ด่วน! มาร์คเด้งพัชรวาทช่วยราชการทำเนียบแล้ว

ด่วน! มาร์คเด้งพัชรวาทช่วยราชการทำเนียบแล้ว

ด่วน! มาร์คเด้งพัชรวาทช่วยราชการทำเนียบแล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกฯ อภิสิทธิ์ เผย ลงนามคำสั่งให้ย้ายผบ.ตร.มาช่วยราชการที่สำนักนายกฯแล้ว พร้อมตั้ง ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. พัชรวาท สร้างขวัญตร.ประกาศ7ข้อรับมือม็อบ อำนวย แฉเชิญป.ป.ช.ร่วมสังเกตุการณ์ม็อบแต่ไม่สน ด้านพัชรวาทประกาศลาออกขอพักผ่อนก่อนเกษียณ

(9ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สัมภาษณ์ ภายหลังได้หารือร่วมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และนายนิพนธ์ พร้อมพันธ์ เลขาธิการนายกฯ ว่า ในวันนี้ตนได้ลงนามในคำสั่งให้พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ ผบ.ตร. มาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว

โดยคำสั่งนี้จะมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พร้อมกับมีคำสั่งให้พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผบ.ตร. ที่ดูแลคดีลอบยิง นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ เป็นผู้ปฎิบัติราชการแทนผบ.ตร.

ด้านนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีมีข่าวว่ามีความพยายามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้บัญชาการ ตำรวจแห่งชาติคนใหม่ตลอดในช่วงนี้ว่า ตนก็ไม่ทราบว่าทำไม จึงเป็นข่าวออกมาได้ คณะกรรมการตนก็ไม่ได้เป็น

เมื่อถามต่อว่าแสดงว่า ไม่ได้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นกับนายกฯ นายนิพนธ์ กล่าวทันทีว่า ตนจะไปขัดแย้งอะไรกับใคร นายกรัฐมนตรี ท่านเป็นผู้บังคับบัญชาตน

พัชรวาทประกาศลาออกขอพักผ่อนก่อนเกษียณ

 ล่าสุดเมื่อเวลา 17.05น. พล.ต.อ พัชรวาท ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อ้างเหลือเวลาทำงานอีก 21 วัน ขอพักกผ่อนก่อนเกษียณอายุราชการ ปัดพูดถึงคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีสายฟ้าแลบ โดยมีสีหน้าท่าทีใจดีสู้เสือ ก่อนขึ้นรถออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเวลา17.10 น.ที่ผ่านมา

ผบ.ตร.สร้างขวัญตร.ประกาศ7ข้อรับมือม็อบ

ที่ บช.น. เมื่อเวลา 10.00 น. พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และพล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. แถลงกรณี ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด แก่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. โดย พล.ต.ต.สุรพล ได้นำประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาอ่าน มีข้อความระบุว่า

ตามที่คณะกรรมการ ปปช.ได้แถลงข่าวการประชุมเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2552 เรื่องกล่าวหา นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับพวกกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ราชการ กรณีสั่งการให้มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในสังกัดสำนัก งานตำรวจแห่งชาติสรุปว่า พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมในช่วงเช้าทราบข่าวการบาดเจ็บ ฯลฯหลายรายแต่กลับเพิกเฉยไม่สั่งการให้หยุดยั้งการกระทำหรือยอมให้กระทำการ อันเป็นการเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อประชาชน เป็นการไม่รับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ของตนเองที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยใน ชีวิตของประชาชนโดยมิได้ยับยั้งการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน ตามวิสัยของข้าราชการตำรวจที่มีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์จนเกิดความเสียหาย

การกระทำหรือละเว้นการกระทำของ พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และฐานละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79(5) (6) และมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ ระบุว่าพลตำรวจโทสุชาติ เหมือนแก้ว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชา การตำรวจนครบาลทราบข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งอยู่ในความควบคุมบังคับบัญชาในฐานะผู้บัญชาการ เหตุการณ์ ตามแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) ได้ปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต แต่ไม่ดำเนินการทบทวนวิธีการหรือหยุดยั้งการกระทำดังกล่าวการกระทำของพล ตำรวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว จึงมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทำร้ายประชาชนในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการ กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็น ผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และกระทำหรือละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 79 (3) (5) (6) และมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เห็นว่าข่าวดังกล่าวอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชนในอันที่จะ ได้รับการบริการในการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ตลอดจนการได้รับการปกป้องในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงอาจสร้างความสับสนและกระทบต่อการตัดสินใจในการพิจารณาสั่งการให้เป็น ไปตามกฎหมายของผู้บังคับบัญชาแต่ละลำดับชั้นตลอดจนขวัญและกำลังใจในการ ปฏิบัติภารกิจหน้าที่ของเพื่อนข้าราชการตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อยของ บ้านเมืองและการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเรื่องที่จะเกิดจากชุมนุมเรียกร้องในเรื่องต่างๆของพี่น้องประชาชน จึงให้นำเรียนพี่น้องสื่อมวลชนเพื่อประกาศให้พี่น้องประชาชนตลอดจนเพื่อนข้า ราชการตำรวจทุกนายได้ทราบดังนี้

1. พี่น้องประชาชนย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ

2. เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายมีหน้าที่ต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของพี่น้อง ประชาชนให้พ้นจากการล่วงละเมิด และต้องอำนวยความยุติธรรมแก่พี่น้องประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน

3. เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายต้องดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้อง รวดเร็วเป็นธรรม และทั่วถึง

4. เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ในการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยการกระทำพอสมควร แก่เหตุ ในอันที่จะต้องดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนและ สาธารณะสมบัติของแผ่นดินให้พ้นภยันตรายที่ใกล้จะถึงซึ่งเกิดจากการ ประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย

5. ขอให้พี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคนมั่นใจว่า "ข้าราชการตำรวจทุกนายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ" จะยืนหยัดปฏิบัติภารกิจหน้าที่ตามกฎหมาย ในอันที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ตลอดจนรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายตลอดไป โดยไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบากที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ทางการเมืองใดๆใน ปัจจุบัน

6. ขอให้เพื่อนข้าราชการตำรวจทุกนายเข้าใจว่าการชี้มูลของคณะกรรมการ ปปช.ตามที่ได้แถลงข่าวเป็นการดำเนินการของคณะกรรมการในองค์กรอิสระ ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จึงขอให้เพื่อนข้าราชการตำรวจทุกนายมีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติภารกิจ หน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายต่อไป ในส่วนของพลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้ถูกชี้มูลการกระทำความผิดจะต่อสู้คดีตามแนวทางของกฎหมายและระเบียบ แบบแผนที่มีอยู่ เพื่อยืนยันว่าในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้รักษากฎหมายนั้นได้ดำเนินการไป ตามรัฐธรรมนูญตลอดจนกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกประการ และเชื่อว่าพยานหลักฐานที่ส่งมอบให้คณะกรรมการ ปปช.เพิ่มเติมจะเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคน ปฏิบัติภารกิจหน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่กำหนด

7. สำหรับการดำเนินคดีของกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งกระทำผิดกฎหมายเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นั้น พลตำรวจเอกพัชรวาทฯให้นำเรียนเพิ่มเติมว่าเป็นกรณีเดียวกันกับเรื่องที่คณะ กรรมการ ปปช.แถลงข่าวการชี้มูลกรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ดังกล่าวข้างต้น แต่ในการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมิได้พิจารณาเฉพาะกรณีของเหตุการณ์ ในการชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 แต่ได้สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่ยืนยันพฤติการณ์การกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุม มาตั้งแต่การเริ่มชุมนุมเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2551 ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ว่าการชุมนุมของกลุ่ม ผู้ชุมนุมมิได้เป็นการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด โดยก่อนหน้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ได้มีการยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งทำเนียบรัฐบาลและยังมีการกระทำในหลายประการตลอดระยะเวลาการชุมนุมที่ กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งการกระทำที่ผิดกฎหมายต่างๆได้กระทำอย่างต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จึงมีการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำผิดตามสำนวนการสอบสวนคดีอาญา สถานีตำรวจนครบาลดุสิตที่ 395/2551 ในความผิดฐาน "ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ(ความ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 มาตรา 215 และมาตรา 309 ในการสอบสวนมีการสอบสวนผู้กล่าวหาถึง 31 คนซึ่งรวมทั้งพลตำรวจโทสุชาติ เหมือนแก้ว ที่เป็นผู้กล่าวหาในคดีแต่ถูกชี้มูลว่ากระทำความผิดทั้งทางอาญาและทางวินัย ด้วย นอกจากนี้พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานทางนิติวิทยาศาสตร์อีกเป็นจำนวนมาก คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้สั่งตั้ง คณะพนักงานสอบสวนพิจารณาสั่งคดีเสนอพนักงานอัยการพิจารณา ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะพิจารณาสำนวนการสอบสวนนี้โดยให้ความเป็นธรรมกับ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายตามหลักนิติธรรม และยืนยันว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินคดีกับ กลุ่มผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมายในมาตรฐานเดียวกันมาโดยตลอด.

พล.ต.ต.สุรพลกล่าวอีกว่า ผบ.ตร. รู้สึกเป็นห่วงขวัญ กำลังใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงได้ให้นำประกาศดังกล่าวมาเผยแพร่เพื่อให้ตำรวจและกำลังพลทุกนายทำหน้าที่ ต่อไป เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากที่ปปช.มีการชี้มูลแล้วทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจยากขึ้นหรือ ไม่ พล.ต.ต.สุรพล กล่าวว่า ตำรวจยังมีหน้าที่ในการปฏิบัติภารกิจภายใต้กรอบของกฎหมาย คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยจะมีขั้นตอนในการปฏิบัติต่างๆซึ่งในเรื่องนี้ พล.ต.ต.อำนวย จะเป็นผู้ชี้แจงว่าสามารถปฏิบัติภายใต้กรอบได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนยังมีความมั่นใจในการที่จะรับบริการจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการตุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ถามว่า หากมีการวางกรอบเอาไว้สูงเกินไปจะทำอย่างไร พล.ต.ต.สุรพลกล่าวว่า ในเรื่องนี้คือต่างคนต่างมีหน้าที่ มีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายมีหน้าที่ที่จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับ ประชาชนว่าเขาจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่เช่นนั้นในกรณีถ้าการชุมนุม เป็นผลกระทบต่อภาคเอกชน มีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องค่าแรงงานแล้วทางภาคเอกชนขอให้ส่งกำลังเจ้า หน้าที่ตำรวจ และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถหยุดยั้งการชุมนุมได้ก่อให้เกิดความเสีย หายอย่างร้ายแรง ซึ่งนำไปสู่การเผาโรงงานหรือเผาสถานที่ทำการหรือที่ประกอบการของภาคเอกชน เกรงว่าถ้ากระทำการอย่างใดไปแล้วจะกระทบต่อตัวเอง ดังนั้นตำรวจทุกคนจะต้องยืนยันการปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบของกฎหมายที่กำหนด ส่วนความเห็นที่มีความแตกต่างกันในวิธีปฏิบัตินั้นนั้นนี้ยังไม่เป็นที่ยุติ ว่าถูกผิดอย่างไร ซึ่งทางตร.จะมีช่องทางหรือแนวทางตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ในการที่จะนำเสนอ ข้อมูลต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ยังไม่มีในสำนวนของป.ป.ช. เพื่อให้นำไปพิจารณาว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตลอดระยะเวลา 100 กว่าวันที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 7 ตุลาคม เราได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามขั้นตอนหยุดยั้งความรุนแรงต่างๆพยายามที่จะทำให้ ความรุนแรงต่างๆมันไม่เกิดขึ้น ส่วนสิ่งที่มีการนำไปพิจารณากันในวันที่ 7 ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีพยานหลักฐานอื่นๆเพิ่มเติมประกอบ ซึ่งผบ.ตร.ในฐานะเป็นผู้ที่ถูกชี้มูลท่านจะดำเนินการในเรื่องนี้เฉพาะตัวของท่านเอง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องที่ท่านนายกกดดันแล้วจะปลดให้ไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี รองโฆษกกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบต้องเป็นเรื่องของ ผบ.ตร.ท่าน คงจะมีแนวทางของท่าน เรายืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และต้องสร้างความเชื่อมั่นขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น เราจะปฏิบัติหน้าที่ต่อทุกฝ่ายโดยเสมอภาคกันตามหลักนิติธรรมทุกประการ

"อำนวย"แฉเชิญป.ป.ช.ร่วมสังเกตุการณ์ม็อบแต่ไม่สน

ด้าน พล.ต.ต.อำนวย กล่าวว่า ตนจะตอบคำถามเมื่อสักครู่ด้วย อีกทั้งตนและท่านรองสุรพลอยู่ในเหตุการณ์ด้วย ในวันที่ 7 ตุลาคม ติดตามเหตุการณ์ตลอดเวลา รอความเห็นป.ป.ช.จนกระทั่งวันนี้ถ้าจะถามตนว่าเห็นด้วยกับมติของปปช.หรือไม่ ตนคงไม่ตอบขอให้มันอยู่ในใจ จะไม่พูดย้อนถึงเรื่องที่ป.ป.ช.ชี้มูล ผบ.ตร.และ อดีต ผบช.น.มีส่วนผิด แต่จะพูดไปถึงอนาคตว่าตำรวจจะทำอะไรอย่างไร ต่อไปป.ป.ช.คงไม่มีหน้าที่ที่ 2 คือให้คำแนะนำ เสนอแนะให้กรอบการปฏิบัติ แนวมาตรฐานว่าควรจะเป็นอย่างนี้แล้วจะไม่ทุจริต หน้าที่ที่1และ2ไม่ได้แตกต่างกันเลย มีน้ำหนักพอๆกัน ป.ป.ช.มีหน้าที่ต้องแนะนำหน่วยงานของรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องด้วย

พล.ต.ต.อำนวยกล่าวอีกว่า ตนได้อ่านมติของป.ป.ช.แล้วเห็นด้วยเห็นด้วยอยู่ในใจและเอามติของปปช.ฉบับ เต็มๆมาศึกษามาแล้วตั้งเป็นคณะทำงานแล้วถามกลับไปยังป.ป.ช.ว่าในอนาคตจะใกล้ หรือไกลแล้วแต่ ว่าหากมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาชุมุมปิดล้อมสถานที่ราชการ ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลหรือไปปิดล้อมป.ป.ช.เอง แล้วมีท่าทีจะก่อความวุ่นวาย ใช้รั้วลวดหนาม ใช้ยางรถยนต์ ใช้น้ำมันราดพื้น ใช้กุญแจไปปิดคล้องประตูสถานที่ราชการ ขู่ว่า "ฆ่ามัน ฆ่ามัน" ที่ไหนก็แล้วแต่ และเป็นม๊อบไหนก็แล้วแต่ ถามว่าป.ป.ช.จะให้ตำรวจทำได้แค่ไหน เพราะขณะนี้บ้านเรายังไม่มีกฎหมายควบคุมหรือจัดระเบียบการชุมนุม จำเป็นจะต้องเขียนกรอบการปฏิบัติหน้าที่โดยองค์การที่เกี่ยวข้อง จะให้ตำรวจทำได้อย่างไรบ้างซึ่งถ้าหากเกินไปจะไม่ทำ กรอบชัดเจนตำรวจจะได้ไม่กล้าทำ

"ทุกวันนี้ให้ตำรวจไปสู้กับไอ้เสือฝ้าย เสือใบ เสือดำ เสือดาวหรือเสืออะไรก็แล้วแต่ตำรวจเลือกที่จะทำอย่างนั้นเพราะกติกาชัดเจน แต่ตรงนี้ไม่มีกติกา ปปช.ช่วยหน่อยเถอะ ผมเคยทำหนังสือเชิญปปช.ไป ว่าวันนี้ม๊อบจะมาก็เชิญไปร่วมสังเกตการณ์ มาบอกเราสิว่าทำได้แค่ไหนจะได้ไม่บกพร่องแต่ท่านไม่มาผมจึงเรียกร้องให้ท่าน เขียนกติกามาให้ผม ถ้าท่านไม่เขียนผมจะเอามติของท่านมาศึกษาแล้วถามกลับไปว่าจะให้ทำอย่างไร แล้วผมจะทำตามนั้น หากทำตามนั้นแล้วท่านจะมากล่าวหาไม่ได้ว่าทำเกินกว่าเหตุ และอย่าว่าตำรวจเกียร์ว่างนะคำว่าเกียร์ว่างคือมีเกียร์ให้เข้าแต่ไม่เข้า แต่นี่ไม่มีเกียร์ไม่มีเกียร์คือไม่มีกติกา แผนกรกฎท่านบอกว่าใช้ไม่ได้ท่านบอกว่าเกินกว่าเหตุ ท่านก็เขียนมาให้ผมสิแล้วผมจะทำตามที่ท่านเขียน หรือให้ผมเขียนแล้วเสนอท่านไปแล้วแก้ไขมา เราจะทำตามนั้น สิ่งนี้คือสิ่งที่เราจะปฏิบัติต่อไปผมจะเอามติมาแล้วรีบเขียน และวันที่ไปส่งที่ป.ป.ช.ผมจะบอกกับสื่อมวลชนด้วยว่าผมเขียนเสร็จแล้ว ผมจะทวงถามคำตอบท่านด้วย" พล.ต.ต.อำนวย กล่าว

เมื่อถามว่า หากกลุ่มเสื้อแดงที่นัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 กันยายนนี้หากลักษณะการชุมนุมเหมือกับกลุ่มเสื้อเหลืองตำรวจจะทำอย่างไร พล.ต.ต.อำนวย กล่าวว่า ต้องดูว่ารัฐบาลประกาศใช้กฎหมายใกล้เคียงอะไรหรือเปล่า ขณะนี้กฎหมายตรงๆในการจัดระเบียบการชุมนุมยังไม่มี ส่วนแก๊สน้ำตาจะมีการหรือไม่ต้องพิจารณา แก๊สน้ำตาเขาใช้กันทั่วโลก ที่บราซิลยิงกัน 9 ชั่วโมง แต่ที่เมืองไทยยิงแล้วถือว่าทำเกินกว่าเหตุ และหากมีความรุนแรงเกิดขึ้นก็จะไม่ผลักภาระไปให้ทหาร หากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงทกคนที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพนักงานตามพระราชบัญญัติ เท่ากันหมดทั้งทหารและตำรวจ ไม่มีใครเดินนำหน้าใคร

ถามว่าในสำนวน ป.ป.ช. ไม่มีพูดถึงเรื่องระเบิดปิงปอง พล.ต.ต.อำนวยกล่าวว่า ในสำนวนไม่มี ทั้งที่เจอเป็นเข่ง มันมาจากไหน


 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook