หนังสือมือสอง...ครองตู้?

หนังสือมือสอง...ครองตู้?

หนังสือมือสอง...ครองตู้?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : นิรันศักดิ์ บุญจันทร์

ถ้าคิดว่าหนังสือมือสองต้องเก่าๆ กรอบๆ กรุณาสลัดความคิดทิ้งไปซะ เพราะวันนี้ เมื่อนำ มือหนึ่ง กับ มือสอง มาวางคู่กัน กระทั่งเซียนยังซื้อผิด

มีข้อถกเถียงกันในแวดวงหนังสือไม่น้อย ในกรณีที่เกิดธุรกิจหนังสือมือสองขึ้นมา พร้อมมีการพัฒนารูปแบบมากขึ้น จนนำไปสู่ภาพสองด้าน และมีเหตุผลเป็นของแต่ละฝ่าย

โดยฝ่ายผู้ผลิตหนังสือไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่หรือเล็ก รวมทั้งบริษัทผลิตหนังสือที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ที่พ่วงท้ายคำว่า "มหาชน" มองว่าธุรกิจหนังสือมือสองนั้น ไม่ต่างจากการเป็นป่าช้าหนังสือที่ทำให้เกรดของหนังสือต่ำลง และเสียชื่อเสียงสำนักพิมพ์ เพราะเป็นการซื้อขายเหมาโหลราคาถูกๆ ในฐานะคนทำหนังสือดีๆ จึงรู้สึกเจ็บปวด

และยิ่งเจ็บปวดรวดร้าวมากขึ้น เมื่อเห็นรถบรรทุกจากนักธุรกิจหนังสือมือสองมาขนหนังสือในโกดังของตัวเอง เมื่อจำยอมต้องขายให้ในราคาถูกๆ

แต่ในขณะเดียวกัน ในทัศนะของอีกฝ่ายก็มองว่า ธุรกิจมือสองนั้นเปรียบเสมือนเครื่องช่วยหายใจให้กับบรรดาสำนักพิมพ์น้อย ใหญ่ ไม่ว่าสำนักพิมพ์จะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือที่ผลิตออกมาขายไม่ได้ หรือขายได้แต่เหลือมาก จนบางสำนักพิมพ์แทบไม่มีที่เก็บหนังสือ หรือถึงกับต้องสร้างโกดังเพื่อเก็บหนังสือ

สภาพเช่นนี้ ถ้าเป็นบริษัทหรือสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ที่มีทุนการผลิตมากมายก็ไม่เดือดร้อนอะไร แต่สำหรับสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ขนาดกลางที่มีปัญหาเรื่องเงินทุนแล้ว การที่หนังสือขายไม่ได้ และเหลือเป็นจำนวนมากนั้น นอกจากทุนหายกำไรหดแล้ว..ยังต้องปวดหัวกับการหาที่เก็บหนังสืออีกด้วย

เพราะเหตุนี้เอง การโคจรมาพบกันระหว่างนักธุรกิจหนังสือมือสอง กับเจ้าของสำนักพิมพ์จึงเกิดขึ้น ...

แรกเริ่ม : ใครๆ ก็ขายได้

จากคำบอกเล่าของนักธุรกิจหนังสือมือสอง ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้มานานร่วม 50 ปีบอกว่า แรกเริ่มเดิมทีธุรกิจนี้ไม่ได้ทำกันเป็นระบบ เหมือนการซื้อของเก่า และเรื่องราคาค่างวดก็ไม่ได้มีเกณฑ์ใดๆ มาเป็นมาตรฐาน ขึ้นอยู่กับความพอใจมากกว่า

หากยุคที่เริ่มปรากฎภาพธุรกิจหนังสือมือสองชัดเจน น่าจะเป็นยุค "ไคเซ้ง-แพร่พิทยา"และ "เลี่ยงเซ้ง-บันลือสาส์น" เมื่อเกือบ 60 ปีที่ผ่านมา เพราะทั้งสองแห่งนี้ถือเป็นต้นตำรับการซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์ที่เหลือจากการขาย มาจำหน่ายเป็นหนังสือมือสองอีกที รวมทั้งรับซื้อของเก่าอื่นๆ จำพวกสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ด้วย

สำหรับหนังสือนั้น มีอยู่ 3 สำนักพิมพ์ด้วยกันที่เป็นแหล่งที่พ่อค้าหนังสือมือสองในยุคนั้นมาขายลดราคาอีกทอดหนึ่ง คือ สำนักพิมพ์หอสมุดกลาง 09 สำนักพิมพ์เสริมมิตรบรรณคาร และสำนักพิมพ์อำนวยสาส์น โดย หนังสือที่สำนักพิมพ์เหล่านี้ผลิตออกมาส่วนมากนั้น จะมุ่งขายตลาดล่าง รวมทั้งทำหนังสือออกขายตามงานเทศกาลสำคัญต่างๆ เช่น งานกาชาด, งานสวนอัมพร, งานการท่องเที่ยว ฯลฯ เมื่อหนังสือเหลือจากการขายแล้ว ทั้งไคเซ้งและเลี่ยงเซ้งก็จะรับมาขายเป็นหนังสือมือสองอีกทีหนึ่ง

ย่านผ่านฟ้า ถนนนครสวรรค์ ถือเป็นย่านที่จำหน่ายหนังสือประเภทต่างๆ คึกคักที่สุด เพราะมีทั้งสำนักพิมพ์ ร้านขายหนังสือลดราคา รวมทั้งแหล่งหนังสือที่จะนำไปขายต่อด้วย ซึ่งไม่ได้มีกลยุทธ์การขายที่เป็นแบบแผนอะไร หากแต่เป็นแบบจรยุทธ์มากกว่า เพราะใครก็สามารถจะไปรับหนังสือมือสองมาขายก็ได้ โดยเฉพาะพ่อค้ารายย่อยที่นำไปวางขายตามงานบ้าง ตามริมถนนบ้าง หรือไม่ก็วิ่งขายตามท่ารถ ซึ่งแตกต่างจากการทำธุรกิจหนังสือมือสองในยุคนี้อย่างสิ้นเชิง

ปูผ้า : 3 เล่ม 10 บาท

ประสบการณ์ชีวิตการวิ่งขายหนังสือมือสองตั้งแต่อายุ 15 ปีและผ่านเวลามาจนถึง 50 กว่าในวันนี้ของ "เฮียรุ่ง" ไม่เพียงแต่โชกโชนเท่านั้น แต่ยังรู้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆ จากยุคก่อนมาจนถึงยุคนี้อีกด้วย

"ตอนอายุ 15-16 ผมเริ่มรับหนังสือจากร้านหนังสือเก่าย่านผ่านฟ้ามาขาย ซึ่งก็คือแพร่พิทยาและบันลือสาส์น ช่วงนั้นราวๆ ปี 2502 ส่วนมากก็วิ่งขายข้างๆ รถแถววัดเลียบ ต้นทางรถโดยสารที่จะวิ่งไปต่างจังหวัดจะอยู่แถวๆ นั้น ยุคโน้นยังไม่มีหมอชิต จากนั้นก็ย้ายมาขายที่เสาชิงช้า เพราะท่ารถย้ายมาอยู่ที่นี่ การวิ่งขายตามสถานที่ต่างๆ ทำให้รู้ว่าจุดขายอยู่ที่ไหนบ้าง ทั้งสถานีรถไฟหัวลำโพง วงเวียน 22 กรกฎา จนต่อมามีขนส่งสายใต้ และหมอชิต ก็ยังรับหนังสือมาขาย"

จนอายุได้ 25 ปี เป็นช่วงที่สองร้านใหญ่ทั้งแพร่พิทยาและบันลือสาส์น ยกระดับเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่และผลิตหนังสือเป็นของตนเอง ไม่ใช่ร้านรับซื้อของเก่าอีกแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เฮียรุ่งเก็บทุนได้มากพอ จึงสวมรอยการรับซื้อหนังสือที่เหลือจากการขายจากสำนักพิมพ์ต่างๆ มาขายเป็นหนังสือมือสองอย่างเต็มตัว

"หนังสือที่รับซื้อในยุคนั้น มีทั้งพอกเก็ตบุ๊คและนิตยสาร....นิตยสารก็มีหลายหัวที่เหมาซื้อมาขาย ทั้งนครไทย แม่ศรีเรือน ผดุงศิลป์ ดาราไทย ...นิตยสารพวกนี้จะขายดี โดยจะให้เด็กหรือใครก็ได้ที่อยากมีรายได้ รับหนังสือไปขายตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะตามท่ารถ"

ผู้จัดเจนตลาดหนังสือมือสองบอก ว่า นอกจากวิธีขาย วิ่งขายตามท่ารถแล้ว ก็จะปูผ้าบนฟุตบาทแล้วเอาหนังสือมากองขาย มีหลายเจ้าที่ใช้วิธีการแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นรายย่อย จนทุกวันนี้ก็ยังมีให้เห็น ประเภทกองขาย 3 เล่ม10 บาท หรือถ้าเป็นนิตยสารก็เล่มละ5บาทบ้าง 10บาทบ้าง รวมทั้งแผงตามตลาดนัด ก็จัดอยู่ในประเภทนี้ด้วย

"ถ้าย้อนเวลาไปสัก 50 หรือ 60ปี การปูผ้าแล้วกองหนังสือขายอย่างระเกะระกะ น่าจะเป็นยุคริมคลองหลอด เพราะการขายหนังสือรูปแบบกองขาย มีอยู่หลายเจ้าด้วยกัน อีกอย่างหนึ่งมันเป็นยุคที่พัฒนามาเป็นร้านหนังสือสนามหลวง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการขายหนังสือมือสองที่เป็นระบบมากขึ้น"

ที่บอกว่ายุคร้านหนังสือสนามหลวง (ต่อมาย้ายมาอยู่ที่สวนจตุจักร)เป็นยุคที่มีการซื้อขายหนังสือมือสองอย่าง เป็นระบบนั้น เพราะมีสถานที่ขายแน่นอน ไม่ใช่การขายแบบจรยุทธ์ หรือตระเวนขาย นอกจากนี้ยังมีการจัดประเภทหนังสืออย่างเป็นหมวดหมู่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร หรือพอกเก็ตบุ๊ค รวมทั้งหนังสือต่างประเทศ และจัดหนังสือตามเนื้อหาหนังสือด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิชาการ นวนิยาย สารคดี และหนังสือคู่มือ

อ่านได้ ไม่ต้องใหม่หมาด

คำว่า "หนังสือมือสอง" นั้น มีความแตกต่างจาก "หนังสือเก่า" ทั้งลักษณะและการขาย โดยหนังสือมือสองไม่ จำเป็นต้องเก่าแก่ แต่หนังสืออาจจะเป็นหนังสือมือหนึ่ง-สอง-สาม-สี่ห้าก็ได้ แต่คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ อายุของหนังสือ โดยหนังสือมือสองนั้น อาจจะมีอายุแค่สามเดือนหรือหกเดือนก็ได้ สำหรับหนังสือเก่านั้น จะเป็นหนังสือที่ผ่านวันเวลามายาวนานและหากยาก

หนังสือมือสองใน ยุค 50 ปีที่ผ่านมานั้น ถ้าจะวิเคราะห์ถึงรสนิยมคนอ่านแล้ว ดูเหมือนหนังสือนวนิยายจะขายดีเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับนิตยสารที่มีนิยายตีพิมพ์ และมีใบ้ห้วยด้วย อีกประเภทหนึ่งก็คือนิตยสารที่เกี่ยวกับดารา จะเป็นหนังสือที่ขายได้คล่อง

"สมัยก่อนนิยายอย่างเพชรพระอุมา ,อินทรีแดง...ตลอดจนนิยายที่เขียนโดย จ.ไตรปิ่น และ ป.อินทรปาลิต จะขายดีเป็นพิเศษ"

คือความทรงจำเฮียรุ่งที่คลุกคลีอยู่กับการขายหนังสือมานาน สะท้อนให้เห็นถึงยุคสมัยความรุ่งเรืองของหนังสือนวนิยายไทย

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือทัศนคติของผู้ซื้อหนังสือมือสอง จากยุคเก่ามาจนถึงปัจจุบัน มีความคิดเห็นที่ไม่แตกต่างกัน โดยเหตุผลในการซื้อหนังสือมือสองนั้น นอกเหนือจากราคาถูกกว่าแล้ว คุณค่าในเนื้อหาของหนังสือ ยังเหมือนกันกับหนังสือใหม่ทุกอย่าง จะต่างกันก็เพียงแค่ต้องรอต้องรอคอยสักระยะหนึ่งเท่านั้น

"นายหน้า" ช่วยค้าหนังสือ

หนังสือที่จะถูกถ่ายเทเลหลังมาเป็นหนังสือมือสองนั้น ถ้าเป็นหนังสือพอกเก็ตบุ๊คหลังจากสายส่งวางจำหน่ายไป 3- 6 เดือนแล้ว ก็จะถูกเก็บออกจากร้านส่งคืนสำนักพิมพ์ แต่ถึงอย่างไรหนังสือบางเล่มก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการเจรจากับสายส่งว่าจะ "ออนเชลฟ์" นานเท่าไหร่

ส่วนนิตยสารจะขายได้นานแค่ไหนขึ้นอยู่กับกำหนดเวลาแต่ละฉบับที่ออก จำหน่าย อาจจะเป็นรายเดือน รายสัปดาห์ หรือรายปักษ์ หลังจากครบกำหนด บริษัทสายส่งที่รับส่งนิตยสารเล่มนั้นๆ จะขนไปกองไว้โกดังทันที และรอเคลียร์บัญชีสักเดือนหรือสองเดือน จึงจะส่งคืนให้กับสำนักพิมพ์ผู้ผลิต

และบริษัทสายส่งที่มีโกดังเก็บหนังสือสารพัดนี่เอง เปรียบเสมือนเป็นตัวกลางระหว่างเจ้าของสำนักพิมพ์กับพ่อค้าหนังสือมือสอง เพราะจะเป็นผู้แนะนำให้เกิดการซื้อขายกัน ถ้าฝ่ายสำนักพิมพ์ไม่อยากขนหนังสือที่เหลือกองพะเนินไปเก็บไว้ที่สำนักงาน ก็จะเจรจากับพ่อค้าหนังสือมือสอง เมื่อตกลงราคากันได้ พ่อค้าก็จะเอารถมาขนหนังสือไป

การกำหนดราคาซื้อขายนิตยสารแต่ละหัวนั้น ไม่แน่นอน ไม่มีสูตรตายตัว ขึ้นอยู่กับแนวหนังสือและจำนวนหนังสือที่เหลือด้วย อาจจะเล่มละ 2-3 เปอร์เซ็นต์จากราคาปกบ้าง ส่วนหนังสือราคาซื้อขายหนังสือประเภทพอกเก็ตบุ๊คนั้น จะเน้นดูเนื้อหาและจำนวนเล่มที่เหลือ แต่การให้ราคาจะสูงกว่านิตยสาร อาจจะให้ราคา 10 หรือ 12 เปอร์เซ็นต์จากราคาปก ตามแต่จะตกลงกัน

มือสอง...เนี้ยบนิ้ง

แม้ทุกวันนี้ตามริมถนนย่านชุมชน หรือตามตลาดนัด ยังเห็นพ่อค้ารายย่อยปูผ้าแล้วเอาหนังสือมือสองมากองขายอยู่บ้าง ซึ่งเป็นวิธีการขายแบบเก่า แต่ในปัจจุบัน ธุรกิจหนังสือมือสองได้พัฒนารูปแบบการขาย และมีกลวิธีที่ซับซ้อนมากขึ้น

โดยเฉพาะการสู่กระบวนการเป็นหนังสือมือสอง จะมี 2 ลักษณะด้วยกัน อันแรกเป็นหนังสือที่ผ่านการวางขายจริงตามร้านมาก่อน และอีกประเภทเป็นหนังสือใหม่เอี่ยมแต่พิมพ์ออกมาเพื่อลดราคาสะบั้นหั่นแหลก ให้เป็นหนังสือมือสอง ซึ่งมีหลายสำนักพิมพ์ที่ใช้กลยุทธ์นี้เพื่อการขาย

แต่สิ่งที่เป็นพัฒนาการของธุรกิจหนังสือมือสองที่ ชัดเจนที่สุดก็คือการมีร้านทันสมัยอยู่บนห้างสรรพสินค้าใหญ่โต เหมือนร้านหนังสือชื่อดังทุกประการ ทั้งหนังสือที่วางจำหน่ายในร้าน การจัดหมวดหมู่ประเภทหนังสือ รวมถึงบรรยากาศภายในร้านที่ดูทันสมัย ชนิดที่ทำให้ร้านหนังสือที่มีชื่ออยู่แล้ว ถึงกับกุมขมับ คิดกลยุทธ์ลด แลก แจม แถม เข้าสู้

ขณะเดียวกันการกระจายการขายแบบเดลิเวอรี่ โดยเอเย่นต์หนังสือมือสองในกรุงเทพฯ ยังจัดส่งสินค้าไปยังร้านหนังสือมือสองต่างๆ ตามหัวเมืองใหญ่ทั้งสี่ภาคอีกด้วย หรือใครก็ตามที่อยากจะเปิดร้านขาย เพียงแต่ติดต่อกับเอเย่นต์ใหญ่และเจรจาการแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ลงตัวเท่านั้น ก็จะส่งหนังสือถึงร้านทันที

นอกจากนี้แล้ว บริษัทหรือนักธุรกิจหนังสือมือสอง ยังขยายธุรกิจด้วยการตั้งสำนักพิมพ์และผลิตหนังสือเอง โดยทำเป็นหนังสือที่ขายในลดราคาพิเศษสำหรับลูกค้า แต่เป็นหนังสือเกรดดีและใหม่เอี่ยม

ปัจจุบันนี้มีหลายบริษัทที่หันมาทำธุรกิจหนังสือมือสอง และมีแผนการตลาดที่แตกต่างจากยุคเก่าก่อน อีกทั้งมีระบบคัดเลือกแนวหนังสือที่เน้นลูกค้าเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคลื่นลูกใหม่ที่ทำสำนักพิมพ์ขนาดเล็กพร้อมกับพ่วงการทำธุรกิจหนังสือมือสองด้วย เพียงแต่ยังอยู่ในวงจำกัด
..................................................................................

ไม่มีสำนักพิมพ์หรือบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ไหนหรอก ที่อยากจะให้หนังสือที่ผลิตออกมาแล้วขายไม่ได้ ทุกแห่งหนในโลกนี้ล้วนแล้วแต่อยากให้หนังสือขายเกลี้ยงร้าน จนพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกทั้งสิ้น

แต่ในความเป็นจริง การขายหนังสือบางทีก็เหมือนภาพมายา หนังสือดีแต่ขายไม่ดี หรือไม่หนังสือห่วยๆ แต่กลับขึ้นเบสต์เซลเลอร์ เกี่ยวกับเรื่องนี้พ่อค้าหนังสือมือสองไม่มีข้อคิดเห็นใดๆ เลย แต่บอกเอาไว้อย่างน่าคิดประโยคหนึ่งว่า

"ถ้าหนังสือในโลกนี้ขายดีทุกเล่ม อีกหน่อยมันก็ไม่มีคนอ่านน่ะสิ เพราะผู้คนในโลกจะหันมาเขียนมาทำหนังสือขายกันหมดไง" จากใจของเฮียรุ่ง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook