ลดใช้งบ-หยุดซื้อเรือดำน้ำ 1 ในข้อเสนอของ “ธนาธร” หวังให้ความเป็นอยู่ประชาชนดีขึ้น
“ธนาธร” เสนอ 4 เรื่องต้องทำให้เพื่อความเป็นอยู่ประชาชนดีขึ้น เชื่อประเทศไทยสร้างรัฐสวัสดิการได้
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และในฐานะที่ปรึกษา กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 ร่วมบรรยายในหัวข้อ “ประเทศไทยมีศักยภาพในการสร้างรัฐสวัสดิการหรือไม่” โดยเริ่มต้นด้วยการแจกแจงงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมต่างๆ ตามช่วงอายุที่คนไทยจะได้รับ พร้อมยืนยันว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการสร้างรัฐสวัสดิการอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ นายธนาธร กล่าวว่า การจะทำให้สวัสดิการประชาชนดีขึ้น ทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ และไม่ใช่ว่าประเทศไทยไม่มีศักยภาพ แต่อยู่ที่เจตจำนงของผู้มีอำนาจว่าจะทำหรือไม่ ซึ่งจะเป็นไปได้ต้องทำอย่างน้อย 4 เรื่อง ได้แก่
- เรื่องปฏิรูปส่วนราชการ หน่วยงานที่ซ้ำซ้อนต้องยุบให้เป็นหน่วยเดียว เพราะนั่นหมายถึงการลดค่าใช้จ่ายประจำอย่างบุคคลากร ครุภัณฑ์ต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก
- เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เงิน เป็นต้นว่า สัดส่วนการเพิ่มขึ้นของข้าราชการ ที่ผ่านมามีทหารเพิ่มขึ้นเยอะกว่าพยาบาล นี่คือการจัดทรัพยากรที่ไม่เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ
- เรื่องลดการใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสม ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ กรณีอนุมัติซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำ มูลค่า 22,500 ล้านบาท และยังมีงบประมาณที่เกี่ยวข้องอีก 8,400 ล้านบาท สำหรับท่าเรือจอด โรงงานเก็บตอร์ปิโด เรือยกพลขึ้นบก อาคารข้าราชการต่างๆ เป็นต้น คำถามคือสถานการณ์แบบนี้มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะซื้อเรือดำน้ำ
- เรื่องการยุติการเอื้อกลุ่มทุน ซึ่งที่ผ่านมาโครงการต่างๆ ของรัฐเข้าทำนองว่านายทุนต้องมาก่อนส่วนประชาชนรอไปก่อน ยกตัวอย่าง การให้ประโยชน์กับบริษัทปลอดภาษีในสนามบิน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์โควิด-19 บริษัทดังกล่าวได้รับการเยียวยาด้วยความรวดเร็ว แต่ประชาชนกว่าจะได้เยียวยาต้องรอนานมาก
นายธนาธร กล่าวอีกว่า ประเทศเรามีศักยภาพทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้ อยู่ที่เจตจำนงทางการเมืองว่าจะทำหรือไม่ จะกล้าคุยกับข้าราชการเรื่องการตัดงบที่ไม่จำเป็นหรือไม่ จะกล้าคุยกับนายทุนให้เห็นกับประโยชน์ส่วนรวมของประเทศไม่ใช่ประโยชน์ตัวเอง จะกล้าปฏิรูปกองทัพหรือไม่ จะกล้าปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับทุนหรือไม่
นอกจากนี้ นายธนาธร กล่าวว่า บันไดขั้นแรกที่จะไปสู่รัฐสวัสดิการได้ ตนคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเอาทหารออกจากการเมือง แล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาใช้ ทำให้การเมืองเป็นปกติ เมื่อถึงตรงนั้นแล้ว ต้องปฏิรูประบบราชการ ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ กระจายอำนาจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ต้องปฏิรูปกองทัพให้อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ลดขนาดกองทัพลง ทำให้เป็นกองทัพที่ทันสมัย ต้องปฏิวัติระบบการศึกษา ลงทุนเพิ่มขึ้นในโรงเรียน กับครู กับเทคโนโลยีและอุปกรณ์การเรียนการสอน เป็นต้น สิ่งที่ตนพูดไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางออกทางเดียวของประเทศที่เหลืออยู่ และเป็นบันไดขั้นแรกที่จะได้มาซึ่งรัฐสวัสดิการ