ผู้ประกันตนจี้รัฐยกเลิกมติครม.ขยายสิทธิ์คู่สมรส-บุตร

ผู้ประกันตนจี้รัฐยกเลิกมติครม.ขยายสิทธิ์คู่สมรส-บุตร

ผู้ประกันตนจี้รัฐยกเลิกมติครม.ขยายสิทธิ์คู่สมรส-บุตร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้ประกันตน-มูลนิธิผู้บริโภค จี้รัฐทบทวนและยกเลิกขยายสิทธิ์คู่สมรสและบุตร หวั่นเกิดความยุ่งยากและผู้ประกันตนอาจต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มในอนาคต

การประชุมระดมความคิดเห็นทางเลือกนโยบายในการสร้างหลักประกันสุขภาพ ครอบครัวผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)และสำนักงานประกันสังคม (สปส.)

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ผู้ประกันตนอึดอัดใจต่อนโยบายการขยายสิทธิ์ประกันสังคมไปยังคู่สมรสและบุตร ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา เพราะปัจจุบันสิทธิของผู้ประกันตนที่ได้รับในเรื่องการรักษาพยาบาล ถือว่าด้อยกว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองมาก ทั้งที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นประจำทุกเดือน

หากจะขยายสิทธิ์ต้องคำนึงว่า ผู้ที่ถูกโอนย้ายสิทธิต้องได้รับสิทธิ์ไม่น้อยไปกว่าที่เคยได้รับ และจะต้องไม่เรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มจากผู้ประกันตน และเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรรีบเร่งดำเนินนโยบายแต่ควรมีการศึกษาข้อดีข้อเสียและปรับปรุงระบบบริการสุขภาพของระบบประกันสังคมให้ดีก่อน

"รัฐบาลรีบออกนโยบายเกินไป ไม่รู้เป็นเพราะว่ารัฐบาลถังแตกหรือไม่ เพราะปัจจุบันรัฐบาลค้างจ่ายเงินสมทบให้กับกองทุนประกันสังคมถึง 2 หมื่นล้านบาท แต่กลับจะมาขยายสิทธิ์เพิ่มให้ผู้ประกันตน รัฐบาลกำลังใช้วิธีการเอาเงินคนจนมาอุ้มคนจนกันเองหรือไม่ ดังนั้นเห็นว่าควรจะทบทวนมติครม.นี้" น.ส.วิไลวรรณ กล่าว

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มติ ครม.นี้ไม่มีประโยชน์ รัฐบาลควรทบทวนและยกเลิกไป เพราะทำให้ระบบบริการสุขภาพของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม (สปส.)มีความยุ่งยากมากขึ้น หากนโยบายนี้ยังไม่มีความชัดเจน เป็นไปได้ว่าแนวโน้มผู้ประกันตนอาจจะต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นในอนาคต ตามสิทธิ์ที่ได้รับเพิ่ม

จึงไม่แน่ใจว่ามติ ครม.ดังกล่าว มีวาระซ่อนเร้นที่รัฐบาลต้องการจ่ายเงินสมทบให้กองทุนประกันสังคมน้อยลง โดยการเก็บเงินสมทบผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นในอนาคตหรือไม่

ด้าน นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ สำนักวิจัยเพื่อการพัฒนาสุขภาพไทย กล่าวว่า เนื่องจากระบบการบริหารจัดการของ 2 ระบบต่างกัน สิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงคือ 1. อัตราการใช้บริการและค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลของผู้ใช้บริการจะต้องคำนวนในแต่ละกลุ่มอายุที่ต่างกัน และต้องคำนวนจากค่าใช้จ่ายจริง 2. ในส่วนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานนอกระบบที่ไม่มีนายจ้าง 24ล้านคนจะได้รับสิทธิ์นี้ด้วยหรือไม่ 3. การบริการส่งเสริมป้องกันสุขภาพเชิงรุกในพื้นที่ชุมชนของสปสช.

ขณะที่ สปส.ไม่มีการบริการในส่วนนี้ อาจะทำให้ผู้ที่ถูกโอนย้ายสิทธิ์ เสียสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ รวมทั้งสิทธิ์ตามมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการบริการสุขภาพ ในขณะที่ของสปส.ไม่มี

ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เงินที่ใช้บริหารจัดการและรักษาพยาบาลของระบบสปส. มาจากเงินกองทุนฯที่ลูกจ้างและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ ขณะที่ระบบสปสช.ต้องทำเรื่องเสนอขอไปยังสำนักงบประมาณ ดังนั้นหากโอนสิทธิ์ในส่วนของคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตนไปแล้ว ในอนาคต งบประมาณที่ใช้ในส่วนนี้ สปส. จะต้องทำเรื่องเสนอสำนักงบประมาณแบบปีต่อปีเหมือนกับสปสช.หรือไม่

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้นวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ตั้งข้อสังเกตว่า ในกรณีที่ผู้ประกันตน ไม่มีคู่สมรสและบุตร จะสามารถขอโอนสิทธิ์ดังกล่าวไปให้กับบิดาและมารดาแทนได้หรือไม่ เพราะเป็นผู้ที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯเช่นเดียวกัน รัฐบาลจะสร้างความเป็นธรรมในส่วนนี้อย่างไร

ด้าน นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ . เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลออกนโยบายนี้ เพราะอยากเป็นซานตาคลอส แจกเงิน แต่แจกไม่เป็น เพราะเป็นนนโยบายที่ไม่ได้แก้ปัญหาในระบบบริการสุขภาพที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ดังนั้นเสนอว่ารัฐบาลควรปฏิรูประบบบริการสุขภาพด้วยการแยกระบบบริการสุขภาพ ออกจากระบบบริการด้านอื่นๆ เพราะมีการบริหารและจัดการที่แตกต่างกัน

โดย สปส.ควรดูแลเฉพาะด้านสวัสดิการของผู้ประกันตน ส่วนการการให้บริการด้านสุขภาพ ควรโอนสิทธิ์ให้ สปสช.เป็นผู้ดูแลแทน โดยมีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook