“ถนอม ชาภักดี” พื้นที่ศิลปะ คือพื้นที่แห่งเสรีภาพ

“ถนอม ชาภักดี” พื้นที่ศิลปะ คือพื้นที่แห่งเสรีภาพ

“ถนอม ชาภักดี” พื้นที่ศิลปะ คือพื้นที่แห่งเสรีภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังร้อนระอุ เจ้าหน้าที่รัฐเดินหน้าจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างไม่ลดละ รวมไปถึง “ศิลปิน” ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามเรื่อง “เสรีภาพในการแสดงออก” ของศิลปินในประเทศ ที่อาจไม่เคยมีอยู่จริงในสภาพสังคมที่ประชาชนต้องสยบยอมต่ออำนาจบางอย่างอยู่ตลอดเวลา ที่จริงแล้วศิลปินเรียกร้องเสรีภาพได้หรือไม่ และเสรีภาพของศิลปินมีผลอย่างไรต่อสังคม  Sanook จึงชวน ”อาจารย์ถนอม ชาภักดี” ศิลปินและนักวิจารณ์ ผู้คร่ำหวอดในวงการศิลปะไทยมาอย่างยาวนาน มาพูดคุยถึงบทบาทหน้าที่ของศิลปะและศิลปินกับปัญหาการเมืองและสังคมไทย ในช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องอนาคตที่ดีกว่าให้กับตัวเอง

ศิลปะกับการเมือง 

หากพูดถึงงานศิลปะในประเทศไทย ภาพแรกในความคิดของเราคงหนีไม่พ้นภาพพระพุทธรูปอันสง่างาม หรือภาพธรรมชาติในชนบทที่เรียบง่ายและสะท้อนวิถีชีวิตคนไทยได้เป็นอย่างดี ขณะที่เรื่องศาสนาและธรรมชาติกลายเป็นประเด็นยอดนิยมที่ศิลปินไทยมักหยิบยกมาเล่าผ่านงานทัศนศิลป์ แต่ศิลปะที่ว่าด้วยเรื่องการเมืองกลับไม่ค่อยมีให้เห็นเท่าไรนัก จนคล้ายกับว่า ศิลปะและการเมืองเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง ทว่า อาจารย์ถนอมกลับมองว่า “ศิลปะกับการเมือง แยกออกจากกันไม่ได้”

ศิลปะเกี่ยวข้องกับการเมืองในตัวมันเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าคุณจะวิพากษ์วิจารณ์อะไร คุณเขียนงานศิลปะนามธรรมก็เป็นการเมือง มันคือการนิ่งเฉยนั่นเอง หรือคุณจะเขียนพระพุทธรูป ปั้นพระพุทธรูป ก็เป็นการเมือง เพราะคุณเล่นกับความศรัทธา ดังนั้น ศิลปะกับการเมืองแยกออกจากกันไม่ได้ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว พื้นที่ศิลปะคือพื้นที่ประชาธิปไตยในตัวมันเอง เพราะมันมีอิสรภาพในการแสดงออกทางความรู้สึก ฉะนั้น ศิลปะจึงเป็นพื้นที่ในการต่อสู้ทางการเมือง เป็นพื้นที่ในการต่อรองทางการเมืองมาโดยตลอด ไม่ว่าจะในรูปแบบของงานวรรณกรรม ละคร หรือดนตรีก็ตาม” อาจารย์ถนอมเริ่มต้นอธิบาย

อาจารย์ถนอมชี้ว่า เนื่องจากศิลปะไม่สามารถสร้างความเป็นเอกเทศให้ตัวมันเองได้ จึงทำให้ศิลปินต้องพยายามดิ้นรนเพื่อให้หลุดจากระบบหรือกลไกการสร้างงาน เพราะเหตุนี้ ศิลปินโดยทั่วไปจึงต้อง “ขบถ” ต่อโครงสร้างที่เข้ามาครอบงำตัวเองในทุกกระบวนการ 

“ศิลปินไม่ยอมสยบ หรือพยายามที่จะไม่อยู่ภายใต้อำนาจใดอำนาจหนึ่ง ดังนั้น โดยสถานะของศิลปะ มันจะขบถ และดิ้นรนเพื่อแสวงหาพื้นที่แห่งเสรีภาพและอิสรภาพ เพื่อที่จะได้แสดงออกทางความรู้หรือทางความคิดของตัวเอง นอกเสียจากว่าศิลปินจะยอมสยบอยู่ภายใต้อำนาจหรือกลไกของผู้อุปถัมภ์ หรือของรัฐเท่านั้นแหละ ถ้าเป็นเช่นนั้น มันก็จะกลายเป็นศิลปะเพื่อตอบสนองอำนาจรัฐ” อาจารย์ถนอมกล่าว 

ศิลปะไทยภายใต้การสยบยอม

เมื่องานศิลปะคือการขบถต่อขนบของสังคม จึงนำไปสู่คำถามที่ว่าด้วยการขบถของศิลปินในแวดวงศิลปะไทย อาจารย์ถนอมหัวเราะร่า ก่อนตอบว่า “หัวขบถไม่มีหรอก มีแต่หัวสยบเท่านั้นแหละ” 

มันเป็นปัญหาตั้งแต่การสถาปนาเชิงความคิดทางศิลปะเข้าสู่ระบบแล้ว ซึ่งมันมาพร้อมกับกระบวนการที่ทำให้การเมืองเป็นเรื่องสกปรกนั่นแหละ ศิลปะไม่ถูกสถาปนาให้มารับใช้ภาพสะท้อนสังคม แต่เพื่อมาอยู่ใต้ระบบอุปถัมภ์ของชนชั้นนำ สถาบันทางศิลปะมากมายในประเทศ เขาก็ไม่ได้เปิดขึ้นมาเพื่อผลิต “ศิลปิน” ให้ทำงานศิลปะ แต่ผลิต “ช่าง” ให้ทำงานศิลปะที่อยู่ภายใต้กลไกของรัฐ เพื่อจะสามารถมีชีวิตรอดได้ ดังนั้น คนที่จบสถาบันทางศิลปะจึงไปเป็นครูบาอาจารย์กัน เขาไม่สามารถที่จะคิดว่า “กูจะไปเป็นศิลปินตามสถานะความเป็นศิลปะ ในฐานะการแสดงออกอย่างเสรี” ได้ เราไม่สามารถพูดว่าเรามีอาชีพศิลปินได้เลยในบ้านเรา” อาจารย์ถนอมชี้  

การไร้พื้นที่แสดงออกความเป็นศิลปะอย่างเสรี สอดคล้องกับลักษณะงานศิลปะของไทย ที่ศิลปินมักจะหยิบเอาเรื่องศาสนา พุทธประวัติ หรือเรื่องเล่าหลักของสังคมมาเล่าผ่านชิ้นงานศิลปะ จนกลายเป็นกรอบที่ครอบศิลปินเอาไว้ ทั้งยังเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ของศิลปินอีกด้วย อย่างศิลปะเกี่ยวกับพุทธประวัติ ที่ไม่ได้ถูกซื้อขายในฐานะงานศิลปะ แต่กลายเป็นรูปบูชาในห้องพระที่ไม่มีใครกล้าวิจารณ์ และเมื่อไม่ถูกวิจารณ์ ผลงานชิ้นนั้นก็ถูก “แช่แข็ง” และแตะต้องไม่ได้

แต่เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวทางสังคม ศิลปินไม่สามารถเอาเรื่องเล่าหลักของสังคมมากดหัวชาวบ้านได้อีกต่อไป เพราะตอนนี้มันกลายเป็นเรื่องเล่าขนาดเล็กของแต่ละกลุ่ม ทั้งกรรมกร ชาวนา ชาวบ้าน หรือเรื่องของสิทธิเสรีภาพ ความเป็นส่วนบุคคลที่ถูกละเมิดอยู่ตลอดเวลา แต่ทำไมศิลปินก็ยังไม่หยิบเรื่องพวกนี้มาพูด ไม่มีใครพูดถึงเรื่องเหล่านี้ในแง่ของกระบวนการทางศิลปะเลย” อาจารย์ถนอมตั้งคำถาม

หากมองว่า แวดวงศิลปะของไทยมีความเชื่อมโยงกับ “รัฐ” อย่างแยกกันไม่ออก คงไม่แปลกนักที่ศิลปินผู้ทำงานอยู่ภายใต้กลไกของรัฐ เลือกที่จะปิดปากตัวเองและไม่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ แต่เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ข้างต้น อาจารย์ถนอมก็มองว่า เป็นเพราะบ้านเมืองของเราไม่มีพื้นที่แห่งการวิพากษ์วิจารณ์

“ถ้ารัฐมีประชาธิปไตย ก็คงไม่มาต้อนจับคนวิพากษ์วิจารณ์ แต่เพราะบ้านเมืองนี้มีแต่สังคมแห่งการเยินยอ เชิดชู และบูชา แต่กลับไม่มีสังคมแห่งการวิจารณ์ เมื่อเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยรสนิยมของผู้คนอีกจำนวนมหาศาล รัฐกลับรับไม่ได้ ฉะนั้น รสนิยมเดียวที่ทุกคนต้องเป็น กลายเป็นรสนิยมรัฐนิยม หรือต้องเป็นไปตามที่รัฐต้องการ”

สุนทรียภาพแห่งการต่อต้าน

ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ด้านหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่รัฐถูกวิพากษ์วิจารณ์ คือ “การต่อต้าน” ซึ่งกลายเป็นภาพจำของความรุนแรงที่หลาย ๆ คนเลือกที่จะหลีกหนี แต่อาจารย์ถนอมกลับมองว่า “ร่างกายของเรามีการต่อต้าน (Resistance) อยู่ตลอดเวลา คำว่า Resistance จึงไม่ใช่เรื่องรุนแรง แต่เป็นเรื่องสามัญสำนึกของทุกคนที่ถูกรุกล้ำเข้ามาในอาณาเขตของตัวเอง เราจึงต้องปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยของตัวเอง” 

เมื่อมองในบริบทของรัฐและประชาชน รัฐคือผู้ใช้ความรุนแรงกับประชาชนอยู่ตลอดเวลา ผ่านโครงสร้างหรือกลไกที่กดทับประชาชนให้อยู่ภายใต้กรอบอำนาจ แต่เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนรู้สึกว่าไม่สามารถอดทนต่อการถูกกระทำโดยรัฐได้อีกต่อไป ประชาชนจึงต้องใช้ตัวเลือกสุดท้าย นั่นคือ การต่อต้าน เพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของตัวเอง แต่สองมือเปล่าของประชาชนคงไม่อาจสร้างความรุนแรงเพื่อต่อกรกับรัฐได้ จึงก่อให้เกิดศิลปะแห่งการต่อต้าน (Art of Resistance) หรือเครื่องมือที่ศิลปินนำมาใช้สู้กับผู้กดขี่พวกเขา

“ผมพูดคำว่าสุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้าน (Aesthetic of Resistance) ขึ้นมา เพราะผมเอาแนวคิดของศิลปินในช่วงที่ฮิตเลอร์ครองอำนาจ ช่วงปี 1930 เป็นต้นมา แล้วมันมีศิลปินกลุ่มหนึ่งที่ทำงานเพื่อต่อต้านแนวคิดศิลปะแบบสร้างชาติของฮิตเลอร์ พวกเขาถูกฮิตเลอร์เรียกว่า ศิลปะเสื่อมทราม (Degenerate Art) เพราะมันเป็นการเขียนสะท้อนภาพชีวิตที่ล้มเหลว ความเหลวแหลกของสังคมในเมืองใหญ่ของเยอรมนีช่วงนั้น ที่เต็มไปด้วยโสเภณี การฆ่ากัน ชนชั้นนำปาร์ตี้ กินเหล้า เฮฮา ในทางกลับกัน ศิลปะที่ดีสำหรับฮิตเลอร์ คือ ศิลปะที่เชิดชูวีรบุรุษ ทหารกล้า หรือผู้นำ ซึ่งมันไม่ได้ต่างจากประเทศไทยตอนนี้เลย” อาจารย์ถนอมเล่า 

พื้นที่แห่งเสรีภาพของศิลปิน 

ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ลุกฮือขึ้นเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย ด้วยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในรูปแบบต่าง ๆ อาจารย์ถนอมก็มองว่า นี่เป็นเวลาที่เหมาะสมที่ศิลปินไทยจะลุกขึ้นมาทวงพื้นที่แห่งเสรีภาพในการทำงานศิลปะให้กับตัวเอง         

ศิลปะต้องเข้ามาต่อสู้เพื่อเสรีภาพประชาธิปไตย เพราะว่าบ้านเมืองของเราไม่เคยอยู่ในสภาพที่พร้อมจะให้ศิลปินแสดงออกทางความคิดหรือทางความรู้สึกเลย ดังนั้น ถ้าจะพูดถึงสถานะโครงสร้างทางการเมืองในปัจจุบัน นี่เป็นโอกาสดีที่ศิลปินจะได้แสดงตัวในเรื่องของการแสดงออกทางสิทธิและเสรีภาพ เพื่อประชาธิปไตยที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของความเป็นศิลปะ” 

ทั้งนี้ แม้จะเห็นศิลปินรุ่นใหม่ เช่น Headache Stencil, Baphoboy หรือไข่แมว ใช้งานศิลปะในการวิพากษ์สังคมและการเมืองบ้างแล้ว แต่ทิศทางของศิลปะกระแสหลักกลับไม่ขยับ เมื่อรวมกับบรรยากาศของความหวาดกลัวที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมไทยตลอดเวลา งานศิลปะจึงแทบจะไร้ตัวตนในขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ 

“รัฐกลายเป็นหลุมดำขนาดใหญ่ที่พร้อมจะดูดกลืนพลังทางศิลปะ และกระบวนการสร้างสรรค์เข้าไป ดังนั้น ส่วนที่เป็นลักษณะการขบถหรือการต่อต้านจึงมีเพียงนิดเดียว แต่ในเมื่อศิลปะสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงบริบท แนวคิด หรือการจัดการได้ในทุกพื้นที่ ทำไมศิลปินจึงไม่ออกมาแสวงหา หรือเป็นแนวรบไปพร้อม ๆ กับการเคลื่อนไหวของขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ซึ่งมันเป็นโอกาสที่คุณจะได้แสดงศักยภาพของการเป็นศิลปะจริง ๆ ภายใต้เสรีภาพที่คุณแสวงหามานานแสนนาน” 

แต่ถ้าเราจะมาต่อสู้ร่วมกัน ผมอยากให้คนทำงานทางศิลปะก้าวเข้าไปเรียนรู้โครงสร้างของประชาชน นั่งรับรู้ปัญหาของเขา เรียนรู้ความคิด จิตสำนึกของผู้คน เพราะตราบใดที่คุณนั่งเทียน เขียนศิลปะ ไม่ลงไปอยู่กับกระบวนการเรียนรู้โครงสร้างทางสังคม คุณก็ไม่มีทางที่จะรับรู้เลยว่า จิตสำนึกของประชาชนเป็นอย่างไร” อาจารย์ถนอมแนะนำ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ “ถนอม ชาภักดี” พื้นที่ศิลปะ คือพื้นที่แห่งเสรีภาพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook