เบลารุส ประเทศที่ถูกสาป ให้ประชาชนขาดเสรีภาพเรื่อยมาตลอดประวัติศาสตร์

เบลารุส ประเทศที่ถูกสาป ให้ประชาชนขาดเสรีภาพเรื่อยมาตลอดประวัติศาสตร์

เบลารุส ประเทศที่ถูกสาป ให้ประชาชนขาดเสรีภาพเรื่อยมาตลอดประวัติศาสตร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สาธารณรัฐเบลารุสเป็นประเทศเอกราชมีประชากร 9.5 ล้านคน มีพื้นที่ประมาณ 207,600 ตารางกิโลเมตร (ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ของประเทศไทย) ตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปตะวันออกเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศรัสเซีย ยูเครน โปแลนด์ ลิทัวเนีย และลัตเวีย

เมืองหลวงของประเทศคือกรุงมินสก์ พื้นที่มากกว่า 40% ของขนาดประเทศ เป็นป่าไม้ ภาคเศรษฐกิจหลักของประเทศคืออุตสาหกรรมการผลิตรถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมบริการอื่นๆ

ประเทศเบลารุสมีประวัติศาสตร์ร่วมกันกับประเทศยูเครนและประเทศรัสเซียมาตั้งแต่ต้นโดยเป็นหมู่ชนชาวสลาฟตะวันออกเหมือนกันอยู่ในอาณาจักรเคียฟรุสมาช้านานและรับศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์มาเป็นศาสนาประจำชาติเช่นเดียวกัน แม้ในปัจจุบัน ประเทศเบลารุสมีภาษาราชการสองภาษาคือภาษาเบลารุสและภาษารัสเซีย

หลังจากอาณาจักรเคียฟรุสถูกทำลายลงโดยพวกมองโกลเมื่อ พ.ศ. 1783 (ก่อนกรุงสุโขทัย 17 ปี) แล้ว ประเทศเบรารุสก็ถูกลิทัวเนียยึดครองช่วงหนึ่งแล้วจึงถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย จนกระทั่งปี 2460 เมื่อเกิดปฏิวัติรัสเซียขึ้น เบลารุสจึงได้ประกาศเอกราชแต่ก็อยู่ได้ไม่นานก็ถูกสหภาพโซเวียตเข้ายึดครองอีก

สหภาพโซเวียตประกาศให้สาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมเบียโลรัสเซีย กลายเป็นสาธารณรัฐองค์ประกอบผู้ก่อตั้งสหภาพโซเวียตในปี 2465 และเปลี่ยนชื่อเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเบียโลรัสเซีย

ในสงครามโลกครั้งที่สองเบลารุสเป็นสมรภูมิระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียต ทำให้เบลารุสเสียหายอย่างรุนแรง โดยสูญเสียประชากรราวหนึ่งในสามและทรัพยากรทางเศรษฐกิจมากกว่าครึ่ง

ต่อมาในปี 2488 สาธารณรัฐเบียโลรัสเซียกลายเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งของสหประชาชาติพร้อมกับสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐยูเครน (เพื่อที่สหภาพโซเวียตจะได้มีคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นในสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติ)

ประเทศเบลารุส ประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2534 ในระหว่างการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยมีนายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกและคนเดียวของประเทศเบลารุสตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 26 ปีเต็ม

เผด็จการแห่งสุดท้ายของยุโรป

ชาวยุโรปจึงขนานนามเบลารุสว่าเป็น "เผด็จการแห่งสุดท้ายของยุโรป" โดยตัวประธานาธิบดีลูคาเชนโกเองประกาศว่ารัฐบาลเบลารุสเป็นรัฐบาลแบบอำนาจนิยม (Authoritarian Style of Government) ประธานาธิบดีลูคาเชนโกยังคงใช้นโยบายหลายประการจากยุคโซเวียต เช่น กรรมสิทธิ์ของรัฐในเศรษฐกิจส่วนใหญ่

การเลือกตั้งภายใต้กฎของลูคาเชนโกกำหนดขึ้นเองที่เอารัดเอาเปรียบฝ่ายตรงข้ามอย่างโจ่งแจ้ง นอกจากนี้เขายังปราบปรามการต่อต้านทางการเมืองของผู้คนและพรรคการเมืองอื่นๆ อย่างรุนแรงด้วยการควบคุมสื่อหลัก กลั่นแกล้งและคุมขังศัตรูทางการเมือง

เบลารุสไม่ได้แสดงความประสงค์ที่จะเข้าร่วมสหภาพยุโรปเลยเนื่องจากเงื่อนไขหลักของสมาชิกประเทศสหภาพยุโรปต้องเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากนายลูคาเชนโกได้ประกาศอย่างชัดแจ้งเมื่อว่าเดือนสิงหาคม พ.ศ.2546 ว่า

การใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จในการปกครองเป็นลักษณะเด่นของผม แล้วผมก็เป็นเช่นนี้มาตลอด"

เลือกตั้งสุดฉาจุดกระแสประท้วง

ประธานาธิบดีลูคาเชนโกวัย 65 ปี ผู้นี้เพิ่งชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเบลารุส เป็นการดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 6 โดย กกต.ของเบลารุส ประกาศว่า นายลูคาเชนโก ชนะการเลือกตั้งโดยได้คะแนนเสียง 80.1% และนางสเว็ตลานา ทีคานอฟสกายา คู่แข่งได้คะแนนเสียง 10.12% ขณะที่ชาวเบลารุสจำนวนมากออกมาประท้วงต่อต้านผลการเลือกตั้งจนเกิดการปะทะกันกับตำรวจในหลายเมืองทั่วประเทศ

ด้าน นางสเว็ตลานา ทีคานอฟสกายา ผู้นำฝ่ายค้านไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และหนีออกนอกประเทศไปยังลิทัวเนียเพื่อความปลอดภัย

ประธานาธิบดีลูคาเชนโกเผชิญกับการประท้วงต่อต้านที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี มาตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง 9 ส.ค. เนื่องจากมีการจับกุมผู้ประท้วงหลายร้อยคนจากการประท้วงหลายระลอกที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากนายเซอร์ไก ทีคานอฟสกี สามีของนางสเว็ตลานา ทีคานอฟสกายา ผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นบล็อกเกอร์ที่มีคนชื่นชอบจำนวนมาก ถูกขัดขวางไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งและถูกจำคุก

เบลารุสจึงเกิดมีการประท้วงครั้งใหญ่อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในคืนหลังวันเลือกตั้ง เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงจนทำให้มีผู้ถูกจับกุม 3,000 คนในกรุงมินสก์และอีกหลายเมือง ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตา กระสุนยาง และระเบิดแสง เพื่อสลายฝูงชนทำให้ประชาชนหลายแสนคนพากันออกมาเดินขบวนตามท้องถนนในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่าได้ทุบตีและใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุต่อกลุ่มผู้ประท้วง

ขณะที่กระทรวงมหาดไทยระบุว่าตำรวจได้ยิงกระสุนจริงใส่ผู้ประท้วงที่เข้าทำร้ายอีกด้วยและการประท้วงเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดและการประท้วงก็ดำเนินไปทุกวันในขณะที่ทางสหภาพยุโรปได้เตรียมตัวคว่ำบาตรเบลารุสในเร็วๆ นี้

การประท้วงจนเกิดเป็นการจลาจลได้เข้ามาเป็นคืนที่ 10 แล้ว (พุธที่ 18 สิงหาคม) ยังไม่มีท่าทีว่าจะสงบเนื่องจากประชาชนชาวเบลารุสนับแสนๆ คนต้องการให้ประธานาธิบดีลูคาเชนโกลาออก แต่ทางนายลูคาเชนโกก็ปฏิเสธแบบหัวเด็ดตีนขาดก็จะไม่ยอมเรื่องคงลากไปอีกยาว ซึ่งเป็นที่น่าสังเวชในชะตากรรมของประเทศเบลารุสที่ตกอยู่ภายปกครองของประเทศต่างๆ มายาวนานแทบจะแทบจะตลอดประวัติของประเทศเบลารุส 

ครั้นได้เอกราชมาพร้อมๆ กับประเทศอื่นๆ อีก 14 ประเทศเมื่อ 30 ปีที่แล้วก็ยังตกอยู่ภายใต้การปกครองเผด็จการอีกเพียงประเทศเดียวในยุโรป ดูเบลารุสจะเป็นประเทศที่ถูกสาปไปเสียแล้ว 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook