เผยโฉมนักวิจัยคนไทย ผู้คิดค้นวัคซีนโควิด-19 จากโปรตีนจากใบยาสูบ
"หมอธีระวัฒน์" เผย โฉมหน้า นักวิจัยวัคซีนโควิด-19 จากบริษัทสตาร์ทอัพ สัญชาติไทย
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เปิดเผยข้อมูล 2 นักวิจัยที่พัฒนาวัคซีนโควิด-19 โปรตีนจากใบยาสูบ โดยเนื้อหาของบทความบางส่วน ระบุข้อมูลเกี่ยวกับ นักวิจัย 2 คน ใจความว่า
“หลังจาก ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์ไทยจากบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม สามารถพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และแอนติบอดีในการยับยั้งไวรัสจากใบยาสูบชนิดพิเศษได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นอีกทางเลือกในการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้น เรามาทำความรู้จักกับการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 และแอนติบอดี้ในการยับยั้งเชื้อไวรัส จากใบยาสูบกันว่า มีเทคนิคอย่างไร…บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เป็นบริษัทสตาร์ทอัพ จากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CU Innovation Hub ซึ่งที่ผ่านมาคิดค้นวิจัยจนสามารถผลิตชุดทดสอบ COVID-19 : ชุดตรวจแอนติเจนและแอนติบอดีของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือเรียกง่ายๆว่า เป็นชุดตรวจแอนติบอดีในการตรวจหาภูมิคุ้มกันของผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 (โควิด-19) นั่นเอง และล่าสุดยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19และแอนติบอดียับยั้งเชื้อไวรัส จากใบยาสูบ
ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CEO และ Co-founder ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด และ รศ. ดร.วรัญญู พูลเจริญ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CTO และ Co-founder ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้บุกเบิกบริษัทใบยาสูบ พร้อมกับทีมนักวิจัยได้ร่วมกันพัฒนาเทคนิคการได้โปรตีนมาจากใบยาสูบ ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีการใช้กันในหลายประเทศทั่วโลก และไทยได้นำมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์กรณีเกิดการระบาดระลอก 2 เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์การระบาดโควิดอีกทางหนึ่ง
ล่าสุดสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้เข้ามาช่วยในการประสาน เพื่อหาแหล่งในการผลิตวัคซีน เพื่อทดลองในมนุษย์ ซึ่งประสานกับทางมหาวิทยาลัยมหิดล ในการผลิตเป็นไพล็อตแพลนต่อไป ขณะเดียวกันได้มีการประสานไปทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ในการขออนุญาตการดำเนินการผลิตอีกด้วย”