เปิดเบื้องหลัง “ม็อบเด็ก” กับการคุยเรื่อง “การเมือง” อย่างสันติ

เปิดเบื้องหลัง “ม็อบเด็ก” กับการคุยเรื่อง “การเมือง” อย่างสันติ

เปิดเบื้องหลัง “ม็อบเด็ก” กับการคุยเรื่อง “การเมือง” อย่างสันติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การชุมนุมประท้วงของคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมากลายเป็นประเด็นหลักของสังคมไทย ทั้งจากรูปแบบการประท้วงที่สงบและสร้างสรรค์ และข้อเสนอต่อรัฐบาลที่ผลักเพดานการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองให้สูงขึ้นกว่าในอดีต ประกอบกับการจับกุมตัวแกนนำผู้ชุมนุมที่เกิดขึ้นแทบจะรายวัน ก็ยิ่งโหมกระพือความเข้มข้นของการชุมนุมให้มากขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ สิ่งที่ตามมากับการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน คือปฏิกิริยาของผู้มีอำนาจ ที่พยายามยับยั้งกระแสนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของอำนาจรัฐ หรืออำนาจเล็กๆ อย่างในครอบครัวหรือในโรงเรียน จนกระทั่งมีความพยายามลดทอนคุณค่าของพลังเยาวชนให้กลายเป็นเพียงลูกที่ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ทั้งที่จริงแล้ว การออกมาแสดงพลังบนท้องถนนของเยาวชนครั้งนี้สะท้อนภาพของสังคมไทยได้อย่างชัดเจน

ปัจจัยที่สร้าง “คนพันธุ์ใหม่”

ในงานเสวนาหัวข้อ “เข้าใจคนรุ่นใหม่ท่ามกลางโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง” โครงการรัฐศาสตร์เสวนา ซึ่งจัดโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ปัจจัยที่หล่อหลอมให้เกิดคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันนี้ ประกอบด้วย “3 การเปลี่ยนแปลง 2 ไม่เปลี่ยนแปลง และ 1 ความฝัน”

ผศ.ดร.กนกรัตน์ ขยายความว่า 3 การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ได้แก่ 1. การกล่อมเกลาทางสังคม เช่น ครอบครัวคนรุ่นใหม่ที่พยายามรับฟังความคิดเห็นของลูก และสนับสนุนให้ลูกมีความคิดเป็นของตัวเอง ความพยายามในการปฏิรูปการศึกษาที่สร้างคนรุ่นใหม่ที่คิดนอกกรอบ รวมทั้งครูรุ่นใหม่ที่พยายามสอนให้ไกลจากบทเรียน และเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน 2. การเปลี่ยนแปลงในโลกดิสรัปชัน ซึ่งเป็นโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและโหดร้าย เต็มไปด้วยปัญหาทั้งโรคระบาด ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ทำให้เด็กๆ เริ่มมองสิ่งที่นอกเหนือจากตัวตนของตัวเอง และปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านี้ และ 3. การหมุนเร็วขึ้นของเทคโนโลยี ซึ่งไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กๆ ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ แต่เป็นช่องทางที่รวดเร็ว เข้าถึงได้ง่าย เอื้อให้เด็กที่ถูกโครงสร้างทางสังคมทำร้ายสามารถใช้เรียกร้องสิทธิ เป็นแหล่งข้อมูล และเชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับเพื่อนจำนวนหลายแสนคนทั่วโลก

แต่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงรอบตัวเด็กที่นำไปสู่การมีสิทธิและเสรีภาพที่มากขึ้น สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยคือ สถาบันการศึกษา อย่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ที่ยังไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นที่ไปไกลถึงเรื่องโครงสร้างทางการเมืองในสังคม อีกทั้งยังเป็นพื้นที่แห่งอำนาจนิยม ที่เด็กต้องเผชิญกับการคุกคามและการละเมิดสิทธิอยู่บ่อยครั้ง

นอกจากนี้ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้ร่วมสะท้อนว่า“ความเหลื่อมล้ำในโรงเรียน” ยังเป็นบรรยากาศที่นักเรียนสัมผัสได้โดยตรงในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของคุณภาพโรงเรียน คุณภาพครู และการให้ความสำคัญกับเด็กที่ไม่เท่ากัน และสิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นบทสนทนาที่เกิดขึ้นในหมู่เด็กนักเรียนในที่สุด

“มันเป็นบทสนทนาที่เด็ก ม.2 – ม.3 ก็คุยกันแล้ว ในโรงเรียนเดียวกัน ทำไมมีห้อง Gifted เด็กแค่ 25 คน ติดแอร์ เด็กที่พอจะเรียนได้ดีหน่อยก็มากองอยู่ห้องคิงห้องเดียว เป็นนักรบของโรงเรียน มันจะมีห้องที่ไล่ตามเฉดความสามารถลงมา จะมีห้องนักดุริยางค์ ห้องนักกีฬา ซึ่งมักจะถูกทิ้งๆ ขว้างๆ ใช้เป็นห้องที่ทำถ้วยรางวัลให้โรงเรียน หลายโรงเรียนมี 7 หลักสูตร ในโรงเรียนเดียวกัน เขาเห็นความเหลื่อมล้ำในชีวิตประจำวันที่มันแตะต้องได้จริง ผมคิดว่าการที่เขาจะส่งเสียง ไม่ใช่เรื่องแปลก” ผศ.อรรถพลกล่าว

ส่วนปัจจัยประการสุดท้าย ได้แก่ “1 ความฝัน” ในการเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลง ซึ่ง ผศ.ดร.กนกรัตน์ อธิบายว่า

พวกเขาเชื่อว่า เขาเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลง เขาเชื่อว่าเขาแตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้านี้ ภาษาที่เขาพูด สิ่งที่เขาคิด โลกทัศน์ที่เขามี ทุกอย่างที่เขาเสพในชีวิต มันแตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง พวกเขาเชื่อว่าโลกที่เขากำลังจะเห็นในวันข้างหน้า มันเป็นตัวเขาจริงๆ ที่จะต้องเปลี่ยนแปลง เขาไม่เชื่อมั่นในระบบราชการ เขาไม่เชื่อมั่นในครูบาอาจารย์ เขาเชื่อว่าเขาสามารถปกป้องอนาคตของเขาได้ และเขาจะต้องทำ”

การเคลื่อนไหวของเด็กไม่ใช่เรื่องปกติ

การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการเคลื่อนไหวของสามัญสำนึก ลองไปดูที่เขาพูด เขาถาม เขาปราศรัย ทุกเวที มันออกมาจากสามัญสำนึกของเขา ไม่ได้ท่องจำหรือเขียนสคริปต์อะไร มันทำให้ผมนึกถึงหนังสือ ‘โลกของโซฟี’ ซึ่งเป็นหนังสือปรัชญา เขาบอกว่าเด็กมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่เหมือนนักปรัชญา ก็คือเป็นคนที่ยังมองโลกในสายตาที่บริสุทธิ์และตั้งคำถามกับความผิดปกติของโลก แต่ผู้ใหญ่มองไม่เห็นแล้วผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอมุมมองที่มีต่อการชุมนุมของเยาวชนครั้งนี้

ผศ.ดร.ประจักษ์ ระบุว่า นอกจากการเคลื่อนไหวทางสังคมของเยาวชนในฮ่องกง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเคลื่อนไหวทางสังคมของเยาวชนที่คึกคักที่สุดในโลก ทว่าการที่เด็กและเยาวชนออกมาเคลื่อนไหวทางสังคมกลับไม่ใช่เรื่องปกติ

ถ้าการเมืองดีหรือการเมืองปกติ พื้นที่ของนักศึกษาไม่ควรเป็นท้องถนน นักศึกษาควรได้เรียนหนังสือและพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ได้เดินทางท่องเที่ยว ฟังเพลงริมหาด ไปหอศิลป์ ทำสิ่งที่เขาจะเป็นผู้ใหญ่ต่อไป พื้นที่ในการเรียกร้องทางการเมืองในสังคมที่การเมืองเป็นปกติควรจะเป็นเรื่องของนักการเมือง ของสหภาพแรงงาน ของขบวนการชาวนา ของกลุ่มที่มาเรียกร้องโดยตรงเพื่อผลประโยชน์” ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

AFP

ในมุมมองของ ผศ.ดร.ประจักษ์ การเคลื่อนไหวของเยาวชนสะท้อนให้เห็นความป่วยไข้ในสังคม ได้แก่ เผด็จการทางการเมือง การผูกขาดทางเศรษฐกิจ และอำนาจนิยมทางวัฒนธรรม ซึ่งอาการทั้ง 3 นี้ ได้ผนวกรวมกันในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา หรือช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 นั่นเอง

“ไม่มีประเทศไหนในโลกหรอกครับที่จะมีการรัฐประหารซ้ำกันถึง 2 ครั้ง ภายในระยะเวลาไม่ถึง 8 ปี ประเทศไทยเป็นประเทศสุดท้ายในโลก และถ้ามีรัฐประหารเกิดขึ้นอีกครั้ง เราจะกลายเป็นประเทศที่ล้าหลังทางการเมืองที่สุดในโลกที่เขาออกจากวงจรกับดักการทำรัฐประหารและการแทรกแซงทางการเมือง ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นมันผิดปกติในทางการเมือง เวลานักศึกษามองพลเอกประยุทธ์ เขาเลยไม่ได้มองว่าพลเอกประยุทธ์เป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง 1 ปีที่ผ่านมา แต่เขามองเห็นพลเอกประยุทธ์มาตลอด 6 ปี”

ส่วนประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ผศ.ดร.ประจักษ์ระบุว่า สังคมไทยเป็นหนึ่งในสังคมที่เหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก ในภาวะโควิดที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง คนส่วนใหญ่ยากลำบาก แต่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ก็กำลังร่ำรวยมากขึ้น ความยากจนกลับกลายเป็นปัญหาของสังคม และเด็กก็เห็นความเหลื่อมล้ำจากชีวิตของตัวเองตั้งแต่เด็กจนโต อย่างความเจริญที่กระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นความผิดปกติที่เด็กสังเกตได้ ประกอบกับอำนาจนิยมทางวัฒนธรรม ที่มีการปลูกฝังค่านิยมแบบอนุรักษ์นิยมที่เข้มข้นขึ้นภายในโรงเรียน ในช่วงหลังรัฐประหาร ทั้งการปรับหลักสูตรและการบรรจุชั่วโมงสอนค่านิยม 12 ประการ รวมทั้งนำทหารเข้าไปสอนในโรงเรียน ก็เป็นแรงกดทับที่บีบให้นักเรียนที่เติบโตมากับเรื่องสิทธิมนุษยชนออกมาเคลื่อนไหว

“การเคลื่อนไหวของเด็กที่ผมมองว่าจุดประกายมากก็คือ เขาทำให้สังคมตื่นขึ้นมาและเกิดความรู้สึกร่วมกันอย่างหนึ่งว่าสังคมมันเปลี่ยนได้ แล้วเด็กก็เชื่อว่าตัวเองเปลี่ยนสังคมได้ เบื้องหลังที่สำคัญที่สุดที่ปลุกให้นักศึกษาตื่นตัวทางการเมือง ไม่ใช่ปัญญาชน นักวิชาการ และมหาวิทยาลัย แต่คือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐประหาร 2557 รวมถึงการเคลื่อนไหวแบบแปลกประหลาดที่ไปขัดขวางการเลือกตั้ง แล้วบอกว่าถ้ารักประชาธิปไตยต้องไม่ไปเลือกตั้ง มันผิดสามัญสำนึกน่ะ เราคิดว่ามันปกติ แต่เด็กเห็นแล้วว่ามันไม่ปกติ” ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

อยู่กันอย่างไรในโลกที่เปลี่ยนแปลง

กระแสการเคลื่อนไหวทางสังคมของเยาวชนนับว่าเป็นสิ่งที่สั่นคลอนอำนาจของผู้ใหญ่ไม่น้อย แต่แทนที่ผู้ใหญ่จะพยายามใช้อำนาจและวิธีการที่รุนแรงในการกดปราบเด็กให้อยู่ในโอวาทเหมือนเช่นในอดีต นักวิชาการทั้ง 3 คน กลับแนะนำว่าผู้ใหญ่ควรเปิดใจรับฟังความเห็นของเด็ก และใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต

“ตอนนี้สิ่งที่เราต้องเรียกร้องก็คือ อย่าใช้วิธีการแบบเดิมในการปิดกั้นการถกเถียงแลกเปลี่ยน การที่เราสามารถพูดคุยถกเถียงกันได้อย่างสันติวิธีเป็นตัวสะท้อนวุฒิภาวะของสังคมเรา ถ้าเราทำแบบนี้ได้ สังคมก็จะเติบโตทางปัญญา และก้าวหน้าต่อไปได้” ผศ.ดร.ประจักษ์ระบุ พร้อมเสริมว่า การชุมนุมเป็นเหมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ ที่เด็กมาเล็คเชอร์เรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้ผู้ใหญ่ฟัง ดังนั้นสังคมไทยจึงควรใช้โอกาสนี้เรียนรู้ร่วมไปกับเด็ก

ด้าน ผศ.อรรถพลมองว่า สิ่งสำคัญในเวลานี้คือ การรับฟังและสื่อสารกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่

ถ้าผู้ใหญ่ปิดปากเขา ปิดประตูใส่เขา ก็เหมือนกับเราทำลายอนาคตตัวเอง เราอยากอยู่ในสังคมแบบไหน เราก็ต้องมีส่วนในการสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่สร้างสังคมแบบนั้น ความฝันของเขากับความฝันของเราควรเป็นความฝันเดียวกัน” ผศ.อรรถพลกล่าว

ม็อบนี้ไม่ใช่ม็อบแฟชั่น

ในขณะที่หลายคนมองว่า การชุมนุมครั้งนี้อาจเป็นเพียง “แฟชั่น” ที่วัยรุ่นตามกระแสกันไปเรื่อยๆ แต่ ผศ.อรรถพลกลับมองว่านี่เป็นสัญญาณที่ดีของการพัฒนาสังคมในอนาคต

“ผมคิดว่าสัญญาณเหล่านี้คือสัญญาณที่บอกว่า สังคมไทยกำลังมีผู้เล่นหน้าใหม่ ที่จะมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดการรับไม้ต่อในการพัฒนาสังคมไทย และผมคิดว่าเราเห็นโจทย์เดียวกัน มันไม่ได้เป็นโจทย์ที่ไกลเกินกว่าที่คนในสังคมจะรับรู้ร่วมกัน หลายคนอาจจะยังคงปิดตาอยู่ ยังมองไม่เห็น แต่เราได้ยินเสียงจากคนอีกรุ่นหนึ่งที่เอาธุระกับสิ่งที่อยู่รอบตัวเขา มีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่รับรู้เรื่องนี้”

“ม็อบมันไม่ได้เป็นม็อบแฟชั่นในแง่นี้ มันเป็นการลุกขึ้นมาของคนที่อยากเปลี่ยนแปลงเพราะว่าเขารู้จักอนาคตของตัวเอง” ผศ.ดร.กนกรัตน์ สรุป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook