7 ตัวแทนภาคีนักเรียนเข้าพบ “ณัฏฐพล” ขอเวทีกลางถกปัญหาการศึกษา-ปมถูกคุกคาม
7 ตัวแทนภาคีนักเรียนเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถกขอเปิดเวทีแสดงความเห็นอย่างอิสระ มีครูร่วมรับฟัง พร้อมเสนอให้แก้ไขการข่มขู่คุกคามในโรงเรียน ผู้ปกครองโฟนอินฟ้อง "ณัฎฐพล" กลางที่ประชุม ร้องลูกถูกคุกคาม
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ ต้อนรับกลุ่มภาคีนักเรียนแห่งประเทศ (AST) และ กลุ่ม Uncommon International Group (UNG) จำนวน 7 คน ซึ่งระบุว่าเป็นตัวแทนของเด็กนักเรียนจาก 109 โรงเรียน ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของเด็กนักเรียนที่ผ่านมา แต่ต้องการนำเสนอปัญหาต่อนายณัฎฐพลถึงกรณีเด็กนักเรียน และบุคลาการทางการศึกษาถูกคุกคาม ข่มขู่ภายในโรงเรียน และความไม่โปร่งใสของข้อมูลที่รายงานถึงกระทรวงศึกษาธิการที่อาจไม่ถูกต้อง รวมถึงร้องขอให้มีการเปิดเวทีการแลกเปลี่ยน และแสดงความคิดเห็นของเด็กนักเรียน ผ่านชั่วโมงอิสระภายในโรงเรียน โดยมีคุณครูเป็นผู้สังเกตการณ์และรับฟังปัญหาเพื่อลดความรุนแรง และสร้างการมีส่วนร่วม รวมถึงการจัดเวทีแสดงความคิดเห็นของตัวแทนนักเรียกจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศเกี่ยวกับเพื่อสร้างความเข้าใจ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาของระบบการศึกษาร่วมกัน
ทั้งนี้ นายณัฏฐพล แสดงความยินดีที่เด็กนักเรียนกล้าแสดงความคิดเห็น โดยกล่าวว่า ตนพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของน้องๆ ตลอดเวลา เพราะเห็นถึงความกล้าในการแสดงความคิดเห็น และห่วงใยถึงอนาคตของการศึกษาไทย ซึ่งข้อเรียกร้องต่างๆ หลายๆ เรื่องมาถูกทาง ซึ่งตนต้องการรับฟังความเห็นที่หลากหลาย เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนสิ่งที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น การเรียนภาษาที่สอง และสาม ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้มีการว่าจ้างครูต่างชาติระยะสั้น จำนวน 20,000 คน เป็นครูสอนภาษาอังกฤษและภาษาจีน ที่เน้นด้านการสื่อสารเป็นหลัก ซึ่งหากเรามีคุณครูสอนภาษาที่พร้อมก็จะสามารถเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทนครูต่างชาติต่อได้
“สำหรับการเปิดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผมพร้อมและยินดีที่จะได้รับข้อคิดเห็นต่างๆ เพื่อนำมาแก้ไข แต่อยากให้มีการพูดคุยกันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น เราก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของครูด้วย รวมถึงต้องฟังทางด้านกระทรวงศึกษาฯ เช่นกันว่า ได้ดำเนินการอะไรไปบ้างแล้ว ซึ่งการแสดงความเห็นแม้จะมีที่แตกต่างกัน แต่ก็สามารถพูดคุยกันด้วยสันติวิธี ไม่ก้าวร้าว ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันได้เป็นอย่างมาก เท่าที่ผมได้รับฟังจากน้องๆ ก็เห็นว่า น้องๆ ไม่ได้พูดถึงเรื่องของตัวเองเลย แต่การสื่อสารจากนี้ไปถือเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเกลาการสื่อสารเพื่อให้นักเรียนทั่วประเทศเข้าใจตรงกัน” นายณัฏฐพล กล่าว
นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ ระบุเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ตนเองได้ทำช่องทางเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากน้องๆ แต่ช่องทางนี้ต้องทำการตรวจสอบอย่างจริงจัง เพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และตัวเด็กนักเรียนจากการสื่อสาร หรือเข้าร้องเรียน ซึ่งหากทำแล้ว จะต้องไม่มีความผิด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวอีกด้วยว่า อยากให้ทุกฝ่ายได้ติดตามและเข้าใจในสิ่งที่กระทรวงศึกษาฯ ได้ดำเนินการไป โดยเฉพาะเรื่องการศึกษายกกำลังสอง ที่ข้อเรียกร้องหลายเรื่องอยู่ในแผนการดำเนินงาน แต่บางอย่างมีข้อติดขัดด้านกฎระเบียบ เช่น การยกเลิกชุดเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งมีผลต่อค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง รวมถึงการสนับสนุนการเรียนของเด็กนักเรียนที่มีความชอบความถนัดที่แตกต่างกัน แต่ต้องถูกวัดผลแบบเดียวกัน ซึ่งไม่ควรนำมาครอบเพื่อวัดว่าเด็กคนไหนเก่งหรือไม่เก่ง อย่างเช่น การสอบ O-Net เชื่อว่าหลายคนมีข้อคิดเห็นที่แตกต่าง แต่การสอบวัดผล O-Net ไม่ได้เป็นสิ่งที่วัดความรู้ความสามารถของนักเรียนได้อย่างเท่าเทียมกัน สามารถหาวิธีการวัดอย่างอื่นได้หรือไม่ เป็นต้น ขณะเดียวกัน บางเรื่องเห็นตรงกัน แต่อาจจะต้องดูจังหวะเวลา เพราะหากทำแล้วอาจเกิดปัญหาตามมาได้
ทั้งนี้ ระหว่างการหารือ ตัวแทนภาคีนักเรียนได้ติดต่อผู้ปกครองนักเรียนคนหนึ่งทางโทรศัพท์ เพื่อให้เล่าสถานการณ์ที่บุตรของตนเองถูกคุกคาม ซึ่งนายณัฏฐพลได้ซักถามและรับฟังรายละเอียด พร้อมกล่าวรับเรื่องและประสานให้หน่วยงานรับผิดชอบตรวจสอบรายละเอียด และดำเนินการแก้ไขโดยทันที