเป่านกหวีดเพื่อขับไล่ “ระบอบทักษิณ” ที่ชักใยอยู่เบื้องหลังรัฐบาลในขณะนั้น ยังสอดคล้องกับคำว่า "whistleblower" หรือผู้เป่านกหวีด ซึ่งมาจากนายราล์ฟ เนเดอร์ นักกฎหมาย นักเขียน และนักต่อสู้เพื่อสังคมชาวอเมริกัน ที่เป่านกหวีดในสภาเพื่อเตือนรัฐบาลที่เริ่มมีพฤติกรรมทุจริต หลังจากนั้น นกหวีดก็กลายเป็น “แฟชั่น” ยอดฮิต ที่มีการออกแบบเป็นรูปทรงต่างๆ และมีจำหน่ายทั่วไป

ในการประท้วงของ กปปส. นอกจากจะมีการเป่านกหวีดในบริเวณพื้นที่ชุมนุมแล้ว เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 นายณัฏฐพลและนางทยา ทีปสุวรรณ ซึ่งขณะนั้นเป็นแกนนำ กปปส. ได้เดินตามพร้อมเป่านกหวีดไล่คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ในห้างสรรพสินค้า จนกระทั่งมีภาพปรากฏอยู่ในโลกออนไลน์ ก่อนที่ กปปส. จะยุติบทบาทลงหลังจากการรัฐประหาร

นกหวีดกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 จากกิจกรรม “เลิกเรียนไปกระทรวง” ซึ่งจัดโดยกลุ่มนักเรียนเลว โดยนักเรียนจากโรงเรียนในกรุงเทพฯ พากันไปชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการ พร้อมเป่านกหวีดต้อนรับนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน จนกลายเป็น Talk of the Town อีกครั้ง

AFP

7. หน้ากาก V

ก่อนที่นกหวีดจะ “แมส” นั้น “หน้ากาก V” เป็นสัญลักษณ์ของการล้มล้างระบอบทักษิณมาก่อน โดยในวันที่ 24 พฤษภาคม 2556 กลุ่มคนที่ใช้หน้ากากรูปใบหน้ายิ้มสีขาวได้เข้ายึดแฟนเพจของนายพานทองแท้ ชินวัตร และเพจของทำเนียบรัฐบาล พร้อมประกาศว่า “ขณะนี้กองทัพประชาชนได้ลุกขึ้นมาแล้ว ข้าขอประกาศว่า ข้าจะล้มล้างระบอบทักษิณให้หมดสิ้นจากแผ่นดินไทย" ก่อนที่กระแสจะลุกลามไปในโซเชียลมีเดีย เกิดเป็นเพจ “V for Thailand” ตามภาพยนตร์เรื่อง V for Vendetta ที่มีหน้ากากดังกล่าวเป็นองค์ประกอบสำคัญในเรื่อง

นอกจากนี้ หน้ากาก V ยังถูกใช้ในการประท้วงสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จากกรณีการวิพากษ์วิจารณ์การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการต่อต้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ รวมทั้งการประท้วงกรณีแบนละครเรื่องเหนือเมฆ 2 ด้วย

อย่างไรก็ตาม หลายคนกลับไม่เห็นด้วยกับการใช้หน้ากาก V เพื่อล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะที่จริงแล้ว หน้ากาก V เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านสถาบันกษัตริย์ของประเทศอังกฤษ เนื่องจากเป็นหน้ากากที่ทำเลียนแบบใบหน้าของ “กาย ฟอว์กส์” ชายที่วางแผนระเบิดอาคารรัฐสภาเพื่อลอบสังหารกษัตริย์เจมส์ ที่ 1 ใน ค.ศ. 1605 หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์กบฏดินปืน ซึ่งไม่เหมาะกับบริบทของสังคมไทย นอกจากนี้ ภาพยนตร์เรื่อง V For Vendetta ที่ทำให้หน้ากากดังกล่าวเป็นที่นิยม ก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ แต่กลับถูกนำมาใช้เพื่อล้มล้างรัฐบาลจากระบอบประชาธิปไตย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook